สร้างโรงเรียนให้เป็นพื้นที่แห่งความรัก นโยบายเอกตราเน้นชัด ยุติทุกวืธีรังแกกัน

ข่าวทั่วไป Monday November 24, 2014 16:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--คอร์ แอนด์ พีค ในยุคที่สังคมสามารถส่งต่อข้อมูลข่าวสารกันได้อย่างรวดเร็ว ภาพเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ มีเกิดขึ้นกับนักเรียนทั่วโลกตลอดเวลา ประเทศญี่ปุ่นซึ่งติดอันดับนักเรียนรังแกกันมากที่สุดในโลก ถึงขั้นต้องออกกฎหมายป้องกันการรังแกกันในโรงเรียน เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เนื่องจากมีการเรียกร้อง อย่างมากจากเหตุการณ์นักเรียนชายชั้น ม.2 ตัดสินใจฆ่าตัวตายเพราะทนเพื่อนๆ รุมรังแกทุกวันไม่ไหว สำหรับประเทศไทยนั้น แม้จะยังไม่ปรากฏข่าวถึงขั้นฆ่าตัวตายเช่นนี้ แต่ก็มีข่าวนักเรียนไทยใช้ความรุนแรงรังแกกันในกลุ่มเพื่อน หรือรุ่นพี่รังแกรุ่นน้องอยู่ตลอดเวลา ซึ่งบางเหตุการณ์ก็นำไปสู่ความสูญเสียอย่างที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น อาจารย์พิสุทธิ์ ยงค์กมล ผู้อำนวยการโรงเรียนสารสาสน์เอกตรา โรงเรียนสองภาษา แห่งแรกในประเทศไทย เล็งเห็นถึงปัญหาเหล่านี้ จึงได้ริเริ่มแคมเปญที่มีชื่อว่า Stop Bullying โดย อาจารย์พิสุทธิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า “การรังแกกันนั้น ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือผู้รังแก (The Bully) ผู้ถูกรังแก (The Victim) และผู้เฝ้ามอง (The Bystander) ซึ่งการรังแกกันมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่ทำร้ายร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่การใช้วาจาให้ร้าย การส่งข้อความและภาพถ่ายที่ไม่เหมาะสมทางโลกออนไลน์ ก็เป็นการรังแกที่ส่งผลต่อภาวะจิตใจของผู้โดนกระทำหรือผู้ถูกรังแก (The Victim) เป็นอย่างมาก เป็นเหตุให้ไม่อยากมาโรงเรียน รู้สึกหวาดกลัว หรืออับอาย กลายเป็นความเก็บกด หาทางออกไม่ได้ ในขณะที่ผู้ที่รังแกผู้อื่น (The Bully) ก็จะมีนิสัยก้าวร้าว นิยมใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะทางกายหรือทางวาจา ส่วนผู้ที่เป็นลิ่วล้อหรือผู้ที่เป็นเพียงผู้เฝ้ามอง (The Bystander) โดยไม่คิดช่วยเหลือ ก็กลายเป็นคนที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นตลอดเวลา ขาดความมั่นใจ ซึ่งในบางครั้งผู้ใหญ่มองเห็นเป็นเพียงการล้อเล่นกันตามปกติของวัยเด็ก แต่ทางโรงเรียนเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ อาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ปัญหาสังคมในอนาคต หรืออาจเกิดความสูญเสียที่ไม่อาจมีสิ่งใดทดแทนชดเชยได้ ทางโรงเรียนจึงได้ริเริ่มแคมเปญ Stop Bullying ขึ้นในปีการศึกษา 2557 เพื่อรณรงค์ต่อต้านการรังแกกันทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนกับนักเรียน, ครูกับนักเรียน หรือแม้แต่ครูกับครูด้วยกันเอง โดยมุ่งเน้นให้ทุกคนรู้จักทบทวนบทบาทหน้าที่ของตนเอง และรู้จักการมอบความรัก ความเห็นใจไปยังผู้อื่น เพื่อหวังให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย และสร้างความสุขแก่นักเรียนทุกคน โดยในแต่ละแผนก ยังมีกิจกรรมเสริมนอกเหนือการอบรมตามปกติเพื่อสนับสนุนแคมเปญที่เหมาะสมแก่วัย เช่น แผนกอนุบาล ทำป้าย Stop Bullying เพื่อสร้างการรับรู้เบื้องต้น ในการเรียนระหว่างวัน การเล่านิทานต่างๆ จะสอดแทรกความหมายของการรังแกกัน ให้เด็กเล็กๆเข้าใจว่า การรังแกกันเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นเพื่อนกันต้องรักกัน ไม่แกล้งกัน แผนกประถม สร้างการรับรู้ และเสริมความตระหนัก ด้วยการปฏิญาณตนให้คำมั่นสัญญาที่จะต่อต้านการรังแกกัน (Anti - Bullying Commitment) การทำสื่อวิดีทัศน์เผยแพร่เพื่อสร้างความเข้าใจ จัดกิจกรรมประกวดรูปแบบต่างๆในหัวข้อเพื่อการรณรงค์ยุติการรังแก เช่น เขียนเรียงความ วาดภาพประกอบ แผนกมัธยม เน้นเรื่องบทบาท การมีส่วนร่วมและเป็นผู้นำในการต่อต้านการรังแกกัน และช่วยเหลือผู้ที่มีแนวโน้มที่จะตกเป็นเหยื่อ นักเรียนจากสภานักเรียน ยังได้จัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ในรูปแบบละคร Stop Bullying ให้น้องๆในแผนกประถมและอนุบาล และท้ายสุด ทางโรงเรียนมีกล่องรับข้อความ “แจ้งเหตุการณ์การรังแกเพื่อน” พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และครู ควรสร้างค่านิยมเรื่องการเคารพสิทธิของผู้อื่นด้วย เพราะเป็นสิ่งสำคัญมากในการอยู่ร่วมกันในสังคม มาสเซอร์อยากให้นักเรียนคอยหมั่นถามตัวเองเสมอๆ ว่า วันนี้เรามาโรงเรียน เราทำหน้าที่ของเราดีแล้วหรือยัง เราปฏิบัติตนต่อเพื่อน ต่อรุ่นพี่หรือรุ่นน้องดีพอหรือไม่ ถ้านักเรียนทุกคนรู้จักรับผิดชอบการกระทำของตนเองและปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีต่อผู้อื่นแล้ว การเอาเปรียบรังแกกันก็จะไม่เกิดขึ้น โรงเรียนก็จะเป็นพื้นที่แห่งความรัก ที่ทำให้นักเรียนมีความสุข และหล่อหลอมให้เป็นบุคคลคุณภาพของสังคมต่อไป” อาจารย์พิสุทธิ์ กล่าวสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ