ปรับฐานเงินเดือนภาครัฐร้อยละ 8: พบกระทบเงินเฟ้อไม่มาก หากใช้งบประมาณขาดดุลเพิ่มเติมจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่าการโยกงบประมาณส่วนอื่นมาปรับฐานเงินเดือน

ข่าวทั่วไป Thursday August 14, 2014 17:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลการศึกษาเรื่อง "การวิเคราะห์ผลกระทบของการปรับฐานเงินเดือนภาครัฐร้อยละ 8 ต่อระบบเศรษฐกิจด้วยแบบจำลอง CGE” ซึ่งงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากนโยบายของรัฐบาลที่จะปรับฐานเงินเดือนบุคลากรภาครัฐขึ้นโดยเฉลี่ย 8% โดยใช้แบบจำลอง Computable general equilibrium (CGE model) หรือแบบจำลองคำนวณดุลยภาพทุกส่วน โดยใช้ตารางปัจจัยการผลิตผลผลิตของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นฐานข้อมูล ซึ่งในการวิเคราะห์มีสมมติฐานว่า การปรับฐานเงินเดือนจะทำการปรับขึ้น 8% ในเดือนเมษายน 2558 ทั้งนี้เป็นคนละส่วนกับการขึ้นเดือนตามผลงานปีละ 2 ครั้ง ไม่เกินปีละ 6% โดยการวิเคราะห์จะมี 2 กรณีคือ กรณีที่รัฐเพิ่มการขาดุลงบประมาณ และกรณีที่รัฐไม่เพิ่มการขาดดุลงบประมาณ ทั้งนี้การวิเคราะห์แบบจำลองได้สมมติให้ผลกระทบของการปรับฐานเงินเดือนขึ้น 8% ในเดือนเมษายน 2558 จะกระทบเศรษฐกิจปี 2558 ไปก่อนครึ่งหนึ่ง และผลกระทบอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือจะส่งผ่านต่อไปยังเศรษฐกิจปี 2559 ซึ่งผลการวิเคราะห์เป็นดังนี้1. ผลกระทบภาพรวมเศรษฐกิจ 1.1 กรณีที่รัฐเพิ่มการขาดุลงบประมาณ นั่นคืองบประมาณที่ใช้ปรับฐานเงินเดือนเป็นการกู้เงินเพิ่มเติม ซึ่งผลของการปรับฐานเงินเดือนราชการขึ้น 8% ในเดือนเมษายน 2558 จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในปี 2558 และปี 2559 ดังนี้ GDP ณ ราคาคงที่ (GDP ที่ขจัดผลของเงินเฟ้อแล้ว) จะเพิ่มขึ้น 0.005% จากแนวโน้มเดิม (เช่น ถ้าคาดว่า เศรษฐกิจปี 2558 และ ปี 2559 จะโต 5.00% เท่ากัน ด้วยผลของการปรับฐานเงินเดือนราชการขึ้น 8% เศรษฐกิจปี 2558 และปี 2559 จะโตเป็น 5.005%) ขณะที่GDP ที่เป็นตัวเงินจะเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มเดิม 0.328% (หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 40,000 ล้านบาท) ดัชนีราคาผู้บริโภคหรืออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มเดิม 0.087% (เช่น ถ้าคาดว่าอัตราเงินเฟ้อปี 2558 และปี 2559 จะเป็น 2.5% ด้วยผลของการปรับฐานเงินเดือนราชการขึ้น 8% อัตราเงินเฟ้อปี 2558 และปี 2559 จะเพิ่มเป็น 2.587%) การบริโภคครัวเรือน ณ ราคาคงที่ลดลง 0.269% การบริโภคครัวเรือนที่เป็นตัวเงินเพิ่มขึ้น 0.357% การใช้จ่ายเพื่อบริโภคของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 1.653% ดัชนีปริมาณการส่งออกแย่ลง 0.154% ดัชนีปริมาณการนำเข้าลดลง 0.005% ชั่วโมงการจ้างงานเพิ่มขึ้น 0.003% 1.2 กรณีที่รัฐไม่เพิ่มการขาดุลงบประมาณ นั่นคืองบประมาณที่ใช้ปรับฐานเงินเดือนเป็นการโยกงบประมาณจากการใช้จ่ายส่วนอื่นมาทดแทน ซึ่งผลของการปรับฐานเงินเดือนราชการขึ้น 8% ในเดือนเมษายน 2558 จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในปี 2558 และปี 2559 ดังนี้ การใช้จ่ายเพื่อบริโภคของรัฐบาลจะคงที่ตามสมมติฐาน GDP ณ ราคาคงที่ จะลดลง 0.148% จากแนวโน้มเดิม ขณะที่ GDP ที่เป็นตัวเงินเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มเดิม 0.053% (หรือเพิ่มขึ้น 6,600 ล้านบาท) ดัชนีราคาผู้บริโภคหรืออัตราเงินเฟ้อลดลงจากแนวโน้มเดิม 0.010% การบริโภคครัวเรือน ณ ราคาคงที่เพิ่มขึ้น 0.060% การบริโภคครัวเรือนที่เป็นตัวเงินเพิ่มขึ้น 0.054% ดัชนีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น0.043% ดัชนีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น 0.080% ชั่วโมงการจ้างงานลดลง 0.431% ตาราง: แสดงผลกระทบภาพรวมต่อเศรษฐกิจภาพรวมปี 2558 และ 2559 จากการปรับฐานเงินเดือน 8% %การเปลี่ยนแปลงจากแนวโน้มเดิม ตัวชี้วัดเศรษฐกิจ (กรณีงบขาดดุลเพิ่มขึ้น) (กรณีงบขาดดุลคงที่) GDP ณ ราคาคงที่ (Real GDP) +0.005 -0.148 GDP ที่เป็นตัวเงิน (Nominal GDP) +0.328 +0.053 ดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) +0.087 -0.010 การบริโภคครัวเรือน ณ ราคาคงที่ +0.269 +0.060 การบริโภคครัวเรือนที่เป็นตัวเงิน +0.357 +0.054 การใช้จ่ายเพื่อบริโภคของรัฐบาล +1.653 0 ดัชนีปริมาณการส่งออก -0.154 +0.043 ดัชนีปริมาณการนำเข้า +0.080 -0.005 ชั่วโมงการจ้างงานเฉลี่ย +0.003 -0.431 นอกจากนี้ในการวิเคราะห์เพิ่มเติมยังพบว่า หากรัฐสามารถใช้การขึ้นเงินเดือนในเชิงกลยุทธ์มากขึ้นเพื่อกระตุ้นและสร้างขวัญกำลังใจในการเพิ่มประสิทธิการทำงานของบุคลากรภาครัฐได้เพิ่มเพียงปีละ 1% พบว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวได้เพิ่มถึงปีละ 0.037% หรือประมาณปีละ 4,500 ล้านบาท 1. ผลกระทบเศรษฐกิจรายสาขา 1.1 กรณีที่รัฐเพิ่มการขาดุลงบประมาณ 2.1.1 สาขาที่ได้รับประโยชน์ สาขาเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายของครัวเรือน จะได้รับประโยชน์ อันได้แก่ (เรียงจากมากไปน้อย) 1) การให้บริการเสริมการขนส่งทางบก (การเช่ารถ ค่าทางด่วน ฯลฯ) 2) บริการชุมชนอื่น ๆ (องค์กรเพื่อการกุศลต่างๆ) 3) การเลี้ยงสัตว์ปีก 4) โรงภาพยนตร์ 5) การผลิตขนมชนิดต่าง ๆ 6) อุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์และน้ำอัดลม 7) การประกันชีวิต 8) บริการบันเทิงและบริการสันทนาการ 9) การค้าปลีก 2.1.2 สาขาที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่สาขาที่จะได้รับผลกระทบเนื่องจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าต่างประเทศ อันได้แก่ (เรียงจากมากไปน้อย) 1) การทำเนื้อกระป๋องและผลิตภัณฑ์เนื้ออื่น ๆ 2) การผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ 3) การทำผลไม้และผักกระป๋องและการเก็บรักษาผักและผลไม้ 4) การผลิตเครื่องดนตรีและเครื่องกีฬา 1.2 กรณีที่รัฐไม่เพิ่มการขาดุลงบประมาณ 2.1.1 สาขาที่ได้รับประโยชน์ ไม่มีสาขาเศรษฐกิจรับประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญ 2.2.2 สาขาที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่สาขาที่จะได้รับผลกระทบเนื่องจากรัฐโยกงบประมาณจากส่วนอื่นๆมาปรับฐานเงินเดือนราชการ อันได้แก่ (เรียงจากมากไปน้อย) 1) การบริหารราชการ 2) บริการการศึกษา 3) บริการทางการแพทย์และบริการทางอนามัยอื่น ๆ 4) การก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย 5) บริการสุขาภิบาลและบริการที่คล้ายคลึงกัน 6) สถาบันวิจัย 2. สรุปและข้อเสนอแนะ การปรับฐานเงินเดือน 8% ในเดือนเมษายน 2558 จะส่งผ่านผลกระทบต่อเศรษฐกิจปี 2558 และปี 2559 โดยในระยะสั้น (ประมาณ 2 ปี) การปรับฐานเงินเดือน 8% โดยใช้แหล่งงบประมาณจากการขาดดุลเพิ่มเติมนั้น เศรษฐกิจจะขยายตัวจากแนวโน้มเดิม 0.005% ซึ่งส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่าการโยกงบประมาณจากส่วนอื่นมาทดแทน ซึ่งเศรษฐกิจจะหดตัวจากแนวโน้มเดิม 0.148% เนื่องจากหากทำการโยกงบประมาณจากส่วนอื่นมาปรับฐานเงินเดือน การใช้จ่ายของบุคลากรภาครัฐจะใช้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะส่วนหนึ่งจะถูกออมไว้ ขณะที่การทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติมจะเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินใหม่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้สาขาเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับใช้จ่ายของครัวเรือนได้รับประโยชน์มากกว่าสาขาอื่นๆ ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นจากแนวโน้มเดิม 0.087% แต่ก็ถือว่าไม่มาก และยังไม่ทำให้การจ้างงานลดลง ขณะที่การปรับฐานเงินเดือนโดยการโยกงบประมาณส่วนอื่นจะทำให้ชั่วโมงการจ้างงานลดลง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจที่กำลังต้องการความเชื่อมั่น อย่างไรก็ตามเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วก็ไม่ควรปรับฐานเงินเดือนราชการด้วยการเพิ่มการขาดดุลงบประมาณอีก กระนั้นก็ตามหากรัฐมีข้อจำกัดในการเพิ่มการขาดดุลงบประมาณกลางปี ก็จำต้องละทิ้งเป้าประสงค์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เหลือเพียงแต่เป้าประสงค์ในการดูแลค่าครองชีพของบุคลากรภาครัฐเท่านั้น นอกจากนี้หากประสิทธิภาพของบุคลากรภาครัฐที่เพิ่มขึ้นปีละ 1% จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นปีละ 0.037% ดังนั้นการปรับขึ้นเงินเดือนของภาครัฐควรเป็นการปรับขึ้นเชิงกลยุทธ์มากขึ้นเพื่อจูงใจและสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรภาครัฐทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเกื้อหนุนการพัฒนาเศรษฐกิจไทย หมายเหตุ: นอกเหนือจากผลการวิเคราะห์ด้วยแบบจำลอง CGE แล้ว ความคิดเห็นอื่นๆ ในงานวิจัยนี้เป็นความเห็นของผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ