กลต.แถลงการณ์กรณี DTT กล่าวหาการดำเนินการ

ข่าวทั่วไป Tuesday December 1, 1998 14:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--1 ธ.ค.--กลต.
ตามที่ Mr. Robert A. Campbell, the Managing Partner ประจำภาคพื้นเอเซีย แปซิฟิก ของ Deloitte Touche Tohmatsu (DTT) ได้มีแถลงการณ์เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2541 กล่าวหาการดำเนินการของสำนักงานเกี่ยวกับการสั่งพักการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชี ซึ่งเป็นหุ้นส่วนอาวุโสของ บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด ว่า สำนักงานไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ และการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชี และเห็นว่าการดำเนินการของสำนักงาน ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยมีประเด็นกล่าวหาสรุปได้ว่า
(1) สำนักงานเข้าใจผิดเกี่ยวกับมาตรฐานการบัญชี ที่เป็นที่ยอมรับในประเทศไทยในขณะที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบ
(2) สำนักงานไม่ยอมรับบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน และ
(3) สำนักงานไม่ให้เวลาแก่ผู้สอบบัญชีอย่างเพียงพอในการชี้แจง นั้นสำนักงานขอชี้แจงดังนี้
1. ประเด็นเรื่องสำนักงานเข้าใจผิดเกี่ยวกับมาตรฐานการบัญชีที่เป็นที่ยอมรับในประเทศไทยในขณะที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบ สำนักงานขอชี้แจงว่า ในการพิจารณาผลการปฏิบัติงานของ ผู้สอบบัญชีและการพิจารณาคำอุทธรณ์ สำนักงานได้อาศัยความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการบัญชีและการสอบบัญชีหลายคน ทั้งภายในและภายนอกสำนักงาน ซึ่งบุคคลดังกล่าวมีประสบการณ์ในวิชาชีพบัญชีและสอบบัญชี โดยการพิจารณาดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป และมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไปที่มีผลใช้บังคับในขณะที่ผู้สอบบัญชีทำการตรวจสอบ สำหรับกรณีผู้สอบบัญชีรายนี้ สำนักงานเห็นว่าผู้สอบบัญชีมีการปฏิบัติงานที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการสอบบัญชี ดังนี้
1.1 การไม่ตรวจสอบนโยบายการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม แก่กิจการที่เกี่ยวข้องกัน ตามมาตรฐานการสอบบัญชี ฉบับที่ 36 เรื่อง การตรวจสอบรายการบัญชีกับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน ในขณะที่บริษัทเงินทุน เอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) มีการให้กู้ยืม และรับชำระคืนแก่กิจการที่เกี่ยวข้องกัน ในจำนวนที่มีสาระสำคัญในระหว่างงวดและยังมีการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่กิจการที่เกี่ยวข้องกันต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่กิจการอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกันอย่างมีสาระสำคัญ ทั้งที่รายการดังกล่าวเป็นการให้กู้ยืมในวันเดียวกัน ดังนั้น เมื่อมีรายการที่มีลักษณะผิดปกติเกิดขึ้น ผู้สอบบัญชีจึงควรตรวจสอบนโยบายการคิดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจเป็นช่องทางในการถ่ายเทผลประโยชน์ระหว่างกิจการที่เกี่ยวข้องกันได้
1.2 การไม่ตรวจสอบการจัดประเภทเงินลงทุน เพื่อให้มั่นใจว่า บง.เอกธนกิจฯ จัดประเภทเงินลงทุนถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 17 เรื่อง การบัญชีเกี่ยวกับเงินลงทุน ซึ่งผู้สอบบัญชีได้อ้างว่า บง. เอกธนกิจฯ มีเงินลงทุนในหุ้นทุนเพื่อการลงทุนเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีหุ้นทุนเพื่อค้า แต่จากหลักฐานที่ปรากฏ สำนักงานพบว่า ในบางช่วงเวลา บง. เอกธนกิจฯ มีรายการซื้อขายหุ้นทุนบางหุ้นอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเข้าข่ายเป็นเงินลงทุนระยะสั้น
1.3 การไม่แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไข กรณีที่ บง. เอกธนกิจฯ บันทึกบัญชีเงินลงทุนในบริษัทย่อยไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 17 เรื่อง การบัญชีเกี่ยวกับเงินลงทุน แต่ได้รับการผ่อนผันจาก ธปท. การบันทึกบัญชีที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีทำให้ในปี 2535 บง. เอกธนกิจฯ แสดงผลการดำเนินงานสูงกว่าความเป็นจริง 1,522 ล้านบาท หรือร้อยละ 177 ของกำไรสุทธิ และหาก บง. เอกธนกิจฯ แก้ไขงบการเงินย้อนหลังให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 4 เรื่อง การเปลี่ยนแปลงทางบัญชี จะทำให้กำไรสุทธิของปี 2539 เพิ่มขึ้นประมาณ 119 ล้านบาท หรือร้อยละ 8 ของกำไรสุทธิ และกำไรสะสมจะลดลง 1,009 ล้านบาท
1.4 การไม่แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไข กรณีที่บริษัทอีกแห่งหนึ่งไม่เปิดเผยภาระ ผูกพันและหนี้สินที่อาจจะเกิดขึ้นให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 23 เรื่อง ข้อมูลที่ควรเปิดเผย ในงบการเงิน ทำให้ผู้ลงทุนไม่ได้รับทราบข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน เกี่ยวกับภาระผูกพันที่เกิดจากการที่บริษัทดังกล่าวร่วมรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ในต่างประเทศ และมีหลักทรัพย์เหลือจากการจำหน่าย แต่บริษัทไม่สามารถรับซื้อเข้าบัญชีตนเองได้ บริษัทจึงทำสัญญาร่วมรับผลกำไรหรือขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงราคาตลาดของหลักทรัพย์ดังกล่าวที่อยู่ในบัญชีของบริษัทอื่น ทั้งนี้ บริษัทบันทึกผลขาดทุนบางส่วน ซึ่งผู้สอบบัญชีเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวเพียงพอแล้ว แต่สำนักงานเห็นว่า ในขณะที่บริษัทยังมีภาระผูกพันส่วนที่เหลือที่อาจต้องรับรู้อีก ผู้สอบบัญชีจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเปิดเผยให้ผู้ใช้งบการเงินได้ทราบภาระผูกพันที่ไม่เปิดเผยดังกล่าวซึ่งคิดเป็นร้อยละ 29 ของขาดทุนสุทธิ
ทั้งนี้ ข้อบกพร่องในการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีข้างต้น ล้วนเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี และมาตรฐานการสอบบัญชีที่มีผลใช้บังคับในขณะที่ตรวจสอบทั้งสิ้น และสำนักงานได้แจ้งรายละเอียดให้ผู้สอบบัญชีทราบแล้ว
2. ในประเด็นว่า สำนักงานไม่ยอมรับบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน สำนักงานเข้าใจว่า เป็นข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับข้อบกพร่องของผู้สอบบัญชีที่กล่าว ในข้อ 1.3 สำนักงานขอชี้แจงว่า สำนักงานตระหนักดีว่า ธปท. มีอำนาจตามกฎหมายในการกำหนดให้กิจการภายใต้การกำกับดูแลถือปฏิบัติ อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ ธปท. กำหนดวิธีปฏิบัติทางบัญชีหรือผ่อนผันให้กิจการจัดทำงบการเงินที่ไม่เป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปและกิจการได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือการผ่อนผันนั้น ผู้สอบบัญชีจำเป็นต้องแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขต่องบการเงินว่า กิจการไม่ได้จัดทำงบการเงินตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของผู้สอบบัญชีอยู่แล้วในการแสดงความเห็นต่องบการเงินใดๆ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ใช้งบการเงินได้ระมัดระวังในการนำงบการเงินไปใช้เปรียบเทียบกับงบการเงินของบริษัทอื่น ที่ปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี
3. ในประเด็นว่า สำนักงานไม่ให้เวลาอย่างเพียงพอ ในการชี้แจง สำนักงานขอชี้แจงว่า ในขั้นตอนการพิจารณาก่อนการสั่งพักการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชี และในขั้นตอนการอุทธรณ์คำสั่งของสำนักงาน สำนักงานได้ให้โอกาสผู้สอบบัญชีชี้แจงทั้งที่เป็นการชี้แจงด้วยวาจา และการชี้แจงที่เป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งสิ้นถึง 5 ครั้ง และในกรณีที่ผู้สอบบัญชีขอผ่อนผันระยะเวลาการชี้แจง สำนักงานก็ได้พิจารณาผ่อนผันให้ด้วยดี ทั้งนี้สำนักงานใช้ขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาผลการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีอย่างละเอียด และรอบคอบแล้ว นอกจากนี้ หากผู้สอบบัญชีมีความประสงค์จะชี้แจงประเด็นอื่น เพิ่มเติมนอกเหนือจากการชี้แจงภายในระยะเวลาข้างต้น ผู้สอบบัญชีย่อมแจ้งความประสงค์ให้สำนักงานทราบได้ จากการกล่าวหาของ Mr. Robert A. Campbell ข้างต้น สำนักงานจะมีหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานใหญ่ของ DTT ว่า ความเห็นที่ Mr. Robert A. Campbell แถลงและกล่าวหาสำนักงานนั้นได้รับความเห็นชอบจาก DTT หรือไม่ และหากเป็นคำแถลงที่ได้รับความเห็นชอบจาก DTT แล้ว สำนักงานก็รู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งว่า DTT ซึ่งเป็นสำนักงานสอบบัญชีที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก มิได้พิจารณาที่จะนำข้อบกพร่องที่สำนักงานตรวจพบและได้แจ้งให้ผู้สอบบัญชีทราบ ไปสอบทานการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีเพื่อปรับปรุงคุณภาพการปฏิบัติงานของสำนักงานสอบบัญชีในสังกัด ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่รับรองทั่วไป อย่างไรก็ดี หากแถลงการณ์ของ Mr. Robert A. Campbell ที่ว่า มาตรฐานการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีไม่บกพร่องและเป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติงานสากลของ DTT โดยแถลงการณ์ดังกล่าวได้กระทำขึ้นภายหลังการสอบทานการทำงานของผู้สอบบัญชีในข้อบกพร่องที่สำนักงานแจ้งแล้ว สำนักงานก็มีความกังวลถึงมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ DTT ถือปฏิบัติอยู่ทั่วโลกและอาจเป็นเหตุให้สำนักงานพิจารณานำเรื่องดังกล่าว เป็นหัวข้อหารือกับองค์กรที่กำกับดูแลด้านหลักทรัพย์ และด้านการบัญชี ในระดับนานาชาติ อาทิ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) และ International Federation of Accountants (IFAC)
อนึ่ง สำนักงานขอยืนยันอีกครั้งว่า สำนักงานตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของผู้สอบบัญชีในการให้ความเห็นเกี่ยวกับความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของงบการเงินของกิจการ โดยเฉพาะกิจการที่มีหลักทรัพย์ในมือประชาชนทั่วไป และจะติดตามการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีต่อไปอย่างสม่ำเสมอในการยกกรณีของผู้สอบบัญชีรายใดขึ้นดำเนินการ สำนักงานจะพิจารณาจากกรณีที่เห็นว่า อาจมีความบกพร่องในการปฏิบัติงานสอบบัญชีที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุนในวงกว้าง โดยมิได้เลือกปฏิบัติและมิได้นำปัจจัยเรื่องประสบการณ์ ชื่อเสียง และเกียรติยศ ของบุคคลที่ถูกตรวจสอบขึ้นมาเป็นประเด็นในการพิจารณา และการสั่งพักการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีรายใดก็เป็นมาตรการหนึ่ง สำหรับผู้สอบบัญชีที่ปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ โดยมิได้มีประเด็นในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต (integrity) ของบุคคลแต่อย่างใด
สอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. (http://www.sec.or.th) สำนักเลขาธิการ ชั้น 16 อาคารดีทแฮล์ม ทาวเว่อร์สบี 93/1 ถนนวิทยุ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทรศัพท์ 252-3223 ต่อ 1619, 256-7732 โทรสาร 256-7755 E-mail : info@sec.or.th-- จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ