รมว.พม. เป็นประธานเปิดงานรณรงค์ “ยุติการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก” ในวาระครบรอบ ๒๕ ปี อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

ข่าวทั่วไป Friday November 21, 2014 16:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดงานรณรงค์ “ยุติการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก” ในวาระครบรอบ ๒๕ ปี อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และรณรงค์ให้เด็ก เยาวชน รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักในผลกระทบของความรุนแรงต่อเด็ก ณ ศาลาภิรมย์ภักดี (ศาลาแปดเหลี่ยม สวนลุมพินี) กรุงเทพฯ พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การกระทำความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งข้อมูลจากสำนักบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ.๒๕๕๖ มีสถิติการให้ความช่วยเหลือเด็กและสตรีจากโรงพยาบาล ๖๓๑ แห่ง เพิ่มขึ้นเป็น ๓๑,๘๖๖ คน หรือเฉลี่ยวันละ ๘๗ คน ร้อยละ ๖๐ เป็นเด็ก เกือบ ๙ ใน ๑๐ ของเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงเป็นเด็กหญิง ส่วนใหญ่อายุ ๑๐ – ๑๕ ปี คิดเป็นร้อยละ ๔๖ รองลงมา คือ อายุ ๑๕ – ๑๘ ปี คิดเป็นร้อยละ ๔๐ และพบอายุต่ำกว่า ๕ ปี ประมาณ ๑,๐๐๐ คน คิดเป็นร้อยละ ๕ ลักษณะความรุนแรงที่เกิดขึ้นอันดับ ๑ คือ การถูกกระทำทารุณทางเพศ ร้อยละ ๗๒ บางรายตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ รองลงมาเป็นการกระทำทารุณทางกายร้อยละ ๒๑ ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่เด็กรู้จัก ไว้วางใจ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเด็ก ทั้งนี้จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้ทราบว่าการกระทำความรุนแรงต่อเด็กยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และความรุนแรงต่อเด็กเกิดขึ้นทุกแห่งอยู่ตลาดเวลาตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังรับทราบถึงเหตุการณ์ความรุนแรงต่อเด็กจากการนำเสนอเป็นข่าวในสื่อต่างๆ ซึ่งปัญหาดังกล่าวกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องพัฒนาการคุ้มครองทางสังคมต่อเด็ก เพื่อไม่ให้เด็กได้ถูกกระทำความรุนแรงและมีความปลอดภัยมากขึ้น พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวต่อไปว่า ในวาระครบรอบ ๒๕ ปี อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ร่วมกับเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทยซึ่งเป็นการรวมตัวกันขององค์กรที่ทำงานด้านเด็ก ๖๐ องค์กร กรุงเทพมหานคร และ องค์การยูนิเซฟประเทศไทย จัดงาน“ยุติการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก” ในวาระครบรอบ ๒๕ ปี อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เพื่อเป็นการรณรงค์ยุติการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก และรณรงค์ให้เด็ก เยาวชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงผลกระทบของความรุนแรงต่อเด็ก โดยมีส่วนร่วมในการป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก ร่วมเสนอแนะทางออกการยุติการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและร่วมรณรงค์ยุติการใช้ความรุนแรงต่อเด็กทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง “ทั้งนี้ รัฐบาลและกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ร่วมกันกำหนดนโยบาย ยุทธศาตร์และมาตรการต่างๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก ซึ่งพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากเด็กและทุกภาคส่วน เพื่อนำไปปรับปรุงการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวตอนท้าย.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ