จับมือขยายผลองค์ความรู้ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สู่นักส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกร

ข่าวทั่วไป Wednesday September 24, 2014 14:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--สำนักงาน กปร. นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ( สำนักงาน กปร. ) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การขับเคลื่อนขยายผลองค์ความรู้ ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของนักส่งเสริมการเกษตรพื้นที่ภาคตะวันออก ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ฉะเชิงเทรา ที่สำนักงาน กปร. ได้ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และ กรมส่งเสริมการเกษตร จัดขึ้น ว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริมาร่วม 33 ปี ทำให้มีการสะสมองค์ความรู้ ก่อเกิดความก้าวหน้าและมีเกษตรกรต้นแบบความสำเร็จจากการศึกษาวิจัยภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ไปประยุกต์ใช้ จนเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ยังได้ให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่าย ในการขยายผลองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งเครือข่ายที่สำคัญหน่วยหนึ่งคือเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการเผยแพร่และขยายผลความรู้ด้านการประกอบอาชีพและได้ร่วมทำงานสนองพระราชดำริด้านการพัฒนาไปสู่ประชาชนและเกษตรกร ดังนั้นหากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีความรู้ ครบถ้วน สมบูรณ์แล้ว ก็จะสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปส่งเสริม ขยายผลให้กับประชาชน ในพื้นที่รับผิดชอบได้ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน จะทำให้การขยายผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริเกิดความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป ทางด้านนายสุรพล จารุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศ์ทุกพระองค์ กรมส่งเสริมการเกษตรถือเป็นนโยบายที่จะขับเคลื่อนการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่ง และศูนย์สาขาที่โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช นั้น ขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้ความสำคัญโดยการคัดเลือกเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมการเกษตร ลงไปทำงานในพื้นที่โดยก่อนหน้านี้ทางกรมฯได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตร เข้าไปประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการและศึกษาดูงาน ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ เพื่อเตรียมการที่จะขยายผลผลสำเร็จของศูนย์ศึกษาฯ สู่เกษตรกร ซึ่งเป็นการดำเนินการแบบควบคู่ 2 อย่าง คือ ขยายผลในส่วนของเจ้าหน้าที่เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจก่อนที่จะออกไปขยายผล สู่เกษตรกร และนำเกษตรกรที่มีความสนใจในความรู้เรื่องต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงานและฝึกปฏิบัติ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนา ก่อนนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพของตนเองต่อไป โดยเฉพาะในปี 2557 กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งมาดำเนินการในโครงการนี้ ภายใต้นโยบาย 5 Smart ประกอบด้วย Smart officer คือนักส่งเสริมการเกษตรต้องเป็นนักส่งเสริมมืออาชีพ ที่จะนำพาความรู้ต่างๆ เข้าไปส่งเสริมเกษตรกร ส่วนที่ 2 คือ Smart Farmer คือ เกษตรกรมืออาชีพ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะต้องมีการเตรียมความพร้อมเพราะการนำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริไปขยายผลนั้น จะต้องให้เกษตรกรมีความพร้อมที่จะรับจึงจะสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ส่วนที่ 3 คือ Smart Group คือ การรวมกลุ่มที่เป็นอย่างมืออาชีพ กลุ่มที่มีความเข้มแข็ง เมื่อเข้มแข็งแล้ว ก็จะสามารถทำอะไรได้หลายๆ อย่าง ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ส่วนที่ 4 คือ Smart Product ก็คือ ผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับและต้องการของตลาด ซึ่งจะดำเนินการตั้งแต่เพื่อบริโภคเอง ไปจนถึงเพื่อการขาย ซึ่งเกษตรกร ที่ทำการผลิตแล้วจะต้องขายได้ และส่วนที่ 5 คือ Smart Office หมายถึง สำนักงานที่สามารถรองรับและให้บริการพี่น้องประชาชนได้อย่างยอดเยี่ยม ประทับใจ และมีกิจกรรมดีๆ ให้กับพี่น้องประชาชน ได้เข้ามาเรียนรู้เพิ่มเติมผลักดันภูมิปัญญาในการทำการผลิตอย่างก้าวทันต่อวิทยาการสมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรมีสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร ระดับเขตอยู่ 9 เขต ทั่วประเทศ แต่ละเขต จะมีจังหวัดต่างๆที่อยู่ในการกำกับดูแล เฉลี่ยประมาณ 10 จังหวัด ก็จะมีการจัดทีมงานเข้าไปสำรวจ ประเมินผลการดำเนินงานในโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าในการขยายผลงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นที่น่าพอใจ การดำเนินการทุกโครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พี่น้องเกษตรกรที่นำแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ ส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จและเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจมาก เพราะสามารถลดรายจ่าย ด้วยมีการทำบัญชีครัวเรือน มีแนวคิดในการวิเคราะห์ตัวเองว่าควรจะทำการผลิตอะไร หรือควรประกอบอาชีพไปในทิศทางใด เมื่อได้รับคำตอบการดำเนินกิจการก็จะประสบความสำเร็จ ตรงนี้ทำให้เกิดความสุข ครัวเรือนมีความอบอุ่นมากขึ้น ซึ่งในปีต่อไปๆ ก็จะพยายามขยายผลให้มากขึ้น “พระราชดำริที่พระราชทานให้กับประชาชนชาวไทย ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศ์ทุกพระองค์ มีมุมมองที่เป็นทั้งปรัชญา และแนวคิดที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม โดยเฉพาะส่วนตัว สามารถช่วยให้เกิดความตระหนักไว้ว่า ความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ตรงไหน ความสุขไม่ใช่การมีเงินทองมากมาย แต่ความสุขอยู่ที่การดำรงชีวิตได้อย่างไม่เป็นหนี้ รู้จักว่าคำว่าพอประมาณ นั้นเอง “นายสุรพล จารุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ