พม. จัดโครงการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “ประสานรัก–ประสานใจ ครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง”

ข่าวทั่วไป Thursday November 13, 2014 15:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าที่ร้อยตรีศรันย์ สมานพันธ์ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาวิชาการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว เรื่อง “ประสานรัก–ประสานใจ ครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง”เพื่อรณรงค์และส่งเสริมกระบวนการเสริมสร้างให้ครอบครัวอบอุ่นและเป็นสุข และลดความรุนแรงในครอบครัวในรูปแบบต่างๆ ณ ห้องราชา บอลรูม ชั้น ๑๑ อาคาร ๒ โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ ว่าที่ร้อยตรีศรันย์ สมานพันธ์ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นสถาบันพื้นฐานสำคัญที่สุดของมนุษย์ เนื่องจากเป็นสถาบันที่หล่อหลอมความเชื่อ ทัศนคติ และบุคลิกภาพของคน ทั้งทางบวกและทางลบ และเป็นสถาบันที่มีคุณค่า มีอิทธิพล และมีความสำคัญมากในการพัฒนาสังคม แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ ส่งผลให้สถาบันครอบครัวไทย มีการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การเผชิญหน้ากับปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนกว่าเดิม ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาครอบครัวและปัญหาสังคมรูปแบบใหม่ๆ ส่งผลให้ครอบครัวไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ โดยเฉพาะปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ที่ส่วนใหญ่เด็กและสตรีมักเป็นผู้ถูกกระทำ ซึ่งนับวันจะเพิ่มจำนวนและทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นมีหลายรูปแบบ เช่น การใช้กำลังทำร้ายร่างกาย การทำร้ายจิตใจ การล่วงละเมิดทางเพศ ความรุนแรงทางสังคม และการลิดรอนสิทธิ เสรีภาพในชีวิตระหว่างคู่สมรส หรือระหว่างบุคคล ในครอบครัว ปัญหาความรุนแรงนอกจากจะมีผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กและสตรีแล้ว ยังมีผลกระทบต่อครอบครัว ชุมชน และสังคมไทยโดยรวมด้วย ในอดีตที่ผ่านมา ผู้ถูกกระทำมักต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงดังกล่าว โดยลำพัง เนื่องจากทัศนคติในสังคมที่มองว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว บุคคลอื่นไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว ทำให้ขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองสวัสดิภาพและจัดการกับปัญหาเหล่านั้น ว่าที่ร้อยตรีศรันย์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะหน่วยงานหลักภาครัฐด้านสังคม จึงได้ดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ทั้ง การป้องกัน โดยสร้างความเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) ให้เกิดความตระหนักว่า ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องทำงานเชื่อมโยงกัน การส่งเสริม ให้ครอบครัวมีความเข้มแข็ง อบอุ่น เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงในครอบครัว เช่น ทำกิจกรรมร่วมกัน รวมทั้ง การแก้ไข ฟื้นฟู ผ่านกระบวนการต่างๆ ทั้งมิติสังคมและมิติกฎหมาย เพื่อการขับเคลื่อนให้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นเครื่องมือที่จะช่วยป้องกันเหตุ คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำ เพื่อไม่ให้กลับมากระทำความรุนแรงซ้ำอีก นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังมีนโยบายให้ความช่วยเหลือคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง ตลอดจนมีการจัดสวัสดิการรองรับเพื่อให้ผู้ถูกกระทำกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข “ท้ายนี้ ตนขอฝากไว้ว่า เมื่อเกิดเหตุความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวขึ้น ประชาชนสามารถแจ้งเหตุได้ที่ OSCC ศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร ๑๓๐๐ ทั่วประเทศ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง” ว่าที่ร้อยตรีศรันย์ กล่าวตอนท้าย.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ