ก.พลังงาน ปลดล็อคส่งเสริมโซล่าร์ฟาร์ม ชูมติบอร์ดบริหารพลังงานหมุนเวียน ไฟเขียวดัน 178 โครงการค้างท่อ ชี้มีโครงการพร้อม 25 แห่ง กำลังผลิต 138 เมกะวัตต์ เตรียมเซ็น PPA

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 12, 2014 13:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--ทริปเปิล เจ คอมมิวนิเคชั่น ก.พลังงาน ปลดล็อคส่งเสริมโซล่าร์ฟาร์ม ชูมติบอร์ดบริหารพลังงานหมุนเวียน ไฟเขียวดัน 178 โครงการค้างท่อ ชี้มีโครงการพร้อม 25 แห่ง กำลังผลิต 138 เมกะวัตต์ เตรียมเซ็น PPA และขายไฟเข้าระบบในปี 58 ส่วนโครงการติดปัญหา 153 แห่ง ให้ พพ. เป็นแม่งานเร่งบูรณาการแก้ปัญหาด้านสายส่งและพื้นที่ตั้งโครงการ หวังดันทุกโครงการด้านพลังงานแสงอาทิตย์เข้าระบบจ่ายไฟได้ ด้านโครงการโซล่าร์ฟาร์มจากสหกรณ์มั่นใจมีเกณฑ์ชัดเจน และต่อไปจะมอบให้ สกพ. (เรกูเลเตอร์) จัดให้มีกระบวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ One-Stop-Service ภายในปี 58 นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในวันนี้ (8ธค.) มีประเด็นพิจารณาที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ซึ่งเป็นฝ่ายรับไปเจรจาได้นำเสนอและถือเป็นประเด็นสำคัญคือ การตอบรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินหรือโซล่าร์ฟาร์ม ซึ่งจากมติในที่ประชุมฯ นั้น ได้มีข้อสรุป ดังนี้ การเห็นชอบในหลักการในการตอบรับซื้อไฟฟ้าข้อเสนอโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (กลุ่มที่ยื่นในหลักการเสนอขอขายไฟก่อนปิดรับซื้อในเดือนมิถุนายน 2553 และยังไม่ได้รับการพิจารณาตอบรับซื้อ) จำนวนทั้งสิ้น 178 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 1,013 เมกะวัตต์ โดยโครงการที่ตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้วส่วนที่สายส่งไฟฟ้ารองรับได้หรือผ่านข้อกำหนดทางเทคนิคการเชื่อมต่อโครงข่ายระบบไฟฟ้าของ กฟผ. และไม่ติดปัญหาที่ดิน จำนวน 25 โครงการ กำลังการผลิต 138 เมกะวัตต์ ที่ประชุมมีมติมอบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) และกำกับการพัฒนาโครงการให้สามารถขายไฟฟ้าให้สามารถเข้าระบบภายในปี 2558 ทั้งนี้ ในส่วนที่โครงการที่ตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้วส่วนที่สายส่งไฟฟ้ารองรับไม่ได้ หรือไม่ผ่านข้อกำหนดทางเทคนิคฯ หรือติดปัญหาที่ดินในกลุ่มโซลาร์ฟาร์มที่เหลือ 153 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 875 เมกะวัตต์ พพ. จะทำหนังสือแจ้งผลการพิจารณาผู้ยื่นข้อเสนอโครงการให้สามารถย้ายที่ตั้งโครงการได้ โดยหากสามารถเปลี่ยนที่ตั้งโครงการได้แล้ว พพ. จะได้ทำหน้าที่เป็น One-Stop-Service ในการรับเรื่องและประสานงานกับการไฟฟ้าและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ตรวจสอบพื้นที่โครงการตามขั้นตอนต่อไป และจะเร่งรัดดำเนินการเสร็จสิ้นภายในเดือน 31 มีนาคม 2558 เท่านั้น โดยการดำเนินการเกี่ยวกับทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าวจะมีรายงานให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ทราบต่อไป “กระทรวงพลังงานได้เริ่มก้าวแรกในการทยอยปลดล๊อคโครงการโซล่าร์ฟาร์ม และพลังงานทดแทนทุกชนิด ที่ค้างการพิจารณาอยู่จำนวนมากจากมติ กพช. ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการให้โอกาสสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความตั้งใจจริงที่จะร่วมกับกระทรวงพลังงาน ในการเดินหน้านโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนไปด้วยกัน จากนี้จะได้เร่งพิจารณาโครงการฯที่ติดปัญหาหลัก ๆ เช่นเรื่องการรองรับของสายส่ง พื้นที่ตั้งโครงการโดยเร็ว และจะได้มอบหมายให้การไฟฟ้าทั้ง 2 การ (กฟผ. และกฟภ.) เริ่มขั้นตอนของการทยอยทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป” นายอารีพงศ์ กล่าว นายอารีพงศ์ กล่าวเพิ่มว่า ภายในการประชุมฯ ได้มีการรายงานความคืบหน้าและพิจารณาหลักเกณฑ์และแนวทางดำเนินการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร รวม 800 เมกะวัตต์ และเบื้องต้นจะให้อยู่ในรูปแบบที่เปิดให้บริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) เข้ามาร่วมพัฒนาโครงการนั้น โดยหลักเกณฑ์ซึ่งได้มีการพิจารณาเพื่อคัดเลือกโครงการ ที่ประชุมฯ ได้กำหนดกรอบไว้อาทิ ให้มีการกำหนดพื้นที่และปริมาณการรับซื้อไฟฟ้า ณ จุดเชื่อมโยงในแต่ละเขตการให้บริการไฟฟ้า (Zoning) โดยพิจารณาจากความพร้อมในการรองรับโครงการของสายส่งและสายจำหน่ายไฟฟ้า ที่จะประกาศให้ทราบทั่วถึงก่อนรับข้อเสนอโครงการ สำหรับแนวทางรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนต่อไปในอนาคตนั้น ได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ Regulator ไปจัดระเบียบและบูรณาการ 3 การไฟฟ้า จัดให้มีขั้นตอนและบริการแบบ One-Stop-Service โดยคาดหวังว่า จะนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) มาช่วยพัฒนาให้ระบบการกำกับการรับซื้อไฟฟ้าให้มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และสามารถให้บริการแบบเบ็ดเสร็จแก่ประชาชนและผู้ประกอบการได้
แท็ก ก.พ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ