ปภ.แนะประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมเรียนรู้รับมือภัยพิบัติ...ลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัย

ข่าวทั่วไป Thursday September 11, 2014 13:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ โดยเรียนรู้หลักปฏิบัติขั้นพื้นฐานในการป้องกันภัยพิบัติ จดจำหมายเลขโทรศัพท์หน่วยงานสำคัญ หมั่นติดตามข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการรับมือภัยพิบัติ เรียนรู้สัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติก่อนเกิดภัยพิบัติ ตรวจสอบบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง รวมถึงติดตามข้อมูลสถานการณ์ภัยและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบจากภัยพิบัติและให้การดำเนินชีวิตในช่วงที่เกิดสถานการณ์ภัยเป็นไปอย่างปลอดภัย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก การเรียนรู้แนวทางรับมือภัยพิบัติถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัย เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ดังนี้ เรียนรู้หลักปฏิบัติขั้นพื้นฐานในการป้องกันภัยพิบัติ วิธีใช้อุปกรณ์ดับเพลิง การเปิด – ปิดอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ การสังเกตสัญญาณเตือนภัยหรือความผิดปกติทางธรรมชาติ การอพยพหนีไฟตามเส้นทางที่ปลอดภัย พร้อมสอนสมาชิกในครอบครัวให้รู้วิธีรับมือและปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเมื่อเกิดภัยพิบัติ จดจำหมายเลขโทรศัพท์หน่วยงานสำคัญ โดยเฉพาะหมายเลขโทรศัพท์หน่วยงานบรรเทาสาธารณภัย สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง โรงพยาบาลในพื้นที่ สำหรับแจ้งเหตุและติดต่อขอความช่วยเหลือ กรณีมีเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ ให้จดชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ของผู้ปกครอง ญาติและสมาชิกในครอบครัวไว้ในกระเป๋าเสื้อ เพื่อใช้ติดต่อกรณีได้รับบาดเจ็บ พลัดหลงขณะอพยพหรืออาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราว หมั่นติดตามข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการรับมือภัยพิบัติ ทั้งสภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝน สถานการณ์น้ำ ระดับการขึ้น – ลงของน้ำในแม่น้ำ และระดับน้ำทะเลหนุน การคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ภัยในแต่ละฤดูกาล สำหรับเป็นข้อมูลในการวางแผนรับมือภัยพิบัติล่วงหน้า เรียนรู้สัญญาณความผิดปกติของธรรมชาติก่อนเกิดภัยพิบัติ อาทิ อุทกภัย จะมีฝนตกหนักและระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ดินถล่ม น้ำจะเป็นสีขุ่นและเปลี่ยนสีเป็นสีเดียวกับสีดินบนภูเขา สึนามิ ระดับน้ำในทะเลลดลงอย่างรวดเร็วหลังเกิดแผ่นดินไหวในมหาสมุทร พายุฤดูร้อน อากาศร้อนอบอ้าวและเมฆก่อตัวอย่างรวดเร็ว จะได้เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติได้ทันต่อสถานการณ์ วางแผนรับมือภัยพิบัติไว้ล่วงหน้า สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยของพื้นที่และข้อจำกัดของบุคคลในครอบครัว พร้อมจัดเตรียมเส้นทางอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยไว้หลายๆ เส้นทาง เพื่อให้มีทางเลือกมากขึ้นเมื่อเกิดภัยพิบัติ รวมถึงเข้าร่วมฝึกซ้อมแผนอพยพหนีภัย จะได้เข้าใจระบบการแจ้งเตือน สัญญาณเตือนภัยและขั้นตอนการปฏิบัติกรณีเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติ ตรวจสอบบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง พร้อมจัดสภาพแวดล้อมทั้งในและรอบบ้านให้ปลอดภัย โดยยึดติดเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถล้มได้กับพื้นหรือผนังบ้านอย่างแน่นหนา ตัดแต่งกิ่งไม้และโค่นต้นไม้ที่ไม่แข็งแรง เพื่อป้องกันการล้มทับบ้านเรือน ไม่วางสิ่งของกีดขวางเส้นทางอพยพ รวมถึงติดตั้งถังดับเพลิงเคมีไว้ในจุดที่หยิบใช้งานสะดวก ขณะเกิดภัย ควรหมั่นติดตามข้อมูลสถานการณ์ภัยอยู่เสมอ โดยตรวจสอบสภาวะอากาศจากพยากรณ์อากาศ ประกาศเตือนภัย รวมถึงสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ พร้อมปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยและคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตนของหน่วยงานภาครัฐอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การดำเนินชีวิตในช่วงที่เกิดภัยพิบัติเป็นไปอย่างปลอดภัย กรณีสถานการณ์ภัยรุนแรงและมีประกาศเตือนภัยให้อพยพ อย่ามัวแต่ห่วงทรัพย์สิน ให้อพยพไปตามเส้นทางที่ปลอดภัย โดยให้ความช่วยเหลือเด็กและคนชราก่อน รวมถึงอย่าหลงเชื่อและแพร่ข่าวลือ เพราะความตื่นตระหนก จะทำให้สถานการณ์ภัยพิบัติวิกฤตมากขึ้น ทั้งนี้ การเรียนรู้วิธีเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ นอกจากจะช่วยลดผลกระทบจากภัยพิบัติแล้ว ยังส่งผลให้การดำเนินชีวิตในช่วงที่เกิดสถานการณ์ภัยเป็นไปอย่างปลอดภัย 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ