กรีนพีซเรียกร้องให้ชุมชนทางวิทยาศาสตร์ส่งเสริมระบบเกษตรกรรมที่หลากหลายเพื่อรับมือและปรับตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ข่าวทั่วไป Tuesday November 4, 2014 15:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วันนี้กรีนพีซเรียกร้องให้ชุมชนนักวิทยาศาสตร์สนับสนุนการผลิตอาหารจากเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างความหลากหลายทางอาหาร และความมั่นคงทางโภชนาการ ข้อเรียกร้องนี้เกิดขึ้นในวันสุดท้ายของการประชุมข้าวนานาชาติครั้งที่ 4 (International Rice Congress หรือ IRC) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-31 ตุลาคม 2557(1) ดร.แจเน็ต คอตเตอร์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโส กรีนพีซสากล ได้เน้นถึงเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์พืชที่ไม่ต้องพึ่งพาการดัดแปลงพันธุกรรม (GM) ในการผลิตข้าวสายพันธุ์ใหม่ และสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “งานประชุมข้าวนานาชาติ คือการประชุมทางวิทยาศาสตร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของข้าว ผู้เข้าร่วมการประชุมได้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าว ในการประชุมที่ผ่านมานี้ เราได้เห็นการปรับปรุงพันธุ์ข้าวด้วยวิธีคัดเลือกพันธุ์โดยใช้เครื่องหมายทางพันธุกรรม ทำให้ได้ข้าวที่มีคุณสมบัติตามต้องการหลากหลายรูปแบบ เช่น ข้าวทนแล้ง ที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น สิ่งที่จำเป็นในขณะนี้คือการทำให้สายพันธุ์ดังกล่าวลดการพึ่งพาปุ๋ยและสารเคมี ก้าวสู่เกษตรเชิงนิเวศซึ่งเป็นการพัฒนาการปลูกข้าวแบบยั่งยืนและสามารถปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้” ดร.แจเน็ตกล่าว ดร.แจเน็ต อธิบายว่าในห้วงเวลาที่เผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม และพายุไต้ฝุ่น ประชาชนต้องการเกษตรกรรมที่สามารถรับมือและปรับตัวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและยังสามารถผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ อย่างไรก็ตามการพยากรณ์ภัยแล้ง หรือภัยน้ำท่วมในฤดูการเจริญเติบโตของพืชเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ในขณะที่การปรับปรุงพันธุ์พืชสามารถทำให้พืชทนต่อภัยแล้งและน้ำท่วม แต่เกษตรกรไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะปลูกพืชที่ทนต่อสภาพอากาศแบบใด ดร.แจเน็ตกล่าวเสริมว่า “ความหลากหลายคือกุญแจสำคัญในการทำการเกษตรที่ต้องมีการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยระบบเกษตรกรรมที่มีความหลากหลาย โดยให้นโยบายหลักประกันการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง” ก่อนหน้าการจัดประชุมข้าวนานาชาติ การปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมในประเทศไทย (GMO) ได้เป็นประเด็นข้อถกเถียงอีกครั้ง เมื่อศาลปกครองได้พิพากษายกฟ้องคดีที่กรีนพีซยื่นฟ้องต่อกรมวิชาการเกษตร ในเรื่องที่กรมวิชาการเกษตรละเลยต่อการจัดการมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมที่ปลูกในพื้นที่เปิด จังหวัดขอนแก่นเมื่อปี 2547 กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากมูลนิธิชีววิถี ได้แสดงข้อกังวลของกลุ่มเกษตรกรไทยในเรื่องการปนเปื้อนมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมในประเทศว่า “หลักฐานของการปนเปื้อนพืชดัดแปลงพันธุกรรมเช่นมะละกออาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการส่งออกผลผลิตไปยังประเทศอื่น” นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำว่า “การที่จะเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่นั้น ประเทศไทยจะสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมากหากรัฐบาลอนุญาตให้มีการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมในประเทศ เราต้องร่วมกันปกป้องความหลากหลายของพันธุ์ข้าว และสิทธิของเกษตรกรที่ต้องเผชิญกับการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ของบริษัทขนาดใหญ่ ประเทศไทยควรรักษาสถานะของประเทศที่ปลอดการส่งออกอาหารที่มีส่วนผสมของพืชดัดแปลงพันธุกรรม ด้วยเหตุนี้รัฐบาลควรจะพิจารณาอย่างจริงจังต่อจุดยืนประเทศในประเด็นนี้” แดเนียล โอคัมโป ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้ให้เห็นว่าเรามีทางออกของการแก้ปัญหาเพื่อบรรเทาความไม่มั่นคงทางด้านอาหารและการขาดสารอาหาร การทำเกษตรเชิงนิเวศสามารถช่วยเพิ่มสารอาหาร เสริมวิตามินเอ และสร้างความหลากหลายของอาหาร เกษตรกรรมเชิงนิเวศควรได้รับการสนับสนุนผ่านทางนโยบายที่เอื้อให้เกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมสามารถก้าวสู่การทำเกษตรเชิงนิเวศที่ยั่งยืน แทนที่จะส่งเสริมภาพลวงอย่างพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่จะทำลายทรัพยากรที่มีอยู่ในปัจจุบัน “นอกเหนือจากการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว เกษตรกรรมเชิงนิเวศยังสามารถสร้างความหลากหลายในระบบนิเวศและเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีความหลากหลาย ให้สารอาหารที่ดีต่อสุขภาพประชาชน” แดเนียล กล่าวเสริม แม้สมาชิกภาคอุตสาหกรรมบางแห่งยังคงให้ความสนใจต่อการผลิตข้าวสายพันธุ์ใหม่ด้วยการใช้วิธีการดัดแปลงทางพันธุกรรม แต่ปัจจุบันการคัดเลือกพันธุ์แบบใช้เครื่องหมายทางพันธุกรรม (Marker Assisted Selection หรือ MAS)ได้ก้าวนำข้าวดัดแปลงทางพันธุกรรมที่ยังคงต้องการการพัฒนาให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือแก้ไขปัญหาอื่นๆ เช่น การขาดสารอาหาร ในความเป็นจริงแล้ว ข้าวหลายพันธุ์ที่ถูกพัฒนาผ่านกระบวนการ MAS ได้เอื้อประโยชน์ช่วยให้เกษตรกรสามารถรับมือกับแรงกดดันทางกายภาพและเคมี (abiotic stresses) เช่น ภัยแล้ง และดินเค็ม (2) ความแตกต่างของพืชดัดแปลงพันธุกรรมกับพืชที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกพันธุ์แบบใช้เครื่องหมายทางพันธุกรรม (MAS) อยู่ที่ พืชที่ผ่านกระบวนการ MAS ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อเกษตรกรหรือผู้ประกอบการในเรื่องการปนเปื้อนของพืชดัดแปลงพันธุกรรม หมายเหตุ (1) การประชุมข้าวนานาชาติคือการประชุมทางวิทยาศาสตร์ ที่มีบุคลลสำคัญจากอุตสาหกรรมข้าวเข้าร่วม กรีนพีซเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์ข้าวและการเพาะปลูก รวมถึงจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเกษตรกรรมเชิงนิเวศและผลเสียของข้าวดัดแปลงพันธุกรรม นอกจากนี้ กรีนพีซยังได้เผยแพร่รายงานเรื่อง “การปรับปรุงพันธุ์ที่ชาญฉลาด” ที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ที่ปลอดจากการดัดแปลงพันธุกรรมซึ่งสามารถพัฒนาพืชสายพันธุ์ใหม่ได้ เช่น การคัดเลือกพันธุ์แบบใช้เครื่องหมายทางพันธุกรรม ให้แก่ผู้ร่วมงานและนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าชมงาน สามารถดาวน์โหลดรายงานการปรับปรุงพันธุ์ที่ชาญฉลาด ฉบับภาษาอังกฤษ ได้ที่ http://www.greenpeace.org/smartbreeding2014/ รายงานการปรับปรุงพันธุ์ที่ชาญฉลาดฉบับย่อ (ภาษาไทย) สามารถดาวน์โหลดได้ที่http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/smart-breeding-summary-thai/ (2) http://irri.org/our-work/research/better-rice-varieties/climate-change-ready-rice

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ