ซิตี้แบงก์ ครองตำแหน่งผู้นำตลาดบัตรเครดิตในทวีปเอเซียแปซิฟิก ด้วยยอดสมาชิกกว่า 5 ล้านราย

ข่าวเทคโนโลยี Monday March 31, 1997 16:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--31 มี.ค.--ซิตี้แบงก์
เป็นธนาคารแรกที่นำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการขยายเครือข่ายบริการลูกค้าทั่วภูมิภาค
รายงานข่าวจากธนาคารซิตี้แบงก์ สาขากรุงเทพฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบันธนาคารฯ มีสมาชิกผู้ถือบัตรเครดิตในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกกว่า 5 ล้านราย ซึ่งมากกว่าคู่แข่งที่ตามมาเป็นอันดับสองถึงเกือบสองเท่าตัว และคาดว่า ลูกค้าบัตรเครดิตของธนาคารจะยังคงขยายตัวเพิ่มขี้นอีกกว่าสองเท่าตัวภายในปี 2543 นอกจากนี้ ซิตี้แบงก์ยังเป็นธนาคารผู้ออกบัตรเครดิตระหว่างประเทศรายใหญี่ที่สุดในโลกอีกด้วย โดยมีสมาชิกผู้ถือบัตรอยู่เป็นจำนวนกว่า 60 ล้านใบ ทั่วโลก
มร.โฮเวร์ด แบนเวลล์ ผู้บริหารแผนกบุคคลธนกิจของธนาคารซิตี้แบงก์ประจำภูมิภาคเอเซียใต้ กล่าวว่า "การมีลูกค้ากว่าห้าล้านรายเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่า ซิตี้แบงก์ของเราประสบความสำเร็จ ทั้งที่ธนาคารฯ เพิ่งเริ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจด้านบัตรเดรดิตเมื่อปี 2532 นี้เอง ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้ธุรกิจของเราเติบโตอย่างรวดเร็วก็คือ ความมุ่งมั่นสร้างสรรค์สิทธิประโยชน์และบริการใหม่ ๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง"
ผู้บริโภคสู่ยุคไร้พรมแดน
เอเซียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่อุตสาหกรรมการเดินทางมีอัตราการเติบโตรวดเร็วที่สุดในโลกและคาดว่าความต้องการด้านการเดินทางทางอากาศจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมากอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ในระดับเฉลี่ยร้อยละ 8.6 ต่อปี ระหว่างปี 2536-2543 ในปี 2536 มีการเดินทางภายในภูมิภาคคิดเป็นร้อยละ 63 ของการเดินทางระหว่างประเทศทั้งหมด และคาดว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มเป็นร้อยละ 67 ในปี 2553 (ข้อมูลจาก TravelNews Asia วันที่ 12-25 สิงหาคม 2539)
ตลาดบัตรเครดิตของธนาคารซิตี้แบงก์ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปากีสถาน ซาอุดิอาระเบีย ไทย ไต้หวัน ตุรกี และสาธารณรัฐอาหรับอิมิเรสต์
มร.ราจิฟ โจริ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ประจำภูมิภาคกล่าวว่า "คนเอเซียกำลังเดินทางกันมากขึ้น ภูมิภาคนี้จะกลายเป็นเหมือนตลาดเดียว ผู้บริโภคจะแตกต่างกันน้อยลงเรื่อย ๆ การทำธุรกรรมด้วยบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ทั่วภูมิภาคนี้ประมาณร้อยละ 25 จะเกิดขึ้นในต่างประเทศ ขณะที่ปริมาณการใช้บริการสายด่วนโทรฟรีต่างประเทศตลอด 24 ชั่วโมงของเราเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุก ๆ 6-9 เดือน"
บริการที่เหมือนกันในทุก ๆ ประเทศ
มร.จอห์น ลอริเมอร์ เป็นหัวหอกของคณะทำงาน กล่าวว่า "เราเป็นธนาคารแห่งแรกที่ริเริ่มในการตอบสนองต่อแนวโน้มด้านการเดินทางของลูกค้าด้วยการเปิด "บริการระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นบริการที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของซิตี้แบงก์ โดยลูกค้าทุกคนจะได้รับการเอาใจใส่ดูแลเป็นรายบุคคลในขณะที่เดินทางในต่างประเทศเหมือนเช่นที่ได้รับเมื่อยู่ในประเทศของตน"
วันนี้ที่ธนาคารซิตี้แบงก์ ข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีของลูกค้าอยู่ในระบบ "On-Line" ดังนั้น สามารถตรวจสอบดูได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ข้อมูลที่เข้าไปดูนั้นจะเป็นข้อมูลล่าสุดถึง ณ เวลา นั้น ๆ ทีเดียว (Real-Time) ทำให้ไม่ต้องใช้โทรศัพท์และแฟกซ์ติดต่อไปมาระหว่างสาขาในแต่ละประเทศ ซึ่งทำให้บริการล่าช้ากว่าและเกิดความผิดพลาดได้
"นี่คือสิทธิประโยชน์ที่แท้จริงสำหรับลูกค้า" มร.ลอริเมอร์ ซึ่งเป็นผู้จัดการใหญ่ของธุรกิจบัตรเครดิตที่อินโดนีเซียด้วยอีกตำแหน่ง กล่าวเสริม "ลูกค้าของเราต้องการความรวดเร็วทันใจเมื่อพวกเขาตกอยู่ในสถานการณ์คับขันอย่างเช่นบัตรเครดิตสูญหายในต่างประเทศ เวลาทุกชั่วโมงนาทีมีความหมายอย่างยิ่ง"
มร.หลิม ลี่ อัน ลูกค้าชาวสิงคโปร์ผู้ซึ่งทำบัตรเครดิตหายขณะกำลังท่องเที่ยวอยู่ที่จาร์กาตา เล่าถึงการให้บริการในส่วนนี้ของซิตี้แบงก์ว่า "ผมแปลกใจมากเลย หลังจากที่ผมใช้เวลาสองนาทีแจ้งเหตุไปที่สิงคโปร์ว่าบัตรหาย ผมก็ได้รับบัตรเครดิตที่ซิตี้แบงก์ในอินโดนีเซีย ออกให้ใหม่และส่งมาให้ที่โรงแรมภายในเวลาไม่ถึงสิบสองชั่วโมง"
ความมั่นใจที่ได้รับจากระบบเครือข่ายทั่วโลก
"ในอดีต ธนาคารผู้ออกบัตรทุกแห่งจำเป็นต้องพึ่งพาใช้บริการส่งเอกสารด่วนในการส่งบัตรใหม่ ให้แก่นักเดินทางท่องเที่ยวที่ไปทำบัตรหายในต่างประเทศ และจะดำเนินการให้เฉพาะในช่วงวันจันทร์-วันศุกร์เท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ ซิตี้แบงก์สามารถส่งข้อมูลที่จำเป็นทุกอย่างตรงไปยังตลาดหลัก ๆ ได้อย่างง่ายดายผ่านทางเครือข่ายของเรา ซึ่งส่งผลให้สำนักงานสาขาท้องถิ่นของซิตี้แบงก์สามารถออกบัตรใหม่ที่นำไปใช้ได้ทันทีเหมือนใบเก่าภายในเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง"
มร.อาจิต คานาการสุนด์ราม ผู้อำนวยการศูนย์บัตรประจำภูมิภาคของซิตี้แบงก์ อธิบาย "เราเป็นผู้ออกบัตรรายแรกและรายเดียวที่สามารถให้บริการในลักษณะนี้แก่ลูกค้า"
เพื่อเป็นการรองรับจำนวนลูกค้าที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วและธุรกรรมระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซิตี้แบงก์ได้ทุ่มเงินลงทุนรวม 60 ล้านเหรียญสหรัฐ สร้างศูนย์คอมพิวเตอร์ประจำภูมิภาคที่สิงคโปร์เมื่อสองปีก่อน โดยศูนย์นี้จะรับหน้าที่ประมวลผลข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจบัตรเครดิตทั้งหมดครอบคลุม 14 ประเทศ จากตุรกีไปถึงฮ่องกงและถึงออสเตรเลียในแบบ "On-Line Real-Time" ตลอด 24 ชั่วโมง
บริการระหว่างประเทศ
มร.สตีเวน ปินโต ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดบัตรซิตี้แบงก์ประจำภูมิภาค กล่าวว่า "ลูกค้ามองเห็นคุณค่าของเครือข่ายระดับโลกของเราและคาดหวังว่าจะได้รับบริการแบบรายบุคคลที่มีคุณภาพสูงจากเรา ซึ่งรวมถึงความสามารถในการเบิกเงินสดหรือชำระค่าใช้จ่ายประจำเดือนไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด"
นอกจากบริการ "ทำบัตรใหม่ภายในวันรุ่งขึ้น" แล้ว "บริการระหว่างประเทศ" ยังนำเสนอบริการให้ลูกค้าขณะอยู่ในต่างประเทศเหมือนเช่นที่ลูกค้าได้รับขณะอยู่ที่บ้านทุกประการอาทิ
- เบิกเงินสดฉุกเฉิน (สูงสุด 1,000 เหรียญสหรัฐหรือเทียบเท่าต่อวัน และ 2,000 เหรียญสหรัฐ สำหรับผู้ถือบัตรทอง) แม้ในขณะที่ยังไม่ได้รับบัตรใหม่ และเอกสาร ประจำตัวต่าง ๆ สูญหายหมด
- ลูกค้าสามารถแวะที่สาขาของซิตี้แบงก์ระหว่างเดินทางท่องเที่ยวในอีกประเทศหนึ่ง ทำการชำระเงินค่าใช้จ่ายประจำเดือนขณะอยู่ต่างประเทศหรือสอบถามยอดวงเงินคงเหลือ ที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้เหล่านี้ เป็นบริการที่ไม่มีผู้ออกบัตรรายใดสามารถทำได้ นอกจากซิตี้แบงก์เพียงแห่งเดียว
- และซิตี้แบงก์เป็นผู้ออกบัตรรายแรกในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกที่ให้บริการย้ายภูมิลำเนาใหม่แก่ลูกค้า โดยจะทำการอนุมัติและออกบัตรสำหรับใช้ ณ ที่อยู่ใหม่ให้ทันที จากการสำรวจพบว่า มีลูกค้าที่ต้องการใช้บริการนี้เพิ่มขึ้นในอัตรา ร้อยละ 15 ทุกปี
ซิตี้แบงก์เริ่มเสนอบริการระหว่างประเทศในลักษณะโครงการนำร่องในภูมิภาคนี้ ซึ่งลูกค้าสามารถเรียกใช้ผ่านทางบริการ Phone Home โทรฟรีสายตรงระหว่างประเทศตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะให้คำแนะนะวิธีใช้บริการในภาษาพื้นบ้านของตนเองจากเกือบทุกประเทศทั่วโลก ณ ที่ทำการสาขา 100 แห่ง ทั่วภูมิภาค "ในอีก 18-24 เดือนข้างหน้า" ซึ่งซิตี้แบงก์จะเริ่มเปิดให้บริการทำบัตรใหม่ภายในวันรุ่งขึ้นและบริการเบิกเงินสดฉุกเฉินในกว่า 200 ประเทศทั่วโลก
ซิตี้แบงก์ผู้นำในทวีปเอเซีย
ซิตี้แบงก์ สถาบันการเงินระดับโลกซึ่งมีสาขาในเกือบ 100 ประเทศทั่วโลก เป็นธนาคารแห่งแรกของอเมริกาที่เริ่มเข้ามาดำเนินงานในทวีปเอเซียในปี พ.ศ. 2445 ปัจจุบัน ซิตี้แบงก์มีเครือข่ายกิจการกว้างขวางที่สุดในภูมิภาค ด้วยสำนักงานสาขามากว่า 260 แห่งในกว่า 28 ประเทศ
ธนาคารซิตี้แบงก์เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยโดยการเปิดสำนักงานตัวแทนเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกในปี 2538 ปัจจุบันธนาคารซิตี้แบงก์และบริษัทในเครือซิตี้คอร์ป มีเจ้าหน้าที่ทำงานรวมทั้งสิ้นกว่า 1,300 คน และบริการลูกค้าทั่วประเทศกว่า 500,000 ราย
นายคำราน ชิดดิคิ ผู้จัดการใหญ่ ศูนย์บัตรเครดิตธนาคารซิตี้แบงก์ กล่าวว่า ธนาคารซิตี้แบงก์ภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจบัตรเครดิต โดยธนาคารฯ มีความมุ่งมั่นที่พัฒนาบริการและสิทธิประโยชน์ใหม่ ๆ เพิ่มเติมมอบให้กับสมาชิก เพื่ออำนวยความสะดวกและมั่นใจต่อการบริการในระดับสูงสุด
ปัจจุบันธนาคารซิตี้แบงก์ มีสมาชิกผู้ถือบัตรเครดิตซิตี้แบงก์วีซ่า และซิตี้แบงก์มาสเตอร์คาร์ดในไทย รวมทั้งสิ้นกว่า 500,000 ราย ซึ่งนับว่ามีส่วนแบ่งตลาดบัตรเครดิตสูงสุดในประเทศไทยเช่นเดียวกัน
ในปี 2539 บัตรซิตี้แบงก์ทำกำไรให้ธนาคารฯ รวม 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 26 ของยอดกำไรจากการดำเนินงานทั่วโลกจำนวน 3,800 ล้านเหรียญสหรัฐของธนาคารฯ และนับเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุดของธนาคารฯ ด้วยเช่นกัน--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ