Bualuang House View: ยุคทองของเอเชีย เมื่อคนชั้นกลางกุมบังเหียนเศรษฐกิจโลก

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 11, 2014 13:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--บลจ.บัวหลวง บลจ.บัวหลวง จำกัด 11 กันยายน 2557 ทีมจัดการกองทุนบัวหลวง โดย อาจารีย์ เอี่ยมพงษ์ไพฑูรย์ ยุคทองของเอเชีย เมื่อคนชั้นกลางกุมบังเหียนเศรษฐกิจโลก หลายปีมานี้ภูมิภาคเอเชียเป็นที่จับตามองจากทั่วโลก ในฐานะที่กำลังจะก้าวขึ้นเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับสินค้าและบริการต่างๆ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและระดับรายได้ในกลุ่มคนชั้นกลาง ซึ่งอำนาจการจับจ่ายใช้สอยของคนกลุ่มนี้จะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนและทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน และมีบทบาทกำหนดทิศทางการบริโภคนับจากนี้ จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (UN) ปี 2013 ประชากรโลก 7.16 พันล้านคน ประกอบไปด้วยชาวเอเชียกว่า 4.3 พันล้านคน ในจำนวนนี้เป็นชาวจีนมากถึง 1.4 พันล้านคน อินเดีย 1.3 พันล้านคน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) กว่า 600 ล้านคน องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์ว่า จำนวนคนชั้นกลางทั่วโลก (รายได้เฉลี่ย 10–100 เหรียญสหรัฐต่อวัน) จะเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งจากปัจจุบัน 2 พันล้านคน เป็น 4.9 พันล้านคน ในปี 2030 ซึ่งราว 85% ของคนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น มาจากตลาดเกิดใหม่ในฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย และมาเลเซีย ทั้งนี้ Euromonitor คาดการณ์ว่าในช่วงปี 2012 – 2020 อัตราการเติบโตของรายได้ชนชั้นกลางจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 5.9% ต่อปี สูงขึ้นจากช่วงปี 1992-2012 ที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพียง 1.1% ต่อปี การเพิ่มขึ้นของระดับรายได้ชนชั้นกลาง ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของสังคมเมือง (Urbanization) ไปสู่หัวเมืองใหญ่ๆ ซึ่งส่งผลกระทบเชิงบวกต่อทั้งภาคธุรกิจและภาคแรงงาน ทำให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญ ผลการศึกษาของ UN และ BofA Merrill Lynch Global Research พบว่า Urbanization rate ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงต่ำอยู่เพียง 45% เมื่อเทียบกับตลาดพัฒนาแล้วที่ 78% ทำให้มีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก ขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 34% เท่านั้น เมื่อคนชั้นกลางมีรายได้มากขึ้น ก็มีการใช้จ่าย บริโภค ท่องเที่ยว มากขึ้น ส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม โดย OECD คาดการณ์ว่า ในปี 2030 คนชั้นกลางทั่วโลกจะมีการใช้จ่ายมากถึง 59 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 21 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยกว่า 80% ของการจับจ่ายใช้สอยนี้ก็มาจากเอเชีย โดยเฉพาะจีน และอินเดีย นอกจากพฤติกรรมการใช้จ่ายที่มากขึ้นแล้ว ค่านิยมของผู้บริโภคชาวเอเชียก็กำลังเปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน โดยมักจะเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ ให้น้ำหนักกับแบรนด์สินค้า รวมทั้งให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า สินค้าส่วนบุคคล รวมไปถึงสินค้าเทคโนโลยีต่างๆ (ในอดีตผู้บริโภคอาจคำนึงถึงความคุ้มค่าต่อราคา ประโยชน์ใช้สอยที่หลากหลาย) นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังรู้สึกชื่นชอบและมีความสุขไปกับประสบการณ์ในการได้พบเห็น ลิ้มลอง เลือกซื้อสินค้า ซึ่งหากใครเคยดูหนังเรื่อง Shopaholic คงจะพอเข้าใจความรู้สึกเช่นนี้ได้ไม่ยากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้บริโภคเหล่านั้นอยู่ในเขตเมือง มีอำนาจซื้อ สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการต่างๆได้ง่าย เนื่องจากในเมืองเต็มไปด้วยแหล่งช้อปปิ้ง มีสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่าง การเดินทางสะดวกสบาย อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงสินเชื่อส่วนบุคคลอย่างบัตรเครดิตได้ง่ายขึ้น แม้ว่านานาประเทศในเอเชียจะมีวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณีที่แตกต่างกัน แต่น่าสังเกตว่าหลายประเทศกำลังเข้าสู่ความเป็นสากลมากขึ้น สิ่งที่สะท้อนภาพได้ชัดเจนที่สุดก็คือ การแต่งกาย จากการซึมซับวัฒนธรรมจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้ตลาดแบรนด์สินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเติบโตขึ้นอย่างมากในหลายปีมานี้ ดังนั้น หากบริษัทไหนสามารถเข้าถึงและตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ได้ก็หมายถึงเม็ดเงินมหาศาลที่จะตามมา สิ่งสำคัญคือ ค้นหาว่าผู้บริโภคมองหาหรือให้ความสำคัญกับคุณค่าอะไรในแบรนด์ ซึ่งผู้บริโภครุ่นใหม่มักให้ความสำคัญกับคุณภาพ ดีไซน์ และรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูดี สำหรับมุมมองการลงทุน กองทุนบัวหลวงเล็งเห็นโอกาสจากการเติบโตของกลุ่มคนชั้นกลางในเอเชียทั้งในแง่ของจำนวนประชากรและการจับจ่ายใช้สอย เราจึงให้ความสำคัญกับบริษัทหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค โดยเฉพาะบริษัทที่เน้นการวิจัยและพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างแบรนด์ มีการขยายธุรกิจโดยเข้าไปเป็นพันธมิตรหรือควบรวมกิจการยังต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะมีศักยภาพในการเติบโตไปพร้อมๆกับการขยายขนาดของคนชั้นกลางในอนาคต Disclaimer: ข้อมูลในเอกสารนี้ รวบรวมจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ทั้งนี้ บลจ.บัวหลวง ไม่สามารถยืนยันหรือรับรองความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าว และไม่ว่ากรณีใด บทวิเคราะห์ในเอกสารนี้ มิได้เป็นการชี้นำในการตัดสินใจ หรือโฆษณาการดำเนินธุรกิจของบริษัท การตัดสินใจใดๆ ของผู้อ่าน ล้วนเป็นการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน ซึ่ง บลจ.บัวหลวง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดๆ ทั้งสิ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ