คร. รณรงค์ให้คนไทยใส่หน้ากากป้องกันโรค สร้างค่านิยมใหม่ ใส่ใจคนรอบข้าง

ข่าวทั่วไป Thursday August 7, 2014 16:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--โฟร์ พี แอดส์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมรณรงค์ให้คนไทยใส่หน้ากากป้องกันโรค สร้างค่านิยมใหม่ เมื่อป่วยเป็นหวัดหรือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ ให้ใส่หน้ากากป้องกันโรค เพื่อเป็นการแสดงความใส่ใจและห่วงใยต่อคนรอบข้าง หลังพบผู้ป่วยในปีนี้กว่า 4 หมื่นราย เสียชีวิต 56 ราย พร้อมแนะวิธีป้องกันด้วยการดูแลสุขภาพตนเอง และการมีสุขนิสัยที่ดี หมั่นล้างมือให้สะอาด ไอจามปิดปากปิดจมูก หากมีอาการไข้หวัดให้ใส่หน้ากากป้องกันโรค หยุดเรียนหรือหยุดงาน และรีบพบแพทย์ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรมงาน MASK FESTIVAL “มหกรรมงานหน้ากากป้องกันโรค” ที่บริเวณลานน้ำพุ DIGITAL GATWAY SIAM CENTER กรุงเทพฯ ว่า ช่วงนี้สภาพอากาศในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงบ่อย บางวันอาจมีฝนตกสลับอากาศร้อน ประชาชนกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ อาจเจ็บป่วยด้วยอาการไข้หวัดได้ง่าย ทั้งนี้จากรายงานการเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 26 กรกฎาคม 2557 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 44,091 ราย (อัตราป่วยต่อแสนประชากร 69.41) เสียชีวิต 56 ราย กลุ่มอายุที่พบป่วยมากที่สุดคือ 25-34 ปี (ร้อยละ 11.51) รองลงมา คือ 35-44 ปี และ 7-9 ปี ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ ลำปาง (310.66 ต่อแสนประชากร) รองลงมาคือ ระยอง ภูเก็ต กรุงเทพ และเชียงใหม่ ตามลำดับ นพ.โสภณ กล่าวต่อไปว่า ผู้ที่ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ อาการมักนำด้วยเป็นไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมากในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง อาการจะทุเลาและหายป่วยภายใน 5 – 7 วัน แต่บางรายที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง จะมีอาการหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่นั้น จะใช้การรักษาตามอาการ หากมีไข้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวหากไข้ไม่ลดให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพริน ให้นอนหลับพักผ่อนมากๆ ในห้องที่อากาศถ่ายเทดี ไม่ควรออกกำลังกาย ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ น้ำผลไม้มากๆ และใส่หน้ากากป้องกันโรคไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น ส่วนประชาชนกลุ่มเสี่ยงซึ่งได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้มีภูมิต้านทานโรคต่ำ และผู้มีโรคอ้วน หากมีอาการสงสัยเป็นไข้หวัดใหญ่ให้รีบพบแพทย์ ในกรณีที่มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มากกว่า 1 คนในสถานที่ที่คนอยู่จำนวนมาก เช่น โรงเรียน สถานศึกษา โรงงาน สำนักงานต่างๆ แนะนำให้ผู้ป่วยหยุดเรียนหรือหยุดทำงาน จนกว่าจะหายเป็นปกติแล้วอย่างน้อย 1 วัน และให้ทำความสะอาดสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องใช้ต่างๆ อย่างเช่น ลูกบิดประตู ราวบันใด โต๊ะอาหาร ฯลฯ ด้วยน้ำผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป อย่างน้อยวันละ 1–2 ครั้ง สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สามารถป้องกันโรคได้ด้วยตนเอง เช่น การล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้าและผ้าเช็ดตัว เป็นต้น ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่เป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น ส่วนผู้ที่คอยดูแลและคลุกคลีกับผู้ป่วย ควรใส่หน้ากากป้องกันโรค หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ โดยเฉพาะเวลาสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย สัมผัสตัวหรือข้าวของเครื่องใช้ผู้ป่วย ดูแลสุขภาพอนามัยตนเอง หลังจากดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากมีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ หายใจหอบเหนื่อย ภายใน 7 วัน ให้มาพบแพทย์และแจ้งประวัติการสัมผัสผู้ป่วยให้แพทย์ทราบ “ปัจจุบันสังคมไทย คนไทยไม่คุ้นชินกับการใส่หน้ากากป้องกันโรค ใส่แล้วอึดอัด อาย กลัวถูกสังคมรังเกียจ ซึ่งปัจจุบันวิถีชีวิตของคนและระบบนิเวศน์ของโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก มีโรคติดเชื้อระบบทางเดินลมหายใจที่มีความรุนแรงมากขึ้น แม้ระบบสาธารณสุขจะมีความพร้อมเพียงใด แต่หากประชาชนไม่เห็นความสำคัญและขาดความร่วมมือร่วมใจ ก็ยากที่จะรับมือกับโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ประชาชนจึงควรตื่นตัวในการป้องกันโรคทั้งให้แก่ตนเองและครอบครัวให้ปลอดภัยจากโรค ทุกคนต้องร่วมกันสร้างค่านิยมใหม่ให้การใส่หน้ากากป้องกันโรคเมื่อป่วยเป็นหวัดหรือโรคติดเชื้อทางเดินลมหายใจอื่นๆ ไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่เป็นการแสดงความใส่ใจและห่วงใยต่อคนรอบข้าง ในระยะแรกอาจเห็นเป็นเรื่องแปลก แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้คนส่วนใหญ่ใช้จะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา การที่ไอจามโดยไม่ปิดปากหรือไม่ใส่หน้ากากป้องกันโรคจะเป็นเรื่องที่น่าอายมากกว่า หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค โทร 02-590-3159 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ