สบส.ห่วงใยสุขภาพกลุ่มเสี่ยงช่วงฤดูหนาว เน้นมาตรการ 3อ.2ส. ส่งอสม.ดูแลอย่างใกล้ชิด

ข่าวทั่วไป Thursday December 25, 2014 11:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ส่งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ลงพื้นที่ แนะวิธีการปฏิบัติตนเฝ้าระวังสุขภาพในกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ย้ำมาตรการ 3 อ 2 ส. ป้องกัน การเกิดโรคที่มากับช่วงฤดูหนาวให้มีสุขภาพดี นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นช่วงที่เข้าสู่ฤดูหนาวสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง คือกลุ่มเด็ก กลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมาระหว่างเดือนตุลาคม 2556-กุมภาพันธ์ 2557 มีประชาชนได้รับผลกระทบจากอากาศหนาวกว่า 25 ล้านคน ใน 45 จังหวัด และมีผู้เสียชีวิต จำนวน 147 ราย โดยโรคที่พบบ่อยได้แก่ โรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคอีสุกอีใส และโรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก รวมไปถึงความหลงเชื่อว่าการดื่มสุราแก้หนาวซึ่งเป็นอันตรายอาจเสียชีวิตได้ กรมสบส.มีความห่วงใยสุขภาพของประชาชน โดยมอบให้สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขต ทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ กำชับให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ที่ปฏิบัติตนในพื้นที่เพิ่มให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการปฏิบัติตนให้ห่างไกลโรคที่มาพร้อมกับฤดูหนาว โดยใช้มาตรการ 3 อ. 2 ส. คือ 1. อ.อาหาร ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ควรรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ ควรหลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ สำหรับอาหารค้างคืนควรอุ่นให้ร้อนจัดก่อนรับประทานทุกครั้ง ดื่มน้ำที่สะอาด เช่น น้ำต้มสุก น้ำที่ผ่านเครื่องกรองที่ได้มาตรฐานและเลือกรับประทานน้ำแข็งที่สะอาดถูกหลักอนามัย 2. อ.ออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วันๆ ละ 30 นาที รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ เมื่ออากาศเย็นจัดหรือชื้นจัด หากต้องคลุกคลีกับผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าปิดปากและจมูก ล้างมือบ่อยๆ เมื่อต้องสัมผัสกับผู้ป่วยเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค และ 3. อ.อารมณ์ ทำจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ รวมทั้งพักผ่อนให้พอเพียงวันละ 6-8 ชั่วโมง 2 ส. คือไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มสุรา พบว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความเชื่อที่ผิดว่า สุราจะช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกายสามารถแก้หนาวได้ วิธีนี้ไม่ถูกต้องเพราะฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ไม่ได้สร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย แต่จะทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อนและกดประสาททำให้ง่วงซึมและหมดสติได้โดยไม่รู้ตัวหรือหากมีโรคประจำตัวเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ นต.นพ.บุญเรืองฯ กล่าวย้ำว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ใกล้เข้ามาประชาชนมักจะรับประทานอาหาร ประเภท อาหารมัน ทอด ปิ้งย่าง และขนมหวานพร้อมกับดื่มสุรา ซึ่งมักจะรับประทานในช่วงกลางคืนซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลเสียต่อร่างกายและอาจเกิดโรคตามมาเช่น โรคอ้วน โรคกรดไหลย้อน ดังนั้นควรเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย ให้คำนึงถึงผลเสีย เป็นหลัก เพื่อการรักษาสุขภาพที่ดีเป็นของขวัญให้แก่ตนเองและครอบครัวในปีใหม่นี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ