การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ข่าวทั่วไป Monday August 18, 2014 09:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงข่าวเกี่ยวกับ การพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาหารือการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่าสมาชิก สนช. จะมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่ หากมีหน้าที่ยื่นจะต้องดำเนินการยื่นตั้งแต่เมื่อใด คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗ มาตรา ๖ วรรคสอง ได้บัญญัติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา ประกอบกับมาตรา ๔๑ ก็ได้บัญญัติว่าในกรณีที่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง มิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อยู่ในสถานะและทำหน้าที่เช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ดังนั้น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงย่อมมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๒ โดยจะต้องยื่นบัญชีฯ ภายในสามสิบวันนับแต่วันเข้ารับตำแหน่ง กล่าวคือ นับแต่วันที่ปฏิญาณตนต่อที่ประชุมแห่งสภา โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้กล่าวปฏิญาณตนต่อที่ประชุมแห่งสภา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 จึงต้องถือว่าวันที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีเข้ารับตำแหน่งเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2557 ซึ่งสอดคล้องกับมติที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เคยพิจารณาไว้ในการประชุมครั้งที่ ๗/๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๙ กรณีของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อปี 2549 สำหรับประเด็นกรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วจะต้องมีการเปิดเผยต่อสาธารณชนตามมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ เช่นเดียวกับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา หรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ได้กำหนดให้มีการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรง ตำแหน่งการเมืองเพียงสองตำแหน่งคือ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ดังนั้น บัญชีฯ ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อปี 2549 จึงไม่มีการประกาศเปิดเผย แต่ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ได้กำหนดให้ต้องประกาศเปิดเผยบัญชีฯ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาเพิ่มเติม ดังนั้น ในเรื่องนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงมีความเห็นว่า เมื่อสมาชิก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2557 ทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา และมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา จึงเห็นควรเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2557 ต่อสาธารณชนตามมาตรา ๓๕ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติดังนี้ 1. กำหนดให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 2. การยื่นบัญชีฯ ให้ถือวันปฏิญาณตนต่อที่ประชุมแห่งสภาเป็นวันที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ กรณีเข้ารับตำแหน่งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งคือวันที่ 8 สิงหาคม 2557 3. ให้มีการประกาศเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามมาตรา 35 เช่นเดียวกับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา
แท็ก ป.ป.ช.   บัญชี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ