จับตาวาระ: บอร์ด กสท. เตรียมถกผู้ประกอบการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทั้งดิจิตอลทีวีและเคเบิลทีวี

ข่าวเทคโนโลยี Monday December 22, 2014 14:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--กสทช. วาระสำคัญใน กสท.จันทร์นี้ บอร์ดต้องตัดสินใจเรื่องการลดหย่อนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและเงินรายปีเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนาฯ หลังชมรมผู้ประกอบการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลและสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยยื่นหนังสือมาเมื่อเร็วๆ นี้ รวมทั้งถกเรื่องการเข้าซื้อหุ้นสื่อเครือเนชั่นและแกรมมี่ของบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1988) จำกัด (มหาชน) ความคืบหน้าการแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลนิติบุคคลของบริษัทจีเอ็มเอ็มบี จำกัด และการพิจารณาผังรายการช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว วันนี้ (21ธ.ค.57) นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งที่ 55/2557 มีวาระน่าจับตา ได้แก่ การขอยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี และยกเว้นการนำส่งเงินรายปีเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ของผู้ประกอบการโทรทัศน์ระบบดิจิตอล และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย โดยชมรมผู้ประกอบการโทรทัศน์ระบบดิจิตอล อ้างว่าไม่สามารถหารายได้จากการประกอบการได้เต็มที่เนื่องจากความล่าช้าในการเปลี่ยนผ่านทั้งเรื่องการแจกคูปอง การขยายโครงข่าย ความไม่สงบทางการเมือง ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนต่างๆ ด้านสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยอ้างว่าไม่ได้ใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการ ดังนั้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตถือว่าไม่เป็นธรรม และต้องจัดสรรช่องที่เป็นทรัพย์สินของผู้ประกอบการเองให้กับทีวีดิจิตอลอีก 48 ช่อง และต้องลงทุนจำนวนมาก “"จริงๆ บอร์ด กสท. เคยมีแนวนโยบาย เรื่องการลดหย่อนค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตอลอยู่แล้ว และ เข้าใจความเดือดร้อนของช่องทีวีดิจิตอลที่ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาของการแจกคูปองล่าช้า แต่เรื่องนี้เกี่ยวกับเรื่องเงินทองที่ต้องเก็บเข้ารัฐ จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ในส่วนของเงินค่าประมูลต้องหารือคลังก่อน ส่วนค่าธรรมเนียมการกำกับดูแลของ กสทช. นั้น มีเงื่อนไขการลดหย่อนที่เน้นเรื่องการต้องมีเนื้อหาที่เป็นสาระประโยชน์ แต่การจะลดหย่อนด้วยเหตุผลอื่นๆ บอร์ด กสท. คงต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ กสทช. ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องปัญหาธรรมาภิบาลในการใช้งบ ปัจจัยหนึ่งเพราะรายได้ กสทช. เยอะเกินไปจากการเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆเช่นปีหน้า รายได้คาดการณ์จะถึง 7 พันล้าน สนง. กสทช. ตั้งงบ 5 พันล้าน ซึ่งยังสูงมากอยู่ อนาคตอาจต้องมีการปรับกติกาให้ลดการเก็บค่าธรรมเนียมเข้า สนง.กสทช. หรือ ให้นำส่งเข้าคลังแทน แล้วกำหนดเพดานให้ สนง. กสทช. ใช้เท่าที่จำเป็นในการกำกับดูแลจริงๆ” นางสาวสุภิญญา กล่าว สัปดาห์นี้มีวาระที่ กสทช.ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ เสนอให้พิจารณาด่วน คือ การเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ สืบเนื่องจากบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1988) จำกัด (มหาชน) หรือ “SLC” (ผู้ถือหุ้นในบริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด) เข้าซื้อหุ้นในสื่อเครือเนชั่นและแกรมมี่ซึ่ง กสท.ต้องพิจารณาว่าขัดเงื่อนไขการประมูล เงื่อนไขใบอนุญาตหรือไม่ ขัดกับมาตรา 9 ว่ามีการประกอบการด้วยตนเองหรือไม่ รวมทั้งกรณีดังกล่าวเข้าข่ายการครอบงำกิจการและตลาดหรือไม่ "เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ กสท. ต้องมีแนวทางที่ชัดเจนในการกำกับดูแล ไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม อีกทั้งจะกระทบต่อการผูกขาดครอบงำกิจการ ส่งผลต่อภาพรวมทีวีดิจิตอล และ ผู้บริโภคในที่สุด ถือเป็นกรณีทดสอบการกำกับตลาดโทรทัศน์ในระบบใบอนุญาตใหม่ของ กสทช. ด้วยต้องจับตา นับเป็นวาระประขุมสำคัญส่งท้ายปีนี้ ซึ่งครบรอบ 1 ปีของการประมูลทีวีดิจิตอลช่วงนี้เมื่อปีก่อนพอดี” นางสาวสุภิญญากล่าวเพิ่มเติม ที่ผ่านมา กสท. พบปัญหาเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคจากการเข้าซื้อหุ้นบริษัทจีเอ็มเอ็มบี ของ บริษัทซีทีเอชเคเบิลทีวี จำกัด เมื่อวันที่1 ส.ค. เนื่องจากมีเรื่องร้องเรียนที่ยังค้างอยู่ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทจีเอ็มเอ็มแซท จำกัดยังบริหารบริษัทจีเอ็มเอ็มบี จำกัด ดังนั้นคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ได้มีมติเชิญบริษัทจีเอ็มเอ็มแซท จำกัด บริษัทจีเอ็มเอ็มบี จำกัด และบริษัท ซีทีเอช เคเบิลทีวี จำกัด มาประชุมร่วมกันเพื่อชี้แจงแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลนิติบุคคลของบริษัทจีเอ็มเอ็มบี จำกัด เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา แต่บริษัทจีเอ็มเอ็มบีขอเลื่อนการประชุมออกไปเป็นวันที่ 10 ม.ค. 58 อย่างไรก็ตามในวันพรุ่งนี้มีผู้บริโภคบางรายที่ยินดียุติเรื่องร้องเรียน เนื่องจากพอใจการเยียวยาจากบริษัทจีเอ็มเอ็มบี เช่น การยกเลิก Package การถูกเรียกเงินเกินจำนวนค่าบริการ การปรับช่องรายการใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีวาระการอนุมัติผังรายการหลักของช่องรายการMCOT Kids&Family และช่องรายการ 3 Family ส่งเข้ามาพิจารณาอีกครั้งหลังถูกบอร์ดตีกลับไปให้แก้ไข เนื่องจากรายการยังไม่สอดคล้องกับช่องรายการเด็ก เยาวชน และครอบครัว รวมทั้งไม่พบรายการในเรท ด. และ ป. ในช่องดังกล่าว ดังนั้นต้องจับตาว่าผังรายการที่ปรับแก้แล้วของช่องเด็ก เยาวชนและครอบครัวจะผ่านการพิจารณาหรือไม่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ