KfW มั่นใจปล่อยกู้ TSSI กว่า 2 หมื่นล้าน ใช้ในการก่อสร้างและเทคโนโลยีการผลิต

ข่าวเทคโนโลยี Thursday April 17, 1997 19:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--17 เม.ย.--อุตสาหกรรมเหล็กกล้าไทย
KfW มั่นใจอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานของไทย และสนับสนุนโครงการของ TSSI เต็มที่ พร้อมลงนามสัญญาเงินกู้ มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายด้ายเทคโนโลยีและการก่อสร้างโครงการผลิตเหล็กกล้าสมบูรณ์แบบครบวงจร
นางเมธินี ก้องธรนินทร์ กรรมการผู้จัดการ สายการเงินและการบริหารบริษัทอุตสาหกรรมเหล็กกล้าไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TSSI ต้นแบบโครงการถลุงเหล็กและผลิตเหล็กกล้าสมบูรณ์แบบแห่งแรกของประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 17 เมษายน 2540 เป็นพิธีลงนามสัญญาเงินกู้ระหว่าง บริษัทอุตสาหกรรมเหล็กกล้าไทย จำกัด (มหาชน) กับ KREDITANSTALT FUR WIEDERAUFBAU (KfW) สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูแห่งเยอรมนี อย่างเป็นทางการ หลังจากการเจรจาและได้อนุมัติแล้วเมื่อปี 2539 ที่ผ่านมา
จำนวนวงเงินกู้ดังกล่าวแบ่งออกเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ 362.7 ล้านเหรียญบวกด้วยเงินสกุลดอลลาร์เทียบเท่ามูลค่าเงินดอยซ์มาร์กอีก 726.8 ล้านดอยซ์มาร์ก หรือประมาณ 20,450 ล้านบาท สาเหตุการกู้เงินอิงเงินสกุลดอยซ์มาร์กด้วยนั้น เนื่องจากว่าสัญญาการสั่งซื้อเครื่องจักรบางส่วนของ TSSI เป็นสกุลเงินดอยซ์มาร์ก
สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐบวกด้วยเงินสกุลดอลลาร์เทียบเท่าสกุลเงินดอยซ์มาร์ก เป็นไปตามหลักการและเงื่อนไขของ C.I.R.R ซึ่งเงื่อนไขพื้นฐานข้อตกลงการกู้เงิน ทาง TSSI ได้วิเคราะห์ความเสี่ยงต่าง ๆ แล้ว โดยแบ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ และอัตราดอกเบี้ยลอยตัว LIBOR+MARGIN ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 0.65%
นางเมธินี กล่าวต่อไปว่า วงเงินกู้จำนวนประมาณ 20,450 ล้านบาท ทั้งหมดจะเป็นค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีและการก่อสร้างโครงการผลิตเหล็กกล้าสมบูรณ์แบบทั้งโครงการให้แก่ผู้รับเหมา (TURNKEY) ทั้งด้านเทคนิค การค้าและการเงิน ประกอบด้วย MANNESMANN DEMAG AG และ KRUPP KOPPER GMBH. แห่งเยอรมนี โดยมีธนาคารกรุงเทพเป็นแกนนำร่วมกับสถาบันการเงินอีก 8 แห่ง เป็นผู้ค้ำประกันวงเงินสินเชื่อดังกล่าว
โดยโครงการถลุงเหล็กและผลิตเหล็กกล้าสมบูรณ์แบบของ TSSI ที่สถาบันการเงิน KFW ให้การสนับสนุน แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 เป็นโรงงานขั้นปลายทางผลิตเหล็กลวดคุณภาพสูง ซึ่งขณะนี้คืบหน้าไปกว่า 60% และอยู่ระหว่างการติดตั้งเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูงจากกลุ่มประชาคมยุโรป และสหรัฐอเมริกา และจะสามารถเดินเครื่องจักรผลิตเหล็กได้ภายในปี 2540 ส่วนระยะที่สองเป็นโครงการต้นทางและขั้นกลาง เพื่อผลิตถ่านโค้ก หน่วยถลุงเหล็กและหน่วยผลิตเหล็กกล้า จะดำเนินการก่อสร้างทันทีที่ระยะหนึ่งเสร็จสิ้นแล้ว และสามารถเดินเครื่องจักรผลิตได้ภายในปี 2542
นางเมธินี กล่าวเสริมว่า สาเหตุที่ KfW มีความเชื่อมั่น และให้การสนับสนุนโครงการถลุงเหล็กและผลิตเหล็กกล้าสมบูรณ์แบบของบริษัทอย่างเต็มที่ เนื่องจากเห็นว่าอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานของไทยยังมีช่องทางการเจริญเติบโตอีกยาวไกล ทั้งด้านการผลิต และการบริโภค สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีอุตสาหกรรมเหล็กขั้นพื้นฐานเป็นของตัวเอง เพื่อส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน เพิ่มรายได้ให้กับประชากรและประเทศชาติและที่สำคัญยังทดแทนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในระยะยาวอีกด้วย โครงการนี้ถือว่า เป็นการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเหล็กที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยในภาพรวมด้วย ท่ามกลางภาวะการณ์เช่นนี้ การเซ็นต์สัญญาการกู้เงินในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความมั่นใจแก่นักลงทุนต่างประเทศในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีแก่เศรษฐกิจของประเทศโดยรวมอีกด้วย
พร้อมกันนั้นทาง KfW ยังได้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการผลิตเหล็กฯ ของ TSSI แล้วเกิดความมั่นใจว่าสามารถบริหารโครงการนี้ได้อย่างมีศักยภาพ ทั้งด้านเทคโนโลยีในการผลิต คุณภาพสินค้า และด้านการตลาด ที่จะสามารถทดแทนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศได้ตามนโยบายที่วางเอาไว้ ซึ่ง KfW จะยังคงให้การสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อการพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่อไป
นางเมธินี ก้องธรนินทร์ กล่าวทิ้งท้ายถึงนโยบายของบริษัทว่า บริษัทอุตสาหกรรมเหล็กกล้าไทยฯ มีความมุ่งมั่นในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงสุด เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการลดการขาดดุลการค้าของประเทศไทยในระยะยาว รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตเหล็กของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ