กรมส่งเสริมฯ ผุด“กลุ่มบริหารจัดการปุ๋ยชุมชน” ใช้“ปุ๋ยเคมี” อย่างเหมาะสม ช่วยลดต้นทุนเกษตรกร

ข่าวทั่วไป Wednesday August 6, 2014 17:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--เอเอสวี อินเตอร์ กรุ๊ป แม้ว่าจะมีการส่งเสริมการใช้ “ปุ๋ย” อินทรีย์ ในภาคการเกษตรของไทย มาอย่างต่อเนื่อง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบันเกษตรกรจำนวนมากก็ยังคงมีความนิยมที่จะใช้ปุ๋ยเคมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะหลากหลายปัจจัยที่เข้ามาเป็นตัวกำหนด ทำให้ปุ๋ยเคมียังคงมีการใช้อย่างแพร่หลาย แต่การใช้ปุ๋ยเคมีที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และขาดหลักทางวิชาการ กลับส่งผลให้ประสิทธิภาพด้านผลผลิตของเกษตรกรไม่เป็นไปอย่างที่ต้องการ อีกทั้ง ยังกลายเป็น “ภาระ” ในด้านต้นทุน รวมถึงยังกลายเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมตามมา ซึ่งอาจเกิดจากการใช้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสม หรือ ไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม กรมส่งเสริมการเกษตร จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญที่จะให้ความรู้ในด้านการใช้ปุ๋ยกับเกษตรกร โดยเฉพาะปุ๋ยเคมี ที่เน้นให้เกิดแนวทางการรวมกลุ่มของเกษตรกร และถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้ทางด้านวิชาการ เพื่อให้การใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรนั้นเกิดประโยชน์ต่อผลผลิต และลดต้นทุนการผลิต ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้แนวคิดการสร้าง“กลุ่มบริหารจัดการปุ๋ยชุมชน” ในรูปแบบของ “ศูนย์บริหารจัดการดินและปุ๋ยของชุมชน” นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยถึงโครงการดังกล่าวว่า “ในปัจจุบันต้องยอมรับความจริงว่า เกษตรกรในประเทศไทยนั้นใช้ปุ๋ยเคมีเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะมีการส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่องก็ตาม ซึ่งการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรคิดเป็นตัวเลขกว่า 20% ของต้นทุนการผลิต โดยกรมส่งเสริมการเกษตร จึงเล็งเห็นความสำคัญที่จะลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร และเป็นการเพิ่มคุณภาพของผลผลิต ตลอดจนดูแลรักษาสภาพแวดล้อม ภายใต้แนวติด การจัดตั้ง ศูนย์บริหารจัดการดินและปุ๋ยของชุมชน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่ การจัดตั้งเครือข่าย กลุ่มบริหารจัดการปุ๋ยชุมชน โดยมีจุดประสงค์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการลดต้นทุน สร้างคุณภาพให้ผลผลิต ดูแลสิ่งแวดล้อม และสร้างความเข็มแข็งให้กับชุมชน” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว โครงการดังกล่าว จะเน้นไปที่ การรวมกลุ่มและให้ความรู้กับเกษตรกร โดยเกษตรกรที่เข้ากลุ่ม จะมีจำนวนกลุ่มละประมาณ 20 คน จะได้รับการถ่ายทอดความรู้จากกรมฯ ในการกำกับดูแลของนักส่งเสริมการเกษตร เพื่อไปบริหารจัดการภายในชุมชน ทั้งในส่วนของการวิเคราะห์ดิน สภาพแวดล้อม การเตรียมแปลงและชนิดของพืชที่จะปลูก และการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างถูกวิธี เพื่อให้เหมาะกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ด้วยตัวของเกษตรกรเอง รวมถึงการนำไปปฏิบัติ ที่กลุ่มจะดำเนินการใช้ปุ๋ยเอง ทำเอง และหาปัจจัยทางการผลิตร่วมกันเอง เพื่อให้เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ เป็นกลุ่มตัวอย่างนำร่องในการใช้ปุ๋ยเคมีและถ่ายทอดไปยังเกษตรในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ยังกล่าวถึงเทคนิคพื้นฐาน ที่จะนำมาใช้ในโครงการดังกล่าวอีกว่า “เทคนิค คือการวิเคราะห์กระบวนการของดินกับความต้องการธาตุอาหารหลักพื้นฐานที่พืชต้องการคือ NPK คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปตัสเซี่ยม กรณีเช่นนี้แต่เดิม จะต้องส่งตัวอย่างดินไปยังหน่วยวิเคราะห์ในสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานต่างๆ ซึ่งยุ่งยากและเสียเวลา แต่ในโครงการดังกล่าวจะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ชุดตรวจวิเคราะห์ดิน (soil test kit) ซึ่งเป็นเครื่องมือภาคสนาม เมื่อทำแปลงเรียบร้อยแล้วเกษตรกรจะต้องมีความรู้ในเรื่องของการเก็บตัวอย่างดิน ที่ทางกรมฯ จะถ่ายทอดให้ เมื่อเก็บตัวอย่างดินแล้วจะนำมาวิเคราะห์เบื้องต้นหาค่า NPK ที่เหมาะสม ในพื้นที่นั้นๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์อีกครั้งกับแผนที่จากกรมพัฒนาที่ดิน ที่จะมีข้อมูลชุดดิน ที่เป็นข้อมูลในเรื่องของดินในแต่ละพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่การคำนวณค่า ว่าดินแต่ละพื้นที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชชนิดใด อย่างไรก็ตามการตั้งกลุ่มบริหารจัดการปุ๋ยชุมชน ที่มุ่งเน้นไปที่การใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเหมาะสม แต่ทางกรมส่งเสริมการเกษตรก็ยังคงมีแนวคิดที่จะดำเนินการในโครงการดังกล่าว ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์” นายโอฬารกล่าว สำหรับโครงการ สร้างเครือข่ายเกษตรกร “กลุ่มบริหารจัดการปุ๋ยชุมชน” และ “ศูนย์บริหารจัดการดินและปุ๋ยของชุมชน” เป็นหนึ่งในนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตรที่จะแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือเกษตรกรอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายของทาง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งมีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิต และเรื่องของการช่วยเหลือเกษตรกร โดยคาดว่าในปีนี้ จะดำเนินการให้ได้อย่างน้อย 94 กลุ่มใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ และจะพัฒนาให้แต่ละกลุ่มกลายมาเป็น “วิสาหกิจชุมชน” ต่อไปในอนาคต
แท็ก เกษตรกร   เคมี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ