“ข้อเสนอแก้ไขกฎหมาย ปปช.”

ข่าวทั่วไป Monday December 1, 2014 15:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ธ.ค.--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ข้อเสนอแก้ไขกฎหมาย ปปช.” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 26 – 27 พฤศจิกายน 2557 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับข้อเสนอแก้ไขกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นด้วยวิธีแบบเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนด ค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4 จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการแก้ไขกฎหมาย ปปช. ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกศาลตัดสิน ชี้ขาดให้พ้นจากตำแหน่ง ห้ามไม่ให้กลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต (จากเดิมห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปี) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.28 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ ผู้ที่เคยกระทำผิดไม่ควรกลับเข้ามาเล่นการเมือง จะได้ไม่เกิดการกระทำผิดอีก ถ้ากลับมาดำรงตำแหน่งอีกอาจเป็นเหมือนเดิม เป็นการคัดกรองและเปิดโอกาสให้คนที่มีคุณภาพ ตั้งใจทำงานเข้ามาแทนดีกว่า รองลงมา ร้อยละ 26.08 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ควรให้ระยะเวลา สิทธิ และโอกาสในการปรับปรุงตนเอง หากไม่ให้กลับเข้ามาเลยก็จะเป็นการเอาเปรียบและไม่ยุติธรรมแก่ผู้กระทำผิด และอาจเกิดเกิดปัญหาความแตกแยกตามมา และร้อยละ 4.64 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการแก้ไขกฎหมาย ปปช. ที่ให้ผู้บริหารท้องถิ่น,รองผู้บริหารท้องถิ่น และผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่นต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อ ปปช. (จากเดิมไม่มีกำหนดไว้) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 90.40 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เป็นการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ถึงที่ไปที่มาของทรัพย์สิน โดยเฉพาะทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบ เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน การตัดไม้ทำลายป่า (การค้าไม้เถื่อน) การยักยอกเงิน เป็นต้น เป็นการให้ความชัดเจนแก่ประชาชนด้วย มีเพียง ร้อยละ 8.32 ที่ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ถือเป็นข้อมูลและสิทธิส่วนบุคคลที่จะเปิดเผยหรือไม่ก็ได้ และร้อยละ 1.28 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการแก้ไขกฎหมาย ปปช. โดยให้อำนาจ ปปช. สามารถจับและคุมขังผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่ไปรายงานตัวตามที่กำหนด (จากเดิม ปปช. มีอำนาจแค่แจ้งให้ตำรวจดำเนินการ) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.64 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายเดียวอาจจัดการได้ไม่ดีพอ หรือเกิดการติดสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ เป็นการเพิ่มความรวดเร็วในการจับผู้กระทำผิดมารับโทษ เพราะบางครั้งส่งเรื่องให้อัยการแล้วบางทีเรื่องล่าช้า ผู้ที่กระทำผิดควรได้รับโทษตามกฎหมาย รองลงมา ร้อยละ 32.96 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ปปช. ไม่จำเป็นต้องมีอำนาจถึงขั้นดังกล่าว เพราะเป็นหน้าที่ที่ซ้ำซ้อนเกินไป ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจ และเป็นไปตามขั้นตอน ร้อยละ 8.40 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 20.00 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 20.00 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 20.00 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 20.00 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 20.00 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 54.96 เป็นเพศชาย ร้อยละ 44.88 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.16 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่างร้อยละ 5.78 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 30.50 มีอายุ 25 – 39 ปี ร้อยละ 50.48 มีอายุ 40 – 59 ปี และร้อยละ 13.24 มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 93.17 นับถือศาสนาพุทธ ตัวอย่างร้อยละ 5.70 นับถือศาสนาอิสลาม และตัวอย่างร้อยละ 1.12 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ ตัวอย่างร้อยละ 24.20 สถานภาพโสด ตัวอย่างร้อยละ 72.91 สมรสแล้ว และตัวอย่างร้อยละ 2.89 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่างร้อยละ 28.32 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ตัวอย่างร้อยละ 27.92 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 9.98 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 29.20 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และตัวอย่างร้อยละ 4.59 จบการศึกษา สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 14.32 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ตัวอย่างร้อยละ 15.61 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ตัวอย่างร้อยละ 24.38 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ตัวอย่าง ร้อยละ 16.57 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ตัวอย่างร้อยละ 14.16 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ตัวอย่างร้อยละ 11.99 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และ ตัวอย่างร้อยละ 2.98 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 12.80 ไม่มีรายได้ ตัวอย่างร้อยละ 20.00 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 ตัวอย่างร้อยละ 34.96 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเดือน 10,001 – 20,000 ตัวอย่างร้อยละ 12.08 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ตัวอย่างร้อยละ 6.48 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเดือน 30,001 – 40,000 ร้อยละ 6.88 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน มากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และ ร้อยละ 6.80 ไม่ระบุรายได้
แท็ก นิด้า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ