MPA นิด้า คาดเศรษฐกิจไทยปีหน้าเติบโตได้ร้อยละ 4.5 รับเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว แนะเร่งรัดใช้จ่าย และเดินทางเข้า AEC เต็มกำลัง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 30, 2014 15:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 เติบโตได้ดีขึ้นเล็กน้อย แม้การส่งออกจะชะลอตัวและการท่องเที่ยวจะลดลง แต่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้เล็กน้อย คาดว่าเศรษฐกิจ ปี 57 สามารถเติบโตได้ร้อยละ 1.2% สำหรับปี 58 งบประมาณต้องเร่งรัดเบิกจ่ายตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 และพร้อมเดินหน้าเต็มกำลังในการรุกตลาดการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศใน ASEAN รวมถึงการค้าชายแดน ด้วยการใช้ประโยชน์จากการเข้าสู่ AEC อย่างเป็นทางการ และจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา จึงคาดว่าเศรษฐกิจปี 58 ขยายตัวได้ร้อยละ 4.5 รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยปี 2557 นอกจากจะค่อยๆ ฟื้นตัวจากปัญหาทางการเมือง ซึ่งมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจภายในแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากมูลค่าการส่งออกที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ทั้งนี้ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคการส่งออกถึงร้อยละ 72.0 ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก จึงมีผลต่ออุปสงค์ต่างประเทศที่จะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ยังได้รับกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 8.6 โดยในส่วนของนักท่องเที่ยวอาเซียนนั้นชะลอตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 11.37 จากการประกาศกฏอัยการศึกซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว นอกจากนี้รัสเซียที่ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศผันผวน และต้องสูญเสียเงินสำรองระหว่างประเทศจากความผันผวนของระดับราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงและจากการแทรกแซงค่าเงิน ทำให้นักท่องเที่ยวรัสเซียลดลง คาดเศรษฐกิจไทยปี 2557 เติบโตได้เพียงร้อยละ 1.2 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจภายนอกประเทศ สหรัฐซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับสามของไทย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.2 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดนั้น ส่งสัญญาณทางเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยอัตราการว่างงานไตรมาสที่ 4 ที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.6 ซึ่งปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี นอกจากนี้ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 เติบโตได้ดีขึ้น คาดการณ์ได้ว่าปี 2558 เศรษฐกิจสหรัฐจะสามารถเติบโตได้ถึงร้อยละ 3.0 ซึ่งนับว่าเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลกและภาคการส่งออกของประเทศไทย นอกจากนี้ ประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยด้วยสัดส่วนร้อยละ 13.7 แม้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตในอัตราที่ลดลง แต่อัตราการเติบโตยังอยู่ที่ร้อยละ 7.3 ในปี 57 คาดว่าปี 58 เศรษฐกิจจีนจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 7.1 รวมถึงทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นด้วยมาตรการ QE แต่อาจจะชะลอตัวลงบ้างจากแนวโน้มมาตรการภาษีการบริโภค ซึ่งน่าจะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตได้ตลอดทั้งปี 58 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.5 – 1.0 ขณะที่ EU คาดว่าจะใช้มาตรการ QE ในเดือนมกราคม ซึ่งจะมีผลให้เศรษฐกิจยูโรขยายตัว 1.1% ในปี 2558 ทั้งนี้ในขณะเดียวกัน ความผันผวนทางเศรษฐกิจภายในประเทศรัสเซียที่เกิดขึ้น ส่งผลเสียต่อภาพรวมของการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจของรัสเซียพึ่งพาน้ำมันถึงร้อยละ 50 ดังนั้นเมื่อระดับราคาน้ำมันปรับตัวลดลง รายได้ของรัสเซียจึงได้รับผลกระทบ ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศจึงปรับตัวลดลง นอกจากนี้ รัสเซียยังสูญเสียทุนสำรองระหว่างประเทศเนื่องจากการรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนไปพร้อมกันด้วย อย่างไรก็ตามด้วยขนาดเศรษฐกิจรัสเซียที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก ด้วย GDP เท่ากับ 2.55 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐจึงไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกมากนัก ในขณะที่ผลกระทบกับไทยก็น้อยเพราะมีสัดส่วนการค้าเพียงร้อยละ 0.54 แต่อาจกระทบเล็กน้อยในภาคการท่องเที่ยว ส่วนประเด็นการเข้าสู่ AEC อย่างเป็นทางการในปี 58 นั้น นับได้ว่ามีความสำคัญและเป็นผลเชิงบวกต่อการเติบโตเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากประเทศไทยทำการค้ากับ ASEAN คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 25 โดยในส่วนนี้มีมูลค่าการค้าชายแดนประมาณ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจากความได้เปรียบในเรื่องของตำแหน่งที่ตั้ง และจุดการค้าชายแดน 89 แห่ง ที่เอื้อต่อภาคการค้านั้น ขณะที่ประเทศ ASEAN มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ 6.5% นับเป็นปัจจัยเชิงบวกและโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2558 รศ.ดร.มนตรี ยังกล่าวต่อว่า การลงทุนภายในประเทศได้รับอานิสงค์จากความตกลง AEC ซึ่งจะมีผลในปี 2558 มีโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2557 คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.3 ล้านล้านบาท โดยมีผลต่อการลงทุนในปี 2558 ประมาณ 8% จะเป็นปัจจัยบวกที่มีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 58 ส่วนภาคการบริโภคภายในประเทศ แนวโน้มในปี 2558 จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นจากนโยบายของภาครัฐซึ่งมีผลต่อรายได้และกำลังซื้อของประชาชน อาทิ นโยบายปรับขึ้นค่าจ้าง นโยบายช่วยเหลือราคาสินค้าเกษตรกร และนโยบายช่วยเหลือราคายาง นอกจากนี้ภาครัฐยังมีนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวโดยสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ จากมาตราการต่างๆ ดังกล่าวคาดว่าจะมีผลต่อการบริโภคในประเทศขยายตัวประมาณ 4% ในปี 2558 ส่วนการลงทุนภาครัฐ ซึ่งมีโครงการลงทุนต่างๆ หลายด้าน เช่น โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งได้รับการอนุมัติจาก ครม. แล้ว ตลอดจนความร่วมมือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรถไฟรางคู่ด้วย MOU 400,000 ล้านบาท หนองคาย-แก่งคอย แก่งคอย-กทม. ตลอดจนโครงการเศรษฐกิจดิจิตัลและการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและสำนักงานภูมิภาคโดยมีมาตรการภาษี ซึ่งนับเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผลจากปัจจัยเชิงบวกข้างต้นจะเห็นได้ชัดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ภายใต้การเร่งรัดเบิกจ่ายเงินงบประมาณและการแปลงนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จากปัจจัยเชิงบวกภายในประเทศด้านการลงทุน รวมทั้งการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจจากความตกลง AEC การบริโภคที่ฟื้นตัวโครงการและนโยบายกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐ ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ จีน และการดำเนินมาตรการ QE ของ EU และญี่ปุ่น ซึ่งจะมีผลทำให้ระดับอัตราดอกเบี้ยในประเทศของเขาลดต่ำลง และจะส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินจาก EU และญี่ปุ่นเข้าสู่ประเทศใน ASEAN มากขึ้น คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2558 ในภาพรวมจะขยายตัวได้ร้อยละ 4.5 จึงเป็นผลจากการส่งออกเติบโตได้ร้อยละ 5.0 การบริโภคภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 4.0 และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 8.0 ระดับอัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบร้อยละ 1.5-2.0 ระดับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.0 และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไทยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32-34 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ในปี 58 คาดว่าจะปรับตัวขึ้นเป็น 1,750 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และแผนการพัฒนาตลาดทุนของไทยกับ AEC

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ