คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาส่งรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่องถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ข่าวทั่วไป Tuesday October 14, 2014 11:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ชี้แจงกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติให้ส่งรายการไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่องถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีรายละเอียดดังนี้ ตามที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 มีมติชี้มูลความผิดนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่ามีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 178 และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 (1) กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล อันเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 270 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 58 ให้ส่งรายงานและเอกสาร ที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 273 ต่อไปนั้น ในระหว่างการจัดทำรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อส่งไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อให้ดำเนินการถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 นั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และได้มีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 สิ้นสุดลง ยกเว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ในวันนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ประชุมเพื่อพิจารณาว่า จะส่งรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง ที่ดำเนินการแล้วเสร็จดังกล่าวไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ดำเนินการถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม แต่การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีประกาศให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ยังมีผลใช้บังคับต่อไป ทั้งต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งมาตรา 6 ได้บัญญัติให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าสองร้อยยี่สิบคน ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติด้วยเสียงข้างมากให้ส่งรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่องถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมเอกสารและความเห็นไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ