อพท.ชวนนักท่องเที่ยวสร้างสังคมท่องเที่ยวใช้พลังงานอย่างยั่งยืน

ข่าวท่องเที่ยว Thursday September 4, 2014 16:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้มีนโยบายสนับสนุนให้พื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon โดยมุ่งเน้นความสมดุลทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการส่งเสริมนโยบาย Creative Tourism ที่มุ่งเน้นความได้เปรียบด้วยการสร้างมูลค่า (Value Creation) ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานแห่งความเป็นไทย (Thainess) วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ปีงบประมาณ ๒๕๕๕ สำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง (อพท.๑) ได้มีการผนวกโครงการปกป้องสภาพภูมิอากาศที่เคยได้รับความรู้จากองค์กรความร่วมมือทางวิชาการจากประเทศเยอรมันนี (GIZ) เข้ากับการจัดทำแผนและการจัดการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาให้พื้นที่ในความรับผิดชอบของ อพท.๑ ได้กำหนดกรอบแนวคิดการดำเนินงานใน ๔ ประเด็นได้แก่ (๑) การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและพลังงานทางเลือก (๒) การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และการนำน้ำที่ไม่ใช้แล้วกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ (๓) การบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร (๔) การรักษาวิถีชีวิตชุมชน โดยพัฒนาให้เกาะหมากให้เป็นต้นแบบของการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพในภาคการท่องเที่ยวแบบลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ทั้งนี้ ได้แสวงหาความร่วมมือของผู้ประกอบการ ประชาชน รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการดำเนินงานสร้างความรู้ความเข้าใจ พร้อมทั้งเชิญชวนเข้าร่วมตามกิจกรรม และได้จัดทำปฏิญญาเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม โดยมีสถานประกอบการธุรกิจด้านการท่องเที่ยว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงส่วนราชการทุกแห่งบนเกาะหมาก รวมจำนวนทั้งสิ้น ๔๖ แห่งเข้าร่วมลงนามตามปฏิญญาเกาะหมาก เมื่อวันอังคารที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๕ ปีงบประมาณ ๒๕๕๖ ได้ขยายพื้นที่ดำเนินการทั้งเกาะหมากและพื้นที่เชื่อมโยง เน้นให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการพื้นที่แบบ Low Carbon รวมถึงรูปแบบการจัดกิจกรรมต่างๆให้ดำเนินการตามแนวคิดที่กำหนด และพัฒนามาตรฐานของสถานประกอบการ Low Carbon โดยปรับให้เหมาะสมกับสถานประกอบการ พร้อมกันนี้ ได้ร่วมมือกับมูลนิธิใบไม้เขียวและ GIZ พัฒนาโปรแกรมการคำนวณค่าการการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์สำหรับองค์กรหรือที่พักแบบง่ายๆ ให้สถานประกอบการทดลองใช้และสามารถนำไปเป็นแผนในการลดการปลดปล่อยค่าคาร์บอนฯ ในสถานประกอบการได้อีกด้วย อีกทั้งยังสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานทางเลือกในสถานประกอบการที่พักอาศัยโดยพัฒนาต้นแบบการใช้พลังงานทางเลือก ๗ แห่ง ได้แก่ (๑) อพท.๑ (๒) วัดท่าโสม (พร้อมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนลดการใช้โฟมในวัด และการใช้หรีดที่สามารถใช้ประโยชน์ได้) (๓) อบต.ห้วงน้ำขาว (๔) ร.ร.บ้านอ่างกระป่อง (และได้วางแผนในการลดค่า Peak ของการใช้ไฟฟ้าในโรงเรียน (๕) เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ ได้ผนวกกับโครงการกำลังใจของพระองค์ภาฯ ใช้พลังงานทางเลือกกับการเกษตร และใช้ในเรือนนอน (๖) ชุมชนประมงบ้านแหลมกลัด ได้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อแสงสว่างของไฟฟ้าทางเดินในหมู่บ้าน และใช้สำหรับโรงเพาะฟักของธนาคารปู (๗) จวนผู้ว่าราชการจังหวัดตราด นอกจากนี้ในพื้นที่เกาะหมากผู้ประกอบการได้มีการลงทุนใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในสถานที่ของตนเอง จำนวน ๑๘ แห่ง สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ๑๔,๓๒๙ กิโลวัตต์/ชม. (คิดเป็นร้อยละ ๒๘.๖ ของการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใช้ได้บนเกาะ) และสามารถลดการปล่อย Co2 สู่ชั้นบรรยากาศจากการไม่ใช้ไฟฟ้าได้ ๘,๑๖๗.๕๓ kgCo2e อีกทั้งได้มีการจัดงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่บริเวณศาลา ๑๐๐ ปี และบริเวณ อบต.เกาะหมาก โดยได้ตั้งชื่องานว่า “ทำ Low Carbon แล้วได้อะไร...?” และให้แนวคิดในการกิจกรรมว่า เปิดโลกพลังงานทางเลือก ปีงบประมาณ ๒๕๕๗ ได้นำมาตรฐานด้าน Low Carbon ไปทดลองใช้ในพื้นที่เกาะหมากและพัฒนา Brand ด้านการท่องเที่ยวของเกาะหมาก เป็นพื้นที่ Low Carbon ได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีการให้ความรู้แก่สถานประกอบการ กลุ่มประมง รวมถึงประชาชนที่สนใจในการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาดัดแปลงให้เกิดประโยชน์อีกด้วย พร้อมกันนี้ได้ร่วมมือกับจังหวัดตราดขยายผลการดำเนินงานด้าน Low Carbon สู่การเป็น Green City ตามนโยบายของจังหวัดตราด อพท.๑ จึงจัดให้มีกิจกรรมเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์จริงของกลุ่มภาคีเครือข่ายที่ได้นำแนวคิดของ Low Carbonใน ๔ ประเด็น ไปปรับใช้จนบังเกิดผลเป็นรูปธรรมและบอกผ่านกิจกรรมดังกล่าว เพื่อสร้างกระแสให้เกิดความตระหนักถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมว่า “เป็นเรื่องของทุกคนที่สามารถทำได้ด้วยตนเองอย่างง่ายๆ” โดยร่วมกับจังหวัดตราด หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จัดกิจกรรม “เปิดโลกสังคมคาร์บอนต่ำแบบพึ่งพาตนเอง” (Low Carbon Society) ระหว่างวันที่ ๘ - ๑๐ กันยายน ๒๕๕๗ บริเวณศาลา ๑๐๐ ปี (หน้าศาลากลางจังหวัดตราด) อำเภอเมือง จังหวัดตราด เพื่อให้ประชาชนชาวตราดเกิดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการพื้นที่แบบ Low Carbon สร้างความตระหนักและปลูกจิตสำนึกให้ร่วมกันดูแลชุมชน สิ่งแวดล้อม รวมถึงการดูแลวัฒนธรรมชุมชนให้เป็นผู้มีจิตอาสาที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการทำ Work Shop (วันที่ ๘ – ๙ กันยายน ๒๕๕๗) นำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เสียมาสร้างเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น การทำแบตเตอรี่เสียทุกชนิดให้เป็นไฟสำหรับแสงสว่างที่ใช้กับพลังงานแสงอาทิตย์ อุปกรณ์จากเครื่องสำรองไฟฟ้า โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทางเลือกจากคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และชมรมคนรักโซล่าเซลล์ พร้อมทั้งการสาธิตวิธีการนำเปลือกทุเรียนมาผลิตเป็นแป้งเพื่อประกอบอาหาร โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารไทย และในวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๗ จัดให้มีนิทรรศการมีชีวิตและกิจกรรมการเสวนาเรื่อง “จาก.. Low Carbon …สู่ Green City…?” ซึ่งได้รับเกียรติจากนางสาวเบญจวรรณ อ่านเปรื่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด พ.อ.ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หน่วยงานภาครัฐและสถานประกอบการที่ประสบความสำเร็จจากการใช้พลังงานทางเลือก เข้าร่วมอภิปรายเพื่อแลกเปลี่ยนรู้จากประสบการณ์จริงการปรุงอาหารโดยผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารไทยภายใต้แนวคิด Low Carbon Menu นิทรรศการการใช้พลังงานอย่างฉลาดและการร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยวิถีชีวิตชุมชน นอกจากนี้ ยังมีการแสดงดนตรีบรรเลงจากเครือข่ายยุวชนของ อพท. และกิจกรรมอื่น อีกมากมาย พลตรีหญิงจรัสพิมพ์ ธีรลักษณ์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง (อพท.๑) กล่าวเสริมว่า กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้ให้ภาครัฐและภาคเอกชนรวมถึงภาคประชาชนชาวจังหวัดตราด ได้มีส่วนร่วมในการเลือกใช้พลังงานอย่างฉลาดที่สามารถทำได้ด้วยตนเองทั้งในอาคารสำนักงานหรือภายในบ้าน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อยอดไปสู่การลดภาระค่าใช้จ่ายทำให้พึ่งพาตนเองได้ และยังช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นการจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอีกด้วย จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจให้มาเที่ยวชมร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ สำหรับผู้ที่สนใจร่วมกิจกรรม Work Shop สามารถแจ้งรายชื่อ และสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อพท.๑โทรศัพท์. (๐๓๙) ๕๕๒-๒๒๒ และ (๐๓๙) ๕๑๖-๐๔๑

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ