กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับ 8 องค์กร จัดการประชุมเวทีข้าวไทย 2557

ข่าวทั่วไป Wednesday December 17, 2014 10:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--กองเกษตรสารนิเทศ กระทรวงเกษตรและสกรณ์ กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับ 8 องค์กร จัดการประชุมเวทีข้าวไทย 2557 ภายใต้หัวข้อ “การปฏิรูปยุทธศาสตร์ข้าวไทย” นำเสนอแนวทางการปฏิรูปยุทธศาสตร์ข้าวและชาวนาไทย แนวทางการปฏิรูประบบวิจัยข้าวไทย การปรับโครงสร้างน้ำพื้นฐานเพื่อการผลิตข้าว และบริหารจัดการที่ดินเพื่อการทำนา เพื่อสร้างความยั่งยืนในอาชีพและลดความเหลื่อมล้ำให้เกษตรกร นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดการประชุมเวทีข้าวไทย 2557 และองค์ปาฐกถาพิเศษ ณ ห้องสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า ด้วยมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับองค์กรร่วมอีก 8 องค์กร ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรสาสตร์ กรมการข้าว ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และสมาคมชาวนาไทย จัดการประชุมข้าวไทยปี 2557 ภายใต้หัวข้อ “การปฏิรูปยุทธศาสตร์ข้าวไทย” ขึ้น เพื่อรับฟังการบรรยาย ข้อเสนอแนะ จากวิทยากร ให้เกิดเวทีศึกษาหารือในกลุ่มผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เข้าประชุมได้นำเสนอความเห็นถึงแนวทางในการปฏิรูปยุทธศาสตร์ข้าวและชาวนาในมุมมองต่าง ๆ และเพื่อร่วมกันจัดทำข้อเสนอแนะถึงแนวทางการปฏิรูประบบวิจัยข้าวไทย การปรับโครงสร้างน้ำพื้นฐานเพื่อการผลิตข้าว และบริหารจัดการที่ดินเพื่อการทำนา เพื่อสร้างความยั่งยืนในอาชีพและลดความเหลื่อมล้ำ นายอำนวย กล่าวต่อไปว่า ในการประชุมเวทีข้าวไทย 2557 ได้มีการเน้นในสามประเด็นหลัก คือ การปฏิรูประบบวิจัยข้าวไทย ในเรื่องยุทธศาสตร์การวิจัย โครงสร้างองค์กรการวิจัย การตั้งโจทย์วิจัย การพัฒนานักวิจัยและหน่วยวิจัย ความต้องการงานวิจัยพื้นฐานเพื่อการปรับใช้ การจัดการวิจัยให้เกิดสภาวะองค์รวมของความรู้และเทคโนโลยี การพัฒนากลไกที่เหมาะสมกับการลงทุนในระบบวิจัยข้าวของประเทศไทย และความจำเป็นในการจัดตั้งคณะกรรมการวิจัยข้าวแห่งชาติ การปรับโครงสร้างน้ำพื้นฐานเพื่อการผลิตข้าว ในเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติม การจัดการน้ำ การเพิ่มพื้นที่นาชลประทานและการประกันปริมาณน้ำสำหรับนาชลประทาน การประกันความมั่นคงของการผลิตข้าวนาน้ำฝน ความจำเป็นอย่างเร่งด่วนของการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานการใช้น้ำในการผลิตข้าว การปรับพื้นที่นา การพัฒนากลไกการเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและการพัฒนาและการถ่ายโอนการจัดการแหล่งน้ำระดับชุมชน และการบริหารจัดการที่ดินเพื่อการทำนา สภาพการถือครองที่ดินและประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากที่นา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของประเด็นความเหลื่อมล้ำและความยากจน ความเชื่อมโยงการจัดการที่ดินทำนาและการจัดการน้ำ ประเด็นการเช่าที่ดินทำนา ชาวนาอาชีพกับการถือครองที่ดิน การสนับสนุนให้เกินขนาดที่เหมาะสมของนาครอบครัว ความต้องการเทคโนโลยีที่สัมพันธ์กับขนาดของที่นา ประเด็นฟาร์มขนาดใหญ่กับนาครอบครัว และประเด็นกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินทำนา เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ