กองทุน กทปส. สนับสนุนสมาคมนักข่าว สร้างคน พัฒนางานกับ “นักข่าวสะพายเป้” หวังเพิ่มทักษะ ความเข้าใจ การผลิตด้านเทคโนโลยีดิจิตอลรองรับการทำงานในอนาคต

ข่าวเทคโนโลยี Sunday August 17, 2014 17:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--เอ็มบิส เอเชีย กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. หน่วยงานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) มุ่งเดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กับการเพิ่มทักษะและขีดความสามารถในอุตสาหกรรมวิทยุและโทรทัศน์ของบุคลากรในยุคเปลี่ยนผ่านของกิจการโทรทัศน์ไทยสู่ยุคทีวีดิจิตอล ในโครงการฝึกอบรมการผลิต Backpacking Journalism (นักข่าวสะพายเป้) สำหรับนักข่าวโทรทัศน์รุ่นที่ 1 ครั้งแรกของประเทศ โดยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ กล่าวว่า โครงการฝึกอบรมการผลิต Backpacking Journalism (นักข่าวสะพายเป้) สำหรับนักข่าวโทรทัศน์ เป็นโครงการหนึ่งที่ได้รับการจัดสรรเงินจากกองทุนฯ (ประเภทที่ 1) ประจำปี 2556 ในด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายหลักของกองทุนฯ โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะและขีดความสามารถเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทาง กสทช. ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการผลิตบุคลากรให้มีความเพียงพอและมีคุณภาพ พร้อมผลักดันและส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร โดยร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เดินหน้าจัดอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านกิจการโทรทัศน์ของประเทศไทยสู่ยุคทีวีดิจิตอลในอนาคต “โครงการฝึกอบรมการผลิต Backpacking Journalism (นักข่าวสะพายเป้) สำหรับนักข่าวโทรทัศน์ เกิดขึ้นจากความต้องการพัฒนาบุคลากรด้านข่าววิทยุโทรทัศน์ให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีดิจิตอลในการผลิต เพื่อให้นักข่าวโทรทัศน์ ช่างภาพข่าว ช่างตัดต่อข่าว มีความรู้ ความเข้าใจและมีทักษะทางในการผลิตข่าว สนับสนุนให้บุคลากรข่าวรับรู้ รับทราบวิธีการผลิตข่าวที่ต้องการความรวดเร็ว และความคล่องตัวของผู้ทำข่าว เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีในปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนช่องโทรทัศน์ รวมถึงการขยายขอบเขตการทำข่าวในระดับภูมิภาคอาเซียน กอปรกับการสร้างความเข้าใจถึงระบบการผลิตในรูปแบบใหม่ การปรับตัวในการบริหารข่าว รวมถึงนวัตกรรมในการผลิตเพื่อสร้างคุณภาพข่าวให้สูงที่สุด ดังนั้นนักข่าวโทรทัศน์ในอนาคตจึงต้องมีหน้าที่ทำข่าว สัมภาษณ์ เขียนข่าว ถ่ายทำ ตัดต่อ และส่งข่าวที่มีคุณภาพสูงในศาสตร์การเขียนและศิลปะการบันทึกภาพและถ่ายทอดให้ได้ผลงานทั้งภาพและการเล่าเรื่อง เพื่อนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป นายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ในการจัดโครงการฯ ครั้งนี้ เราได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ บิล เจนไทล์ ผู้อำนวยการโครงการ Backpack Journalism มหาวิทยาลัยอเมริกา เป็นวิทยากรในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการฝึกอบรมการผลิต โดยได้เน้นให้ผู้เข้าร่วมฝึกอบรม ได้พัฒนาทักษะวิธีการในการบอกเล่าเรื่องราวข่าวผสมผสานกันระหว่างการรายงานภาพและเสียง ผลงานที่สมบูรณ์ประกอบไปด้วยการรายงาน การถ่ายทำ การบรรยายการผลิต และการตัดต่อที่ดำเนินการโดยบุคคลเพียงคนเดียวที่มีความชำนาญและเข้าใจในสภาพการใช้งานอุปกรณ์ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ปัจจุบันการถ่ายทำและการตัดต่อข่าวด้วยตัวคนเดียวนั้นจะมีปฏิบัติกันอยู่แล้วบางส่วน แต่ส่วนใหญ่กลับพบว่าคุณภาพและการนำเสนอข่าวกลับมีคุณภาพที่น้อยลง เมื่อเทียบกับการทำงานเป็นทีม หากการอบรมครั้งนี้สมบูรณ์ จะทำให้งานข่าวที่ผลิตโดยระบบดังกล่าว มีคุณภาพเพิ่มขึ้น เพราะนักข่าวสามารถอยู่ในพื้นที่ได้นานขึ้นติดตามประเด็นได้คล่องตัว บันทึกภาพและเสียงได้สอดคล้องกับเป้าหมาย และตัดต่อเรียงร้อยเรื่องราวได้ตรงกับความต้องการที่จะนำเสนอ ส่งผลให้คุณภาพข่าวสูงขึ้นได้ จากการที่ได้รับการสนับสนุนในการจัดสรรเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (ประเภทที่ 1) ประจำปี 2556 นั้น ถือเป็นโอกาสอันดีที่สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ของไทย ได้มีการจัดโครงการฝึกอบรม "นักข่าวสะพายเป้" ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรด้านข่าววิทยุและโทรทัศน์ให้มีทักษะและความสามารถของบุคลากรในอุตสาหกรรมวิทยุและโทรทัศน์ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีดิจิตอลในการผลิตที่ก้าวหน้าในระดับภูมิภาคอาเซียนที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2558 ที่จะถึงนี้ นายวิสุทธิ์ กล่าวสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ