กระทรวงเกษตรฯ เร่งหารือมาตรการพยุงราคาไข่ไก่ เน้นลดต้นทุนการผลิต รณรงค์การบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น และยกระดับไข่ไก่พรีเมี่ยมเพื่อส่งออก หวังสร้างสมดุลทั้งระบบ

ข่าวทั่วไป Monday January 5, 2015 12:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--กองเกษตรสารนิเทศ กระทรวงเกษตรและสกรณ์ น.สพ.สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบาย ไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ โดยมีนายวิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ว่า จากสถานการณ์ราคาไข่ไก่ในปัจจุบัน ฟองละ 2.20 บาท ทั้งที่มีต้นทุน 2.90 บาท ถือว่าต่ำกว่าต้นทุน 70 สตางค์ นั้น เป็นผลสืบเนื่องจากการยกเลิกการจำกัดโควตาการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ เมื่อปี 2553 ทำให้มีการนำเข้า แม่พันธุ์อย่างเสรีมากขึ้น ซึ่งได้ขอความร่วมมือในการนำเข้าให้ลดลง ส่วนต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น กรมปศุสัตว์ได้มีการวางแผนพัฒนาการเลี้ยงให้มีต้นทุนที่ลดลง โดยเฉพาะต้นทุนด้านอาหารสัตว์ ซึ่งได้มีคณะกรรมการคำนวณด้านต้นทุน เข้ามากำกับดูแลและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ที่ประชุมได้เตรียมการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ดังนี้ 1.ปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรงเร็วกว่ากำหนด 2.ส่งเสริมการบริโภคไข่ไก่ จาก 200 ฟอง/ปี/คน เป็น 300 ฟอง/ปี/คน และ 3.การส่งเสริมการส่งออกไข่ไก่ที่ได้มาตรฐานระดับพรีเมี่ยม และได้มีการหารือแผนการผลิตในปี 2558 โดยคาดการณ์สถานการณ์ ในปีหน้า เบื้องต้นได้มีการสรุปตัวเลขการคาดการณ์ผลผลิตไข่ไก่ ด้านการผลิตจากปริมาณแม่ไก่ยืนกรงจำนวน 53 ล้านตัว จะสามารถให้ผลผลิตไข่ไก่ 15,100 ล้านฟอง/ปี เฉลี่ย 41 ล้านฟอง/วัน ด้านการตลาดจะมีปริมาณการส่งออกไข่ไก่ 490 ล้านฟอง/ปี และการบริโภคในประเทศ 14,610 ล้านฟอง/วัน โดยได้เน้นมาตรการรักษาสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานเพื่อพยุงราคาไข่ไก่ และการดูแลให้เกิดความเป็นธรรมทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค ส่วนนโยบายการพัฒนาไก่ไข่ได้เตรียมดำเนินการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจด้านไก่ไข่ เพื่อให้ช่วยเหลือสมาชิกด้วยกันเองในเบื้องต้นเมื่อเกิดปัญหา ด้านการส่งเสริมการบริโภค ได้มีมาตรการรณรงค์ให้บริโภคไข่ไก่เพิ่มขึ้นเป็น 300 ฟอง/ปี/คน และมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งครั้งล่าสุดได้มีการจัดงาน “วันไข่โลก” เมื่อ 10 ตุลาคม ที่ผ่านมา ผลการจัดกิจกรรมได้รับความร่วมมือด้วยดีจากหลายภาคส่วนและประสบความสำเร็จอย่างมาก และด้านการส่งออกโดยการสร้างมาตรฐานให้ได้ผลิตภัณฑ์ไข่ไก่ที่มีคุณภาพ เป็นสินค้าพรีเมี่ยม โดยการยกระดับมาตรฐานฟาร์ม โรงงาน โรงฟัก เป็นต้น ทั้งนี้หากได้ตัวเลขประมาณการเกี่ยวกับการคาดการณ์สถานการณ์ไก่ไข่ในปีหน้าอย่างไรแล้ว ทางคณะกรรมการฯ จะได้ประชุมเพื่อดำเนินการแผนงานต่อไป ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และต้องดูแลทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคควบคู่กันไป ในปีหน้า กรมปศุสัตว์ได้เตรียมการเข้าไปแนะนำกำกับดูแลการเลี้ยง การดูแลสุขภาพ รวมทั้งการช่วยเหลือเกษตรกรเมื่อเกิดปัญหาราคาตกต่ำโดยผ่านคณะกรรมการฯต่อไป น.สพ.สรวิศ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ