สมิติเวช รณรงค์ป้องกันมะเร็งเต้านม "October Go Pink : FIND IT NOW. STOP IT NOW." รู้ก่อน รักษาได้ โอกาสหายขาดสูง ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แพทย์เผยผู้หญิงเป็นมะเร็งเต้านมสูงขึ้นทุกปี

ข่าวทั่วไป Wednesday October 15, 2014 08:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--โรงพยาบาลสมิติเวช "มะเร็งเต้านม" เป็นโรคร้ายแรงที่คุกคามผู้หญิงทั่วโลก จึงมีการณรงค์ทั่วโลกเพื่อต่อต้านโรคมะเร็งเต้านม ภายใต้แคมเปญ "Pink Ribbon" สำหรับในประเทศไทย โรงพยาบาลสมิติเวช ได้ร่วมรณรงค์ป้องกันมะเร็งเต้านม จัดกิจกรรมพิเศษ "October Go Pink 2014" ปีที่ 4 เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สตรี ป้องกันดูแลรักษาตัวเอง ตลอด 3 ปีที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อย่างล้นหลาม รวมทั้งมีผู้ให้ความสนใจและบริจาคเส้นผมเพื่อนำไปทำวิกมอบให้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ประสบปัญหาผมร่วงอันเป็นผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยเคมีบำบัดกว่า 500 ราย ปีนี้โรงพยาบาลสมิติเวชได้จับมือกับ สถานี เมท เรดิโอ ร้าน Pinn Shop มาร์ค ธาวิน สถาบันนิวลาวัณ แฮร์เซ็นเตอร์ สายรัดข้อมืออัจฉริยะเพื่อสุขภาพ UP by Jawbone และสถาบันจุฬาภรณ์ รับบริจาคเส้นผมเพื่อผลิตเป็นวิกผมเพื่อมอบให้แก่สถาบันจุฬาภรณ์ กิจกรรมการถักหมวกเพื่อมอบให้แก่ผู้ป่วยที่มีปัญหาผมร่วง และเย็บถุงเดรน สำหรับผู้ป่วยใช้หลังผ่าตัด ที่ รอยัลวิง อาคาร 1 ชั้น 1 โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา ภายในงาน "October Go Pink 2014" ได้มีการให้ความรู้วิธีการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง วิธีตรวจเบื้องต้น รวมถึงการนำทีมพยาบาลผู้เชี่ยวชาญมาสอนวิธีการตรวจเต้านมเบื้องต้นด้วยตนเองให้แก่ผู้ที่สนใจอีกด้วย และการรับบริจาคเส้นผม โดยมี มาร์ค ธาวิน ช่างผมแนวหน้าของไทย บริการตัดผมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริจาค ในงานได้มีเซเลบริตี้ใจบุญ หนิง ศรัยฉัตร กุญชรฯ จีระแพทย์ และโบ๊ต จามร จีระแพทย์ พาน้องเบลล่า กุญช์จารี จีระแพทย์ ลูกสาววัย 7 ปี มาบริจาคผมครั้งนี้ด้วย แม่หนิง-ศรัยฉัตร บอกว่า หนิงเคยบริจาคให้กับกิจกรรม "October Go Pink" เมื่อ 3 ปีที่แล้ว พอกลับมาบ้านลูกเห็นเราตัดผมก็ถามว่าทำไมถึงตัด จึงเล่าให้เขาฟังว่า ผมที่ตัดนำไปให้คนป่วย เขาก็บอกว่าอยากทำเหมือนแม่ 3 ปีที่ผ่านมาเขาโตขึ้นและเข้าใจมากขึ้น ซึ่งยังมีความมุ่งมั่นในการบริจาคผมมาตลอด ทำให้น้องเบลล่าไม่ตัดผมเป็นเวลา 3 ปี โดยเราก็ช่วยดูแลสุขภาพเส้นผมให้เขา เพื่อส่งต่อให้กับผู้ป่วยที่ต้องการต่อไปค่ะ นอกจากที่เขาจะได้ทำบุญแล้ว เขายังได้รู้จักการให้กับผู้อื่นด้วยค่ะ นอกจากนี้ ยังมีพนักงานสมิติเวช ได้มาร่วมตัดผมบริจาค โดยผมที่บริจาคทั้งหมดจะนำไปมอบให้กับสถาบันนิวลาวัณ แอร์เซ็นเตอร์ ในการทำวิกผมต่อไป ด้าน มาร์ค ธาวิน ช่างผมแนวหน้าของไทย บอกว่า รู้สึกอิ่มบุญและดีใจมากที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมครั้งนี้ และเต็มใจที่จะทำต่อไปเรื่อยๆ โดยทางร้านจะรับบริจาคเส้นผม ด้วยการให้ลูกค้ารับบริการตัดผมได้ฟรี ที่ผ่านมาก็มีทั้งผู้หญิงและผู้ชายเข้ามาร่วมบริจาคเพื่อให้ผู้ป่วยได้มีวิคผมใส่ และเชื่อว่าเส้นผมจะเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วยครับ ในส่วนของการให้ความรู้ นายแพทย์ ดุลย์ ดำรงค์ศักดิ์ รองประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม 2 และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท กล่าวว่า สถิติล่าสุดพบว่าโรคมะเร็งเต้านม เป็นโรคที่พบได้เป็นอันดับ 1 สำหรับผู้หญิงไทยและพบมากในกลุ่มสตรีที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยสตรีส่วนใหญ่ที่เป็นโรคนี้มักจะรู้ตัวและมาพบแพทย์ในระยะที่โรคลุกลามแล้ว สมิติเวช มีนโยบายส่งเสริมการป้องกันโรค จัดกิจกรรมให้ความรู้ วิธีการป้องกัน รวมถึงการใช้ชีวิตอย่างถูกต้องเมื่อเป็นโรคนี้ สมิติเวชริเริ่มศูนย์เต้านม พร้อมให้บริการรักษาโรคมะเร็งด้วยการผ่าตัด รักษาและเคมีบำบัดอย่างครบวงจรด้วยมาตรฐานระดับสากล ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย พร้อมให้บริการคนไข้ทั้งในและต่างประเทศ และด้วยความรู้ ความชำนาญ รวมถึงความมุ่งมั่นของเรา สมิติเวชจะขอเป็นส่วนหนึ่งในส่งเสริมให้ผู้หญิงตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลตัวเองและคนในครอบครัวให้ห่างไกลโรคมะเร็งเต้านมอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี เพราะการที่เรารู้ก่อน รักษาได้ มีโอกาสหายขาดสูง ด้าน นายแพทย์ วิชัย วาสนสิริ ศัลยแพทย์ - ผ่าตัดมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท เผยว่า 80% ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมนั้นตรวจพบครั้งแรกด้วยตนเอง ดังนั้นการตรวจมะเร็งเต้านม จึงควรทำทุกๆ เดือน ซึ่งเวลาที่ดีที่สุดที่คุณหมอแนะนำคือ 7 ถึง 10 วันหลังจากหมดประจำเดือน เพราะเป็นช่วงเต้านมไม่คัดตึง ทำการตรวจได้ง่าย ส่วนสตรีที่หมดประจำเดือนแล้วควรกำหนดวันที่จำง่าย และตรวจให้ตรงตามวันที่กำหนดไว้ทุกเดือน สำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรจะตรวจละเอียดด้วยเครื่องแมมโมแกรม 3 มิติ และอัลตราซาวนด์เป็นประจำทุกปี “จำนวนผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี สาเหตุที่แท้จริงยังไม่มีการค้นพบ คาดว่าอาจเกิดจากการเลือกรับประทานอาหาร โดยผู้หญิงแถบเอเชียมีความจำเป็นในการตรวจสูง เพราะมีความหนาแน่นของเนื้อนมค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง ก็จะมีโอกาสเป็นมะเร็งสูงด้วยเช่นกัน สิ่งที่แนะนำได้ก็คือ ควรใช้ชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดี ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เฝ้าระวังด้วยการตรวจเป็นประจำ เพราะหากค้นพบได้ระยะแรกก็จะสามารถรักษาให้หายขาดได้” นายแพทย์ วิชัย เผย นายแพทย์ วิชัย ได้นำเสนอนวัตกรรมใหม่ในการตรวจเลือดหาสิ่งผิดปกติทางพันธุกรรม BRCA1 และ BRCA2 (Breast cancer susceptibility gene 1 และ Breast cancer susceptibility gene 2) ซึ่ง ยีน 2 ตัวนี้ เป็นกลุ่มของยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญของเซลล์ซ่อมแซม DNA ที่เสียหายให้กลับสู่ปกติ เมื่อรหัส DNA ของยีน 2 ตัวนี้ผิดปกติไป DNA ที่เสียหายไม่ได้รับการซ่อมแซม โอกาสเกิดมะเร็งเต้านมและรังไข่จึงเพิ่มสูงขึ้นการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมและรังไข่ โดยการตรวจยีน BRCA1 และ BRCA2 รวมถึงการตรวจยีนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งหมด 21 ยีน จะสามารถช่วยประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ได้ “ผู้หญิงที่ได้รับถ่ายทอดยีน BRCA1 และ BRCA2 ที่กลายพันธุ์มาจากครอบครัวจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ได้ แพทย์จะแนะนำให้ตรวจความผิดปกติของยีนนี้ การตรวจเจอความผิดปกติของยีนนี้ ทำให้แพทย์สามารถลดความเสี่ยงและความรุนแรงของการเกิดมะเร็งได้ เช่น การผ่าตัดเต้านมและรังไข่ออกเพื่อป้องกันมะเร็ง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดอัตราการเกิดมะเร็ง” นายแพทย์ วิชัย กล่าว นอกจากนี้ นายแพทย์ วิชัย กล่าวด้วยว่า จากที่มีข่าวสารทางโลกออนไลน์ในเรื่องการตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม จะทำให้ได้รับรังสีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยไม่ยอมรับการตรวจนั้น ต้องบอกว่า การตรวจแมมโมแกรมจะทำให้ได้รับรังสี 0.4ยูนิต ซึ่งไม่ได้มีความน่ากลัวและเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย และยังเป็นวิธีการที่ใช้ได้ดีในการตรวจอีกด้วย โดยชีวิตประจำวันคนเราต้องเจอกับรังสีที่รอบตัวมากมาย ถ้าเปรียบเทียบแล้วการนั่งเครื่องบินจะทำให้ผู้โดยสารได้รับรังสี 9 ยูนิต และขอยืนยันว่าผู้ป่วยยังจำเป็นในการได้รับการตรวจต่อไป การร่วมมือกันครั้งนี้ สถานี เมท เรดิโอ ในฐานะเป็นสื่อมวลชน ได้พยายามรณรงค์ให้ความรู้เรื่องโรคมะเร็งเต้านมทางสถานี MET 107 อย่างต่อเนื่องตลอดเดือนตุลาคมนี้ ขณะที่ Pinn Shop ได้จัดกิจกรรม Workshop ถักหมวกไหมพรมที่ผลิตจากเยื่อไผ่ ทำให้ระบายอากาศได้ดี และถุงเดรนสำหรับผู้ป่วยใช้หลังผ่าตัด โดยเชิญ แพทย์ พยาบาลของสมิติเวชและเหล่าเซเลบริตี้ ที่มีจิตอาสามาร่วมกิจกรรม เพื่อมอบให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็ง พร้อมกันนี้ยังมี แพทย์และพยาบาล พิธีกร และนักแสดงชื่อดัง อาทิ ศรีริต้า เจนเซ่น หนิง ศรัยฉัตร กุญชรฯ จีระแพทย์, บุ๋ม ปนัดดา วงศ์ผู้ดี, บูม-สุภาพร วงษ์ถ้วยทอง พิธีกรรายการผู้ ญ ถึง ญ, ดีเจเมลิซ่า คอร์ทนีย์, ดีเจคาร์ล่า ปอร์เทอร์, ดีเจปานิตา ฮุมเมล, ดีเจกฤตกมล วุฒิธรรม จาก MET 107 รวมถึงแพทย์และพนังงานของสมิติเวช มาร่วมเดินแบบหมวกไหมพรมและถุงเดรนครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ การออกกำลังกายก็เป็นเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยป้องกันมะเร็งเต้านมได้ ในปีนี้สมิติเวช ได้รับการสนับสนุนจาก UP by Jawbone สายรัดข้อมือและแอ๊พฯ อัจฉริยะที่จะช่วยดูแลให้ผู้ใช้มีสุขภาพที่ดีจากภายในสู่ภายนอก ก่อนจะจบงานด้วยการมอบหมวกไหมพรมและวิกผมจากกิจกรรมครั้งนี้ให้กับทางสถาบันจุฬาภรณ์ในบรรยากาศแห่งการมอบที่อบอุ่น สำหรับผู้สนใจบริจาคเส้นผม หมวกไหมพรม ถุงเดรน สามารถสอบถาม หรือร่วมรณรงค์ต่อต้านมะเร็งเต้านมได้ที่ https://www.facebook.com/SamitivejClub

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ