กระทรวงเกษตรฯ เดินแผนสร้างรายได้เสริมในพื้นที่ว่างในสวนยางกว่า 1.12 ล้านไร่ สกย.พร้อมหนุนเงินทุนหมุนเวียนรายละไม่เกิน 50,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 และสร้างกลุ่มชาวสวนยางเพิ่มอำนาจในระบบตลาด

ข่าวทั่วไป Friday November 14, 2014 12:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ที่เป็นหน่วยงานหลักในด้านการปลูกพืชทดแทน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ เร่งดำเนินการในการจัดทำโครงการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากพื้นที่สวนยางเพื่อเพิ่มรายได้ เพื่อให้เกษตรกรมีความยั่งยืนในการประกอบอาชีพการทำสวนยาง ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในขณะที่รอเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตและความผันผวนของราคายาง ซึ่งขณะนี้ สกย. มีแนวทางและกิจกรรมในโครงการเพื่อสร้างประโยชน์จากพื้นที่ปลูกยางพาราปีละ 160,000 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพื้นที่ว่างเปล่าในสวนยาง รวมประมาณ 1,120,000 ไร่ ภายในระยะเวลาดำเนินโครงการ 7 ปี ให้แก่เกษตรกรทั้ง 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.เกษตรกรผู้โค่นยางแล้วปลูกยางใหม่ จะส่งเสริมและแนะนำให้ปลูกพืชคลุมดิน เช่น พืชตระกูลถั่ว (คาโลโปโกเนียม, เซนโตซีมา, เพอราเรีย, ซีรูเลียม,ปอเทือง) มันเทศ หรือหญ้าเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ไม่น้อยกว่า 80,000 ไร่ในปี 2558 เพื่อเป็นการอนุรักษ์ดิน เพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน รวมถึงการป้องกันการถูกชะล้างหน้าดินและปุ๋ยบำรุงที่เกษตรกรได้ใส่ให้กับต้นยางพารา 2. เกษตรกรที่ปลูกยางไปแล้ว และต้นยางมีอายุไม่เกิน 3 ปี จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ปลูกพืชแซมในสวนยาง ได้แก่ สัปปะรด กล้วย ข้าวไร่ ข้าวโพด ถั่วลิสง พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับต่างๆ เป็นต้น ไม่น้อยกว่า 80,000 ไร่ ในปี 2558 เช่นกัน ทั้งนี้ จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับสภาพความเหมาะสมของดิน และตลาดเพื่อขายผลผลิตของเกษตรกรควบคู่ด้วย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เสริมในช่วงที่สวนยางพารายังไม่ให้ผลผลิตที่ก่อให้เกิดรายได้ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้พื้นที่หรือที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีรายได้มากสุดในพื้นที่ที่ปลูกยางพารา 3. เกษตรกรที่ปลูกยาง และต้นยางมีอายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไป จะส่งเสริมให้ปลูกพืชร่วมยาง ซึ่งเป็นชนิดพืชที่มีความต้องการแสงน้อย สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ในสภาพแสงรำไรใต้ร่มเงายางพารา เช่น พืชสกุลระกำ (สละ, ระกำ) ผักเหมียง/เหรียง ไผ่หวาน ลองกอง มังคุด สะเดาเทียม ตะเคียนทอง เป็นต้น ทั้งนี้ เกษตรกรที่ปลูกยางไปแล้ว สกย.จะมีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือผู้รับการสงเคราะห์ รายละไม่เกิน 50,000 บาท โดยคิดดอกเบี้ยต่ำ ในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ด้านนายทวีศักดิ์ คงแย้ม ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนแนวทางแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบของ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (วอร์รูม สกย.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกอบอาชีพการทำสวนยาง จะต้องให้ความสำคัญเรื่องการรวมกลุ่มของเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมชาวสวนยาง และสามารถรวบรวมผลผลิตเพื่อขายออกสู่ท้องตลาด หรือนำไปแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตต่อไปได้ ดังนั้น ในปี 2558 สกย. จะช่วยผลักดันให้มีการส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ต่างๆ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มเพิ่มมากขึ้น ประมาณ 20,000 คน จะทำให้อำนาจการต่อรองราคาผลผลิต คือ เมื่อมีปริมาณผลผลิตเข้าสู่กลุ่มมากยิ่งขึ้น ก็จะส่งผลให้มีการดึงดูดผู้ซื้อเข้ามาจำนวนมากขึ้นด้วย ก่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาการรับซื้อผลผลิตของกลุ่ม และกลุ่มเกษตรกรมีทางเลือกในการขายผลผลิตที่มากขึ้นเช่นกัน รวมถึงเป็นการเพิ่มความเข้มแข็งให้กับชุมชนและกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับยางพาราในกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางด้วยกันเองอีกทางหนึ่ง พร้อมทั้งเร่งสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล สามารถจัดตั้งในรูปของนิติบุคคลได้ประมาณ 10 กลุ่มในปี 2558 เพื่อยกระดับของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางที่มีความเข้มแข็ง ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน สำหรับใช้ในการขยายกิจการเพิ่มเติม หรือการรวบรวมและแปรรูปผลผลิตในเชิงอุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับกลุ่มเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น สามารถติดต่อซื้อขายได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ