ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กร “บ. ทรู คอร์ปอเรชั่น” เป็น “BBB+” จาก “BBB” เพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน เป็น “BBB+” จาก “BBB-” และปรับแนวโน้ม เป็น “Stable&rdqu

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 10, 2014 10:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งยกเลิก “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Positive” หรือ “บวก” ของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมทั้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทเป็นระดับ “BBB+” จากเดิมที่ระดับ“BBB” และปรับเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทเป็นระดับ “BBB+” จากเดิมที่ระดับ “BBB-” ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น“Stable” หรือ “คงที่” โดยการปรับเพิ่มอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่แข็งแกร่งขึ้น รวมทั้งความยืดหยุ่นทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นหลังจากบริษัททำการขายหุ้นเพิ่มทุนสำเร็จ ทั้งนี้ การปรับเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันถึง 2 ขั้นจนขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตองค์กรสะท้อนถึงความคาดหวังในการได้รับชำระคืนสำหรับหุ้นกู้ไม่มีประกันที่ปรับดีขึ้นจากการที่หนี้มีหลักประกันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อันดับเครดิตของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น ยังคงสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมที่มีความแข็งแกร่งทางการตลาดในธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband) และธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมทั้งความคาดหวังว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจะยังคงให้การสนับสนุนแก่บริษัทอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกดังกล่าวมีข้อจำกัดจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจหลัก รวมถึงเงินลงทุนในระดับสูงสำหรับธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและโทรศัพท์เคลื่อนที่ แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาความแข็งแกร่งในกลุ่มธุรกิจหลักไว้ได้ ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับเพิ่มขึ้นหากผลการดำเนินงานในธุรกิจหลักปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานหรือโครงสร้างเงินทุนของบริษัทสร้างแรงกดดันให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับเพิ่มสูงเกินกว่า 66% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ในเดือนกันยายน 2557 บริษัทได้รับเงินจำนวน 6.5 หมื่นล้านบาทจากการขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมและ China Mobile International Holdings Ltd. (China Mobile) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเชิงกลยุทธ์รายใหม่และเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีฐานลูกค้าใหญ่ที่สุดในโลก โดยบริษัทได้นำเงินจากหุ้นเพิ่มทุนไปชำระคืนหนี้มีหลักประกันประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งภายหลังจากการเพิ่มทุน สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ก็ลดลงมาอยู่ที่ 51% จาก 60% ในขณะที่ China Mobile มีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทอยู่ที่ 18% ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 95% ณ เดือนมิถุนายน 2557 มาอยู่ที่ระดับ 50%-55% ณ เดือนกันยายน 2557 และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 20% จาก 8%-11% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ การปรับลดลงของค่าใช้จ่ายทางการเงินและการหมดความกังวลเกี่ยวกับการรักษาอัตราส่วนทางการเงินตามสัญญาเงินกู้น่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัท อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ China Mobile น่าจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง บริษัทก่อตั้งในปี 2533 และมีธุรกิจหลัก 3 กลุ่มซึ่งประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจทรูออนไลน์ (TrueOnline) ซึ่งให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศ กลุ่มธุรกิจทรูโมบาย (True Mobile) ซึ่งให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และกลุ่มธุรกิจทรูวิชั่นส์ (TrueVisions) ซึ่งให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก บริษัทมีรายได้ในปี 2556 อยู่ที่ 9.62 หมื่นล้านบาท โดยธุรกิจทั้ง 3 กลุ่มสร้างรายได้ให้บริษัทในสัดส่วน 24% 66% และ 10% ตามลำดับ ในขณะที่สัดส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 62% 29% และ 9% ตามลำดับ บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง โดยกลุ่มธุรกิจทรูออนไลน์มีสัดส่วนทางการตลาดจากรายได้การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศประมาณ 40% และประมาณ 68% ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล บริษัทยังเป็นผู้ให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกรายใหญ่ที่สุด รวมทั้งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลำดับที่ 3 ของประเทศด้วย ณ เดือนมิถุนายน 2557 กลุ่มธุรกิจทรูวิชั่นส์มีลูกค้าที่เป็นสมาชิกรายเดือนประมาณ 818,000 ราย และที่ไม่เป็นสมาชิกรายเดือนประมาณ 1.5 ล้านราย ส่วนกลุ่มทรูโมบายมีสัดส่วนรายได้ทางการตลาดจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ที่ประมาณ 16% ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทยังสะท้อนถึงความคาดหวังว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีกลุ่มธุรกิจที่หลากหลายจะให้การสนับสนุนแก่บริษัทอย่างต่อเนื่อง สถานะทางการเงินของบริษัทในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับประมาณการของทริสเรทติ้ง บริษัทมีรายได้ที่เติบโตในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 และเต็มปี 2556 อยู่ที่ 5.3% และ 7.6% ตามลำดับเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยรายได้จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานและบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก อัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 25.7% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 เปรียบเทียบกับ 17% ในปี 2556 เนื่องจากต้นทุนค่าธรรมเนียมที่ลดลงจากการให้บริการภายใต้โครงข่ายคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ทซ์ ส่วนผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจทรูวิชั่นส์ยังคงได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันกับผู้ประกอบการเคเบิล ดาวเทียม และโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ในช่วงปี 2557-2560 จากสมมติฐานพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 9.9 หมื่นล้านบาทถึง 1.09 แสนล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 2%-4% ต่อปี โดยรายได้จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานและบริการด้านข้อมูลในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก อัตราส่วนกำไรของบริษัทน่าจะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันจากการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง แต่น่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2558 หลังจากที่โครงข่าย 2จี หยุดให้บริการ ทั้งนี้ บริษัทน่าจะสามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้ประมาณ 1.3-2 หมื่นล้านบาทต่อปี ในส่วนของค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนซึ่งรวมถึงใบอนุญาต 3จี คลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิร์ทซ์นั้นคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.65 หมื่นล้านบาทในปี 2557 และ 2.5 หมื่นล้านบาทในปี 2558 จากนั้นคาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาทต่อปีในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 60% บริษัทมีความเสี่ยงด้านการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในระดับปานกลาง ซึ่งสะท้อนจากสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งที่ถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ประเด็นกังวลหลักคือค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนที่อาจสูงกว่าประมาณการ โดยเฉพาะในธุรกิจทรูออนไลน์ เนื่องจากบริษัทอาจมีความจำเป็นต้องลงทุนในโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานเพื่อทดแทนโครงข่ายปัจจุบันภายใต้สัญญาสัมปทานที่จะหมดอายุลงในปี 2560 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) อันดับเครดิตองค์กร: BBB+ อันดับเครดิตตราสารหนี้: TRUE14NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 BBB+ TRUE15NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 BBB+ TRUE15NB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 BBB+ TRUE16OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 BBB+ TRUE174A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 BBB+ TRUE177A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 11,213 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 BBB+ TRUE183A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 BBB+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ