ทิศทางเศรษฐกิจไทยและความเชื่อมั่นการจ้างงานปี 2558

ข่าวทั่วไป Thursday December 18, 2014 15:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (Econthai) เป็นองค์กรตัวแทนของผู้ประกอบการค้าและนายจ้างทั้งด้านการค้า บริการและอุตสาหกรรม จัดตั้งตาม พรบ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เป็นองค์กรตามกฎหมายมีผู้แทนอยู่ในคณะกรรมการไตรภาคีและประกันสังคม เห็นว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีอยู่ในต่างจังหวัดต่างได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและปัญหาภายในประเทศ เพื่อที่จะสะท้อนปัญหาและข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการไปถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้จัดให้มีการทำรายงาน “ทิศทางเศรษฐกิจไทยและความเชื่อมั่นการจ้างงานปี 2558” โดยในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นจากผู้ประกอบการภาคเหนือ ณ จังหวัดพิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดขอนแก่น และภาคใต้ ณ จังหวัดสงขลา รวมทั้งที่ กทม. พร้อมได้จัดทำแบบสำรวจไปยังผู้ประกอบการเพื่อสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มผลประกอบการปี 2557 และความเชื่อมั่นทางธุรกิจรวมทั้งการจ้างงานปี 2558 โดยมีรายละเอียดย่อดังต่อไปนี้ 1. สภาวะด้านเศรษฐกิจของผู้ประกอบการในต่างจังหวัด 1.1 ด้านอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมในต่างจังหวัดผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี ปัญหาที่กำลังประสบอยู่คือตัวเลขการขายที่ลดลงอันเนื่องมาจากการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัว ทำให้การผลิตต้องหยุดผลิตเป็นช่วงๆ อีกทั้งต้นทุนการผลิตในต่างจังหวัดมีต้นทุนค่าแรงเท่ากันทั้งประเทศแต่มีต้นทุนการขนส่งที่สูงกว่าอุตสาหกรรมที่อยู่ในส่วนกลาง อีกทั้งกำลังซื้อของเกษตรกรมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 30-40 ของการบริโภคในต่างจังหวัด เมื่อราคาสินค้าเกษตรตกต่ำกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร จึงส่งผลต่อธุรกิจโดยรวมของต่างจังหวัด จากการสำรวจของสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยโดยแนวโน้มยอดขายและผลประกอบการปี 2557 (ภาพรวม) พบว่าผู้ประกอบการซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอียอดขายลดลงกว่าปี 2556 คิดเป็นร้อยละ 34.5 ขณะที่ธุรกิจที่มีผลประกอบการดีขึ้นคิดเป็นร้อยละ 30.6 และใกล้เคียงกับปี 2556 คิดเป็นร้อยละ 29.4 อย่างไรก็ตามผลกระทบทางเศรษฐกิจผู้ประกอบการซึ่งขายสินค้าในประเทศเป็นหลักได้รับผลกระทบจากยอดขายลดลงร้อยละ 38.9 และผู้ประกอบการส่งออกได้รับผลกระทบยอดขายลดลงต่ำกว่าปี 2556 คิดเป็นร้อยละ 30.8 สำหรับความเชื่อมั่นธุรกิจในปี 2558 (ภาพรวม) ของผู้ประกอบการในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ร้อยละ 51 เห็นว่าใกล้เคียงปี 2557 สำหรับผู้ประกอบการร้อยละ 9.4 เห็นว่าแนวโน้มของธุรกิจอาจจะทรุดตัวลงกว่าที่เป็นอยู่และผู้ประกอบการที่มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจปี 2558 จะดีกว่าปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 40 แต่ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ขายสินค้าในประเทศร้อยละ 40 ยังไม่ค่อยเชื่อมั่นว่าธุรกิจจะดีขึ้น อีกทั้งผู้ประกอบการร้อยละ 10 เห็นว่าธุรกิจจะมียอดขายและหรือผลประกอบการต่ำกว่าปีที่แล้ว สำหรับผู้ประกอบการส่งออกร้อยละ 50 เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มฟื้นตัวและยอดขายดีขึ้น มีเพียงร้อยละ 7.7 ที่ยังเห็นว่าการประกอบการธุรกิจจะแย่ลงไปกว่าเดิม อย่างไรก็ตามผู้ส่งออกร้อยละ 42.3 ยังไม่ค่อยมั่นใจว่าธุรกิจจะดีขึ้นและเห็นว่าผลการดำเนินงานอาจใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยสภาวะของอุตสาหกรรมในต่างจังหวัดมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของอุตสาหกรรม เช่น 1) อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในช่วงชะลอตัว โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์หรืออยู่ในโซ่อุปทานชิ้นส่วนยานยนต์ลดลงร้อยละ 10-15 อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสินค้าประมงแปรรูปเริ่มดีขึ้นก่อนหน้านี้ส่งออกติดลบมากกว่าร้อยละ 10-12 ปศุสัตว์แปรรูปตัวเลขยังคงติดลบ สำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับแผงวงจรไฟฟ้า-คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือตัวเลขการผลิตในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายนปรับตัวดีขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับกุ้งสดแช่แข็งตัวเลขกลับมามีการขยายตัว รวมทั้งอุตสาหกรรมไก่สดแช่แข็งเพื่อการส่งออก อุตสาหกรรมผลิตข้าวโพด อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังยังสามารถขยายตัวได้ดี 2) ศูนย์จำหน่าย – ซ่อมรถยนต์ยอดขายลดลง ส่งผลต่อรายได้ลดลงร้อยละ 20-30 ขณะที่โรงงานผลิตชิ้นส่วน-ส่วนประกอบส่งให้อุตสาหกรรมยานยนต์กระทบค่อนข้างมากโดยเฉพาะในช่วง 9 เดือนแรกยอดขายหายไปร้อยละ 15-20 แต่เดือนตุลาคมการผลิตเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามา 3) อุตสาหกรรมและการค้าที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและในประเทศที่ชะลอตัวมากตั้งแต่ต้นปี โรงงานผลิตอาหาร-สินค้าพื้นเมืองยอดขายหายไปร้อยละ 20 (ปี 2556 ยอดขายลดลงร้อยละ 40) บางโรงงานลดคนงานถึงร้อยละ 30 สำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับ อัญมณี-ของชำร่วยต่างๆ ยอดผลิตและขายลดลงต่อเนื่องร้อยละ 30-50 แต่ช่วงเดือนตุลาคมเริ่มดีขึ้น ยอดขายลดลงร้อยละ 15-20 เมื่อเทียบจากปี 2557 4) ธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์และวัสดุการก่อสร้างชะลอตัว ในต่างจังหวัดราคาอสังหาริมทรัพย์ในบางจังหวัดเริ่มอิ่มตัว ส่งผลต่อบ้านทาวน์เฮาส์และคอนโดมีเนียมเริ่มติดมือผู้ประกอบการปล่อยไม่ออกหรือผู้ซื้อไม่ผ่านด้านเครดิต-ไฟแนนซ์ทำให้โอนไม่ได้ กระทบต่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่มีทุนจำกัดอย่างรุนแรง ขณะที่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น เสาเข็ม, อิฐบล็อก, เหล็ก ในช่วงครึ่งปีหลังชะลอตัว ยอดผลิต-ขายหายไปร้อยละ 40-50 โรงงานต้องหยุดผลิตเพื่อรอคำสั่งซื้อ ทั้งนี้โครงการก่อสร้างในจังหวัดส่วนใหญ่งบประมาณในช่วงเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน งบยังไม่ลงในจังหวัดกระทบต่อผู้ประกอบการก่อสร้างในงานรัฐบาล 5) อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับยางพาราได้รับผลกระทบ มูลค่าการส่งออกยางแผ่นรมควันในเดือนตุลาคมมีมูลค่าลดลงร้อยละ 40 ขณะที่อุตสาหกรรมไม้ยางเพื่อการส่งออกติดปัญหาเศรษฐกิจจีนชะลอตัวทำให้ยอดขายลดลง อีกทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยางมูลค่าการส่งออกชะลอตัวถึงขั้นติดลบ อุตสาหกรรมทำถุงมือยางขนาดใหญ่ในจังหวัดสงขลาถึงขั้นต้องปิดโรงงาน 1.2 ธุรกิจด้านบริการ 1) ร้านค้าปลีก-ส่ง หากเป็นเครือข่ายของเมกะสโตร์จากต่างชาติหรือจากส่วนกลางกระทบไม่มาก แต่ช่วงครึ่งปีแรกยอดขายลดลง แต่หากเป็นร้านค้าปลีกรายย่อยหรือโชห่วยรวมทั้งร้านอาหารตัวเลขการขายซบเซาหายไปร้อยละ 20-30 ขณะที่สินค้าประเภทน้ำอัดลมเครื่องดื่มยอดขายลดลงกว่าร้อยละ 10-15 2) ธุรกิจโรงแรม-ท่องเที่ยว ซึ่งเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ต้นปีและในเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมยังกระทบมาก อัตราเข้าพักไม่ถึงร้อยละ 40 แต่ช่วงหลังมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากตัวเลขจึงเริ่มดีขึ้นและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น สำหรับโรงแรมเกี่ยวกับสัมมนาตัวเลข 3 ไตรมาสยอดการใช้บริการตกไปร้อยละ 20 เพราะติดปัญหาการเมืองในประเทศ แต่ช่วงตุลาคม-พฤศจิกายนเริ่มดีขึ้นรายได้ลดลงร้อยละ 8-10 เมื่อเทียบจากปีที่แล้วเพราะทางหน่วยราชการเร่งใช้งบประมาณทำให้มีการจัดสัมมนามากขึ้น 3) ธุรกิจเกี่ยวกับการศึกษาและโรงพยาบาลของเอกชน ส่วนใหญ่แจ้งว่าผู้ปกครองนำเด็กออกไปเรียนโรงเรียนรัฐบาลมากขึ้นและมีแนวโน้มการค้างค่าเล่าเรียนในอัตราที่สูงมาก สำหรับโรงเรียนประเภทสอนแบบนานาชาติกระทบค่อนข้างมาก สำหรับโรงพยาบาลเอกชนในต่างจังหวัดมีผลกระทบบ้างแต่ไม่มากเพราะมีน้อย ส่วนใหญ่ประชาชนพึ่งพาโรงพยาบาลและสถานีอนามัยของรัฐ รวมทั้งคลินิกแพทย์ซึ่งธุรกิจพยาบาลในต่างจังหวัดยังเติบโตได้ 2. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2558 2.1 เศรษฐกิจไทยในปี 2558 จะเติบโตได้จากการลงทุนภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงิน 3.63 แสนล้านบาท โดยในไตรมาสแรกรัฐบาลจะใช้จ่ายในงบลงทุนประมาณ 1.4 แสนล้าน ซึ่งจะทำให้การลงทุนภาครัฐขยายตัวได้ร้อยละ 9.8 จากที่ติดลบในปี 2557 ร้อยละ -5.0 2.2 การลงทุนเอกชนและการบริโภคมีแนวโน้มที่ดีขึ้น คาดว่าขยายตัวได้ร้อยละ 4.8 จากที่ขยายตัวติดลบในปี 2557 ร้อยละ -1.0 ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าอยู่ที่การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลในช่วงปลายปีได้ใช้งบคงเหลือจากงบไทยเข้มแข็ง งบกระตุ้นการจ้างงาน งบช่วยชาวสวนยางและชาวนา รวมกันประมาณ 9.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งน่าจะส่งผลต่อการกระตุ้นการบริโภคให้กลับมาขยายตัวโดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 2558 จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.6 จากที่ขยายตัวได้ร้อยละ 1.8-2.0 ในปีที่แล้วและการบริโภคภาครัฐปี 2558 จะขยายตัวได้ร้อยละ 5.6 จากที่ขยายตัวในปี 2557 ร้อยละ 3.6 2.3 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องพึ่งพาต่อภาคส่งออก ในปี 2558 มีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจากสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น โดยเฉพาะจีน เศรษฐกิจอาจขยายตัวต่ำสุดในรอบ 10 ปี อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าการส่งออกในปี 2558 จะขยายตัวได้ร้อยละ 4.0 จากที่ขยายตัวในปี 2557 ร้อยละ 0.5-0.7 และการนำเข้าในปี 2558 จะขยายตัวร้อยละ 5.0 จากที่ขยายตัวติดลบร้อยละ -6.5 สำหรับผู้ส่งออกรวมทั้งผู้นำเข้าจะต้องมีการติดตามการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งคาดว่าในช่วงไตรมาสแรกตลาดการเงินจะได้รับอิทธิพลจากเงินทุนเคลื่อนย้ายโดยเฉพาะกรณีของยุโรปซึ่งธนาคารกลาง (ECB) อาจมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการออกมาตรการ QE ในการซื้อพันธบัตรในตลาดรอง (คล้ายกับที่สหรัฐฯเคยทำ) ซึ่งจะทำให้เงินยูโรอาจอ่อนค่าและมีเงินไหลออก แต่เงินบาทของไทยในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างมีเสถียรภาพ ในช่วง 3 เดือนเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 32.76 บาทต่อเหรียญสหรัฐ 2.4 เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 2558 อาจพึ่งพาการส่งออกไม่ได้มากนักเพราะยังมีปัจจัยความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศซึ่งขึ้นอยู่กับการผลักดันงบกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้จริงตามเป้าหมายโดยเฉพาะการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำทั้งข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง รวมทั้งปัญหาหนี้สินครัวเรือนซึ่งอยู่ในอัตราที่สูงและเป็นปัจจัยบั่นทอนอำนาจซื้อของประชาชนและจะส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศให้มีการฟื้นตัว ทั้งนี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2558 มีโอกาสฟื้นตัวจากปัจจัยเกื้อหนุนจากภาคการท่องเที่ยวในซึ่งมีแนวโน้มที่จะกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกจากการที่การเมืองนิ่งและประเทศไทยไม่ได้ถูกแบล็คลิสจากต่างชาติ ทำให้การท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดีขึ้น โดยคาดว่ามีนักท่องเที่ยวประมาณ 30 ล้านคน ขยายตัวได้ร้อยละ 5.0 และมีเม็ดเงินเข้าประเทศ 1.4 ล้านล้านบาท หากรวมการท่องเที่ยวในประเทศจะมีเงินเข้ามาในระบบประมาณ 2.0 ล้านล้านบาท อีกทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มราคาลดลงจากการแข่งขันของผู้ส่งออกน้ำมันทั้งทางกลุ่มประเทศโอเปคและสหรัฐอเมริกาซึ่งกลับมาเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกซึ่งจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการบริโภคภายในประเทศ ทั้งหมดอาจเป็นปัจจัยทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจของไทยในปี 2558 ขยายตัวได้ร้อยละ 4-4.5 ขณะที่ปี 2557 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ไม่เกินร้อยละ 1.0 อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว เพียงแต่การฟื้นตัวจะมีความรวดเร็วเพียงใด จำเป็นที่จะต้องอาศัยหลายปัจจัยโดยเฉพาะการฟื้นตัวของภาคเอกชนเป็นสำคัญ 3. ข้อเสนอแนะ 3.1 การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า 1) รัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบแพคเกจ เพื่อเพิ่มอำนาจซื้อให้กับประชาชนโดยต้องมีโครงการระยะสั้นให้เม็ดเงินลงสู่ประชาชนโดยเร็ว เช่น คูปองซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค โครงการนำเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่ามาแลกซื้อสินค้าใหม่ โครงการจ้างงานระยะสั้นในชนบท โครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานในสถานประกอบการ ฯลฯ 2) การเร่งเบิกจ่ายเงินชดเชยเกษตรกร ทั้งชาวนาและชาวสวนยาง ซึ่งรัฐบาลมีเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาทแต่ไม่เกิน 15 ไร่ ยังมีเกษตรกรจำนวนมากยังไม่ได้รับเงิน โดยต้องเร่งพิจารณาผ่อนผันเกษตรกรซึ่งที่ดินทำกินมานานแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่สามารถได้รับเงินช่วยเหลือ 3) การเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณ รวมทั้งเงินลงทุนของรัฐซึ่งได้จัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานของรัฐในต่างจังหวัดเร่งเบิกจ่ายเพื่อให้เกิดการจัดซื้อ-จัดจ้างโดยเฉพาะโครงการก่อสร้างต่างๆ 3.2 เร่งการส่งออก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่การฟื้นตัวของภาคเอกชน จำเป็นที่จะต้องผลักดันด้านการตลาดอย่างเป็นระบบโดยร่วมมือกับสมาคมที่เกี่ยวข้องต่างๆ ขณะเดียวกันควรร่วมมือกับสมาคมธนาคารให้มีการแพคกิ้งเครดิตและการให้เครดิตกับลูกค้า ผู้สั่งซื้อสินค้า เพื่อเป็นการเพิ่มอุปสงค์ 3.3 การแก้ปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะยางพารา ข้าว อ้อย ผลไม้บางประเภทซึ่งราคาตกต่ำอย่างรุนแรง รัฐบาลควรหามาตรการต่างๆในการพยุงราคา เช่น 1) กองทุนมูลภัณฑ์กันชนยางพารา (Buffer Fund) ในการรับซื้อผลผลิตการเกษตรในราคาที่สูงกว่าเอกชน 2) การตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐ เอกชน ในการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเป็นรายสินค้า โดยให้เป็นการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านเกษตรทั้งรัฐ เอกชน และองค์กรเกษตรกร 3.4 การแก้ปัญหาสภาพคล่องและหนี้ครัวเรือน ทั้งในภาคผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและภาคประชาชนซึ่งเป็นปัจจัยบั่นทอนอำนาจซื้อให้กลับคืนมา โดยอาจดำเนินการดังต่อไปนี้ 1) การแก้ปัญหาสภาพคล่องในสถานประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีซึ่งธนาคารของรัฐและสมาคมธนาคารควรร่วมกันในการจัดโครงการกู้ระยะสั้นไม่เกิน 2 ปี โดยผู้ประกอบการสามารถนำโครงการหรือสัญญาซื้อ-ขายเป็นหลักประกัน 2) การแก้หนี้ครัวเรือน (1) ธนาคารออมสินและสมาคมธนาคารควรจัดให้มีโครงการผ่อนปรนระยะเวลาชำระหนี้ของลูกค้าที่ไม่ติด NPL โดยสามารถให้พักชำระหนี้จ่ายเพียงเงินต้นระยะเวลา 6 เดือน (2) การยืดขยายงวดการชำระหนี้ของหนี้จากการกู้เงินผ่อนบ้านหรือผ่อนรถ ซึ่งได้ชำระหนี้ 1 ใน 4 (3) ลูกค้าที่มีประวัติการชำระหนี้ดีควรให้มีการพิจารณาให้กู้เงินเพิ่ม เนื่องจากหนี้เหล่านี้มีหลักประกันเต็มจำนวนอยู่แล้วซึ่งจะช่วยลดการกู้เงินนอกระบบซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยที่สูง 3.5 ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2558 รัฐบาลควรมีนโยบายตรึงราคาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้อยู่ในอัตราปัจจุบัน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของประเทศอยู่ในอัตราต่ำ หากมีการปรับค่าจ้างจะมีการกระทบเป็นลูกโซ่มีผลต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ 3.6 การปฏิรูปโครงสร้างแรงงานทั้งระบบ เช่น 1) การแก้ปัญหาแรงงานพื้นฐานขาดแคลน รัฐบาลจะต้องมีนโยบายแรงงานต่างด้าวที่ชัดเจน โดยเฉพาะหลังการให้แรงงานต่างด้าวมารายงานตัวและการทำบัตรสีชมพูซึ่งสิ้นสุดลงในปลายปี 2558 หลังจากนั้นรัฐบาลจะมีมาตรการอย่างไรในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน 2) กองทุนส่งแรงงานต่างด้าวกลับบ้าน เพื่อไปทำพาสปอร์ตหรือต่ออายุวีซ่า ปัจจุบันรัฐบาลได้ยกเลิกเงินเก็บนายจ้างรายละ 1,000 บาท แต่แรงงานในพื้นที่แจ้งว่ายังไม่มีกฎกระทรวงรองรับ ทำให้ยังคงมีการเก็บเงินและการออกใบเสร็จรับเงินของหน่วยราชการล่าช้าและไม่ทราบว่าเงินเหล่านี้ไปอยู่ที่ใด 3) ควรพิจารณาการผ่อนผันแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมบีโอไอ แรงงานพื้นฐานมีการขาดแคลนควรผ่อนผันให้อุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมทั้งรายที่ได้รับอยู่แล้วกับรายใหม่ให้สามารถใช้แรงงานต่างด้าวในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของแรงงานทั้งหมด 4) การกำหนดนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งรัฐบาลกำลังส่งเสริมแต่ประเทศไทยขาดแรงงานจึงควรพิจารณาการใช้แรงงานต่างด้าว ที่จะต้องมีความพิเศษแตกต่างกับพื้นที่อื่น 5) ขอให้มีฐานข้อมูลความต้องการแรงงานในแต่ละจังหวัด เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการแก้ปัญหารวมทั้งการผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการ 6) การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานช่างฝีมือในระยะเฉพาะหน้า ควรให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานรับผู้จบปริญญาตรีหรือ ปวส.ซึ่งยังว่างงานจำนวนมากให้รับการฝึกอบรมงานช่างฝีมือซึ่งไม่ต้องใช้ทักษะสูงระยะเวลาอบรมประมาณ 1 ปี เพื่อผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้งานได้ ส่วนระยะต่อไปจะต้องสร้างแรงจูงใจด้วยการมีค่าตอบแทนคุณวุฒิ มาตรฐาน วิชาชีพอาชีวะรายสาขา โดยให้มีค่าจ้างไม่น้อยกว่าผู้สำเร็จปริญญาตรีรวมทั้งการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่จะเข้าศึกษาสายอาชีวะ 7) ควรมีการปรับปรุงด้านประกันสังคม ควรให้ประกันสังคมเข้าถึงยา และระบบการรักษาซึ่งมีคุณภาพ ควรส่งเสริมให้มีโรงพยาบาลหรือคลินิกเอกชนในต่างจังหวัดเพื่อให้เป็นทางเลือกของผู้ประกอบการในการรักษา 8) ทบทวนแรงงานคนพิการ ซึ่งกระทรวงแรงงานกำหนดให้สถานประกอบการซึ่งมีแรงงานทุก 100 คนจะต้องจัดหาแรงงานพิการ 1 คน หากไม่ครบจะต้องส่งเงินสมทบกองทุนช่วยเหลือคนพิการ แต่โดยข้อเท็จจริงแรงงานคนพิการมีไม่พอ อีกทั้งคนพิการมีทางเลือกไปประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้สูงกว่า กระทรวงแรงงานควรมีหน่วยงานรับแจ้งความต้องการของเอกชนและจัดหาแรงงานคนพิการให้พอเพียง หากหาไม่ครบเอกชนก็ไม่ควรต้องเสียค่าเงินสมทบกองทุนซึ่งปัจจุบันเป็นปัญหามากในภาคอุตสาหกรรม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ