พม. จัดการประชุมเพื่อพิจารณารายงานประจำปี ๒๕๕๗ ผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Monday September 29, 2014 10:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณารายงานประจำปี ๒๕๕๗ ผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานและรับทราบความคืบหน้า พร้อมทั้งหามาตรการการป้องกันต่อไป โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ ผู้แทนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงการต่างประเทศ กรมสวบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกระทรวงแรงงาน เป็นต้น ณ ห้องประชุมชั้น ๘ อาคารใหม่ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยหลังการประชุมฯว่า จากกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศไม่คว่ำบาตรไทย จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking In Persons Report : TIP Report) ประจำปี ๒๕๕๗ ของไทย ซึ่งปกติสหรัฐฯจะประกาศมาตราการตัดความช่วยเหลือที่เกี่ยวกับการค้าภายในระยะเวลา ๙๐ วัน เนื่องจากเห็นว่าไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในการแก้ไขปัญหาการ ค้ามนุษย์ที่ก้าวหน้าและเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน ทำให้ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทย ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงได้จัดการประชุมฯ ดังกล่าวขึ้น เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานและรับทราบความคืบหน้า และวางแผนเพิ่มมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เข้มงวด รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการทำข้อมูลนำเสนอรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking In Persons Report : TIP Report) ประจำปี ๒๕๕๘ สำหรับการดำเนินงานการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย มีประเด็นสำคัญ ๕ ด้าน ดังนี้ ๑)ด้านนโยบายและการนำไปสู่การปฏิบัติ รับผิดชอบโดยสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ๒)ด้านการดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมาย รับผิดชอบโดยสำนักงานอัยการสูงสุดและกรมสอบสวนคดีพิเศษ ๓)ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหาย รับผิดชอบโดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ๔)ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหา รับผิดชอบโดยกระทรวงแรงงาน และ ๕)ด้านความร่วมมือ กับทุกภาคส่วนและความร่วมมือระหว่างประเทศ รับผิดชอบโดยกระทรวงการต่างประเทศ พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนได้ติดตามความคืบหน้าถึงมาตรการการป้องกันและแนวทางแก้ปัญหาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกระทรวงแรงงาน อัยการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กระทรวงการต่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DIS) ซึ่งทุกฝ่ายมีกรอบแผนงาน และแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนตามหลักมาตรฐานสากล มีน้ำหนักของข้อมูลรอบด้านมากขึ้น ทั้งในเรื่องคดีความ ผลการจับกุม โดยเฉพาะการพิจารณาคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ทั้งอัยการ และศาลได้จัดให้มีช่องทางพิเศษในการพิจารณาคดีให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมถึงการคัดแยกผู้เสียหายจากคดีค้ามนุษย์ มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.) หรือวอร์รูมที่สามารถประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตาม และแก้ปัญหาได้อย่างใกล้ชิด รวดเร็ว ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้จะรวบรวมเพื่อจัดทำเป็นรายงานเสนอต่อกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯที่กำหนดให้ส่งผลงานความก้าวหน้าการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ๒ ครั้งต่อปี ซึ่งกำหนดส่งครั้งแรกเดือน พ.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม ตนจะพยายามทำให้ประเทศไทยถูกปรับอันดับให้ดีขึ้น จากเดิมที่อยู่ลำดับสุดท้าย Tier 3

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ