บ้านปูฯ และมหิดลร่วมบ่มเพาะเยาวชนรุ่นใหม่ “เรียนรู้สู่การปฏิบัติจริง” ใน “ค่ายเพาเวอร์กรีน รุ่น 9” ปลูกจิตสำนึกสิ่งแวดล้อมผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

ข่าวทั่วไป Wednesday October 22, 2014 16:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์ การให้การศึกษาแก่เยาวชนจำเป็นต้องส่งเสริมการเรียนรู้รอบด้าน ที่ไม่จำกัดอยู่เพียงทฤษฎี แต่ควรส่งเสริมให้สามารถวิเคราะห์ แก้ปัญหา และนำมาปฏิบัติจริง เพื่อพัฒนาศักยภาพรอบด้านและหล่อหลอมให้เติบโตขึ้นเป็นคนที่มีคุณภาพต่อสังคมในอนาคต ด้วยเหตุนี้ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงร่วมกันจัดค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมหรือ “ค่ายเพาเวอร์กรีน” เป็นปีที่ 9 ระหว่างวันที่ 12 – 19 ตุลาคม 2557 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนให้เข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมเตรียมรับมืออย่างถูกต้องในรูปแบบ “การเรียนรู้สู่การปฏิบัติจริง” ภายใต้ธีม “เยาวชนไทย เรียนรู้รับมือธรณีพิบัติภัย มหันตภัยใกล้ตัว” สอดคล้องกับเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในปัจจุบัน อาทิ สึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วม และแผ่นดินถล่ม โดยโครงการในปีนี้เป็นการเข้าค่ายของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 สายวิทยาศาสตร์ รวม 70 คน ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากผู้สมัคร 312 คนทั่วประเทศ นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บ้านปูฯ เชื่อว่าการเรียนรู้เป็นพลังสำคัญแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา ดังนั้น การได้ให้โอกาสเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองในหลากหลายรูปแบบจะเป็นการขับเคลื่อนชุมชนและสังคมให้พัฒนาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับปณิธานการดำเนินธุรกิจของเราที่ว่า “อุตสาหกรรมที่ดีจะต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม” ซึ่งบริษัทฯ ยึดมั่นมาตลอด 30 ปีในการดำเนินธุรกิจ ค่ายเพาเวอร์กรีนเป็นหนึ่งในโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมด้านเยาวชน โดยในปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ 9 บ้านปูฯ ได้เปิดโลกทัศน์ให้เยาวชนได้เรียนรู้วิธีรับมือกับธรณีพิบัติภัยอย่างเหมาะสม ดึงศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของตนเองมาใช้ ฝึกการวิเคราะห์ แก้ปัญหา และทำงานเป็นทีม เพื่อนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปต่อยอดเพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเอง และถ่ายทอดไปสู่สังคมต่อไป” รศ. ดร. กัมปนาท ภักดีกุล คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีความโดดเด่นในการเรียนการสอนทั้งด้านวิชาการและภาคปฏิบัติ ผมรู้สึกยินดีที่ได้ร่วมมือกับบ้านปูฯในโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน เพื่อร่วมกันเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจแก่เยาวชน โดยมุ่งให้สามารถรับมือกับปัญหาด้าน “สิ่งแวดล้อม” ด้วยการวิเคราะห์นำกระบวนการทาง “วิทยาศาสตร์” มาใช้ ผ่านการเรียนรู้ทั้งด้านทฤษฎีจากคณาจารย์ของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ อุปกรณ์และเครื่องมือการเรียนการสอนอันทันสมัย ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา ไปจนถึงภาคปฏิบัติจริง” ตลอดระยะเวลา 8 วัน ของค่ายเพาเวอร์กรีน เยาวชนทั้ง 70 คนได้เรียนรู้ถึงลักษณะของภูมิประเทศและกลไกการเกิดธรณีพิบัติภัย สิ่งบอกเหตุ ไปจนถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถรับมือกับกรณีที่เกิดธรณีพิบัติภัยขึ้นจริง ทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และทัศนศึกษานอกสถานที่ จากนั้นเยาวชนได้นำความรู้ที่ได้จากค่ายมาผสมผสานกับไอเดียของตนเองเพื่อสร้างสรรค์เป็นแนวคิดโครงงานกลุ่ม และนำเสนอต่อคณะกรรมการโครงการและประชาชนทั่วไป ในงาน “นิทรรศการค่ายเพาเวอร์กรีน 9” ในวันสุดท้าย โดยมีการพิจารณามอบรางวัลให้กับโครงงานดีเด่น นางสาวพรรณารัตน์ อ้อปิมปา หรือ “ฟีม” นักเรียนชั้นม.5 จากโรงเรียนแม่จันวิทยาคม อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย กล่าวถึงโครงงานกลุ่มที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ว่า “แนวคิดกระสอบทรายที่ทำจากแกลบข้าว กะลามะพร้าว และทรายหยาบมาจากการตกผลึกแนวคิดของสมาชิกในทีม ซึ่งจากการทดลองพบว่ามีประสิทธิภาพในการซับน้ำและป้องกันน้ำท่วมได้มากกว่ากระสอบทรายธรรมดา เมื่อเลิกใช้แล้วยังนำวัตถุดิบภายในกระสอบมาใช้ซ้ำในการปลูกต้นไม้หรือก่อสร้างได้ด้วย อีกทั้งยังมีราคาไม่แพงและสามารถทำเองได้ นอกเหนือจากความรู้ด้านธรณีพิบัติภัย สิ่งสำคัญที่ได้จากค่ายเพาเวอร์กรีนคือ การฝึกทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ในทีมที่ต่างร่วมกันนำเสนอไอเดียและรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน เพื่อเลือกแนวคิดที่คิดว่าดีที่สุดมานำเสนอเป็นโครงงาน” นายวรวิทย์ ศรีชัย หรือ “บี” นักเรียนชั้นม. 5 จากโรงเรียนปัญญาวรคุณ จังหวัดกรุงเทพฯ หนึ่งในสมาชิกที่คิดโครงงาน “Fantastic Tree Warning” หรือแนวคิดเครื่องเตือนภัยแผ่นดินถล่มอย่างครบวงจรในเครื่องเดียว รางวัลชนะเลิศอันดับ 2 กล่าวว่า “เหตุผลที่ตัดสินใจเข้าร่วมค่ายเพาเวอร์กรีน เพราะต้องการหาประสบการณ์ชีวิตและการเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งสิ่งที่ได้จากค่ายนั้นมากกว่าความคาดหวังคือ นอกจากความรู้เกี่ยวกับธรณีพิบัติภัยและวิธีการปฏิบัติตนแล้ว ยังได้ฝึกการคิด วิเคราะห์อย่างเป็นระบบ โดยผนวกวิธีการทางวิทยาศาสตร์เข้ากับสิ่งแวดล้อม และมิตรภาพใหม่ๆ สิ่งที่อยากฝากไว้คือ อยากให้ทุกคนรู้ถึงสาเหตุการเกิดธรณีพิบัติภัย โดยเฉพาะที่เป็นปัจจัยจากมนุษย์ เช่นการตัดไม้ทำลายป่า และร่วมกันกำจัดปัจจัยเหล่านั้นเพื่อลดบ่อเกิดของธรณีพิบัติภัย แม้เราจะไม่สามารถป้องกันภัยธรรมชาติไม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเรารู้วิธีรับมือและลดปัจจัยเสี่ยงก็จะสามารถลดผลกระทบได้”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ