การปฏิรูปเศรษฐกิจคอร์รัปชั่น งาน “ มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ๒๕๕๗ จัดโดย คณะกรรมการ สาขาเศรษฐศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ข่าวทั่วไป Wednesday August 13, 2014 15:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ส.ค.-- การปฏิรูปเศรษฐกิจคอร์รัปชั่น งาน “ มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ๒๕๕๗ จัดโดย คณะกรรมการ สาขาเศรษฐศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)วันจันทร์ที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๓๐ – ๑๖.๓๐ น.ณ ห้อง Lotus ๗ ชั้น ๒๒ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 16.00 น. ณ. บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสาขาเศรษฐศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ทางคณะกรรมการสาขาเศรษฐศาสตร์ สภาวิจัยแห่งชาติได้เข้าร่วมจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2557” ระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม ณ. บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ โดยทาง วช. สาขาเศรษฐศาสตร์ ได้จัดให้มีชุดสัมมนาทางวิชาการเพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน เช่น การปฏิรูประบบภาษี หนี้สาธารณะ ตลาดแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ สิ่งแวดล้อม การปฏิรูปเศรษฐกิจคอร์รัปชัน เป็นต้น โดยทางคณะกรรมการ วช. สาขาเศรษฐศาสตร์ซึ่งมีท่าน ศ. ดร. เทียนฉาย กีระนันท์เป็นประธานจะได้รวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ งานวิจัยและความเห็นนำเสนอต่อสาธารณชนเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความเห็นเพิ่มเติมและนำเสนอผู้มีอำนาจรัฐเพื่อให้ดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป ผศ. ดร. อนุสรณ์ กรรมการ วช. สาขาเศรษฐศาสตร์ ได้กล่าวถึง การใช้แนวคิดเศรษฐศาสตร์ในการจัดการกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ว่า ได้มีการเสนอความเห็นโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ว่าจะเป็น ศ. ดร. เมธี ครองแก้ว รศ. ดร. สิริลักษณา คอมันตร์ รศ. ดร. นวลน้อย ตรีรัตน์ เป็นต้น และมองเห็นร่วมกันว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นอุปสรรคต่อโอกาสพัฒนาการทางเศรษฐกิจไทยและทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งทำให้ประชาธิปไตยของประเทศอ่อนแอลง แนวทางการแก้ปัญหาจึงต้องใช้การป้องปราม ลงโทษผู้กระทำ บังคับใช้กฎหมาย และสร้างแรงจูงใจให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง รวมทั้งการปรับค่าตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐและนักการเมืองให้เหมาะสมกับอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ เปิดเผยอีกว่า การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยเป็นปัญหารุนแรงและยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้นในเร็วๆนี้ ความโปร่งใสและการจัดการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันจะดีขึ้นหากเรามีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีเสรีภาพของสื่อมวลชน วิชาการและการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ กรรมการสภาวิจัย สาขาเศรษฐศาสตร์ท่านนี้ กล่าวอีกว่า ผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันประจำปี พ.ศ. 2556 ของ Tranparency Internationalพบว่า ประเทศไทยได้ 35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 102 จากการจัดอันดับทั้งหมด 177ประเทศทั่วโลก เท่ากับ ประเทศเอกวาดอร์และปานามา และอยู่อันดับที่ 16 จาก 28 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยประเทศเดนมาร์ก และนิวซีแลนด์สามารถครองแชมป์อันดับหนึ่ง (91 คะแนนจาก 100 คะแนน) ส่วนอันดับสุดท้ายที่ได้คะแนนต่ำที่สุด ได้แก่ อัฟกานิสถาน เกาหลีเหนือ และโซมาเลีย (8 คะแนนจาก 100คะแนน) และประเทศซีเรีย เป็นประเทศที่มีคะแนนลดลงจากปีที่แล้วอย่างมาก กลุ่มประเทศอาเซียน มีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่ได้คะแนนเกินครึ่ง ได้แก่ สิงคโปร์ (86 คะแนน) บรูไน (60 คะแนน) และมาเลเซีย (50 คะแนน) ส่วนประเทศอื่นๆรวมทั้งประเทศไทยยังคงมีคะแนนต่ำกว่าครึ่ง ไม่เคยมีประเทศใดสามารถก้าวพ้น กับดักประเทศด้อยพัฒนาหรือประเทศที่ได้มีรายได้ระดับปานกลางโดยที่มีดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันต่ำกว่า 5 หากแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันไม่ได้ย่อมไม่สามารถก้าวข้ามพ้นกับดับประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางไปได้ ผศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า การคอร์รัปชันในไทยนั้นมีหลายรูปแบบและมีนวัตกรรมพัฒนาขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายและการตรวจสอบ เช่น อยู่ในรูปเหมือนภาษี อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการเรียกเก็บภาษีคอร์รัปชัน ซึ่งรวมทั้งการเรียกสินบน/ส่วย/สินน้ำใจ ฯลฯ ตอบแทนการคุ้มครองธุรกิจผิดกฎหมาย การกระทำผิดกฎหมาย ผิดระเบียบ หรือ กฎเกณฑ์ที่ทางการกำหนดไว้ การดึงเงินงบประมาณมาเป็นของตน ผ่านค่าคอมมิชชันโครงการ การรับสินบนการจัดซื้อ จัดจ้าง รวมทั้งการเสนอโครงการเพื่อให้ได้เงินคอร์รัปชันโดยโครงการดังกล่าวอาจไม่มีประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ การรับสินบนในขบวนการหลีกเลี่ยงภาษี การโกงภาษีการจ่ายสินบนเพื่อให้ได้มาซึ่งการผูกขาดธุรกิจ หรือการผูกขาดหรือฮั้วกันในการประมูลโครงการ การเล่นพรรคเล่นพวก การซื้อขายตำแหน่งในระบบราชการ การคอยรับใช้ส่วนตัวในแทบทุกเรื่องของผู้มีอำนาจโดยนักธุรกิจ การจัดสรรสัมปทานอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อเอื้อให้กับกลุ่มธุรกิจที่จ่ายเงินโดยรัฐเสียผลประโยชน์เสียค่าโง่และนำไปสู่การผูกขาดในกิจการต่างๆ ผู้นำหรือรัฐบาลคอร์รัปชันมากจะส่งเสริมให้คอร์รัปชันแพร่หลายในหมู่ข้าราชการ การคอร์รัปชันทางนโยบายที่ทำให้ทิศทางและพัฒนาการทางเศรษฐกิจเบี่ยงเบนไปจากที่ควรเป็น ปิดกั้นการลงทุนด้านนวัตกรรมเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการ วช. สาขาเศรษฐศาสตร์ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สรุปอีกว่า จากงานวิจัยของ Axel Dreher และ Thomas Herzfeld นักเศรษฐศาสตร์ชาวยุโรป พบว่า ดัชนีคอร์รัปชันเพิ่มขึ้น 1 ขั้นทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงประมาณ 0.13% และทำให้ผลิตภัณฑ์รายได้ประชาชาติต่อหัวลดลงประมาณ 425 ดอลลาร์หรือทำให้ประชาชนโดยเฉลี่ยจนลงประมาณ 13,600 บาทต่อคน (An Increase of corruption by about one index point reduces GDP growth by 0.13% points and GDP per capita by 425 US$) นอกจากนี้ งานวิจัยต่างๆโดยเฉพาะจากธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ บ่งชี้ว่า ความรุนแรงของผลกระทบของคอร์รัปชันต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมรุนแรงขึ้นอีกเมื่อประเทศนั้นไม่ยึดหลักนิติรัฐนิติธรรมและมีรัฐบาลอ่อนแอหรือใช้ระบอบอำนาจนิยมปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน นอกจากนี้มันยังส่งผลกระทบทำให้การลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมายยุทธศาสตร์และไม่ส่งผลบวกระยะยาวต่อสาธารณชน ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงอ่อนค่าลง ส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศ ทำให้ประเทศที่มีความโปร่งใสกว่าเสียเปรียบทางการค้า การส่งออก การลงทุนระหว่างประเทศต่อประเทศที่มีความโปร่งใสน้อยกว่าเมื่อมีธุรกรรมกับประเทศที่มีระดับการคอร์รัปชันสูง คอร์รัปชันยังส่งผลต่อฐานะทางการคลังย่ำแย่ลง กระตุ้นในเกิดตลาดมืด ตลาดการเงินและเศรษฐกิจเงา รวมทั้งเศรษฐกิจและการเงินนอกระบบ ส่งผลกระทบทางลบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านระบบการศึกษาและการสาธารณสุขที่อ่อนแอและไม่มีคุณภาพ รวมทั้งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยสำคัญ ผศ. ดร. อนุสรณ์ ยังกล่าวถึง งานวิจัยหลายชิ้นได้ศึกษาผลของปัจจัยเรื่องคอร์รัปชันต่อวิกฤตการณ์เศรษฐกิจเอเชียเมื่อปี 2540 และผลของปัจจัยดังกล่าวต่อระบบเศรษฐกิจในระยะต่อไป พบว่า ช่วง 17 ปีที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์เสียหายทางเศรษฐกิจจากการคอร์รัปชันไม่ต่ำกว่า $4.8 หมื่นล้านดอลลาร์และทำให้เกิดหนี้สินต่างประเทศเพิ่มขึ้นราว $4 หมื่นล้านดอลลาร์ อินโดนีเซียเผชิญภาวะมูลค่าทรัพย์สินปรับตัวลดลงไม่ต่ำกว่า $5 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนนี้เป็น Tangible Cost of Corruption ส่วนที่เป็น Intangible Cost of Corruption นั้นประเมินยาก แต่ทุนนิยมแบบพวกพ้องอุปถัมภ์ หรือ Crony Capitalism ทำให้ปัญหาคอร์รัปชันหนักขึ้นและกลายเป็นการคอร์รัปชันเชิงนโยบายจากความใกล้ชิดของทุนผูกขาดกับผู้มีอำนาจรัฐ กรรมการ วช. สาขาเศรษฐศาสตร์และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวเสนอแนะการแก้ปัญหาคอร์รัปชันตามแนวคิดเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมว่า 1. ต้องเปิดเสรี เพิ่มการแข่งขัน ลดการผูกขาดทางเศรษฐกิจและการเมือง 2. ผ่อนคลายกฎระเบียบ ลดการใช้อำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ 3. เพิ่มความโปร่งใสและการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนและนักลงทุน เพิ่มเสรีภาพสื่อมวลชนและเสรีภาพทางวิชาการ 4. เพิ่มอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลในระบบ 5. เพิ่มการกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณการคลังไปยังภูมิภาคและชุมชนต่างๆพร้อมพัฒนากลไกตรวจสอบและควบคุมในพื้นที่ 6. บังคับใช้กฎหมายอย่างเฉียบขาด การกระทำผิดจากการทุจริตคอร์รัปชันไม่มีอายุความ 7. การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในกิจการที่เอกชนทำได้ดีกว่าและไม่ใช่การบริการพื้นฐานที่รัฐต้องดูแล 8. ร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศและนานาชาติในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน 9. ต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียงและระบอบธนาธิปไตย 10. ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยมและวัฒนธรรมที่ยึดถือคุณธรรมจริยธรรม มีค่านิยมวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยแทนที่ ค่านิยมวัฒนธรรมในระบอบอุปถัมภ์เส้นสาย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ