รู้จัก DOM โพลตัวแรงฝีมือเด็กไทย

ข่าวทั่วไป Monday January 5, 2015 17:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี DOM โพลตัวแรงของไทยบนโลก IT ฝีมือเด็กไทย ดึงข้อมูลจากโซเชียลเน็ตเวิร์ค เพื่อวิเคราะห์หาประเด็นที่มีคนพูดถึงมากที่สุดทั้งแง่บวกและลบ เชื่อมโยงการวิเคราะห์ตลาดด้วยโปรแกรมภาษาไทย ต่อไปนี้ใครจะพูดเรื่องอะไรในโซเชียลเน็ตเวิร์ค จะพูดบวกหรือลบ หรือพูดกำกวม ในแง่มุมใดๆ ก็แล้วแต่ ล้วนมีผลต่อวิเคราะห์ประเมินผลของ DOM หรือ Data and Opinion Mining Engine ระบบที่เข้ามาทำหน้าที่ในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการใช้สินค้าบริการ รวมถึงเหตุการณ์สำคัญ และแง่มุมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม DOM หรือ Data and Opinion Mining Engine คือโครงการพัฒนา Smart Social Network Analytics Tool เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล (Big Data) จากโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลความคิดเห็นของคนทั่วไปได้อย่างกว้างขวางในระยะเวลาอันสั้น มันจะทำหน้าที่เก็บข้อมูลจากโซเชียลเน็ตเวิร์คทั้ง Facebook, Twitter, Foursquare และ Pantip เพื่อทำการวิเคราะห์ความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ เช่น ความคิดเห็นของประชาชนต่อสินค้าและบริการ ความคิดเห็นของประชาชนต่อการใช้บริการสาธารณะ เป็นต้น โดยดอมยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ Influencer Analysis เพื่อระบุผู้คนที่มีอิทธิพลในการพูดถึงแบรนด์นั้นๆ บนโซเชียลเน็ตเวิร์ค, Sentiment Analysis เพื่อวิเคราะห์ความคิดเห็นของแต่ละข้อความจากโซเชียลเน็ตเวิร์ค และ Abnormal Situation Detection เพื่อทำการตรวจหาเหตุการณ์ผิดปกติ (Anomaly Event ) หรือประเด็นสำคัญต่างๆ ที่ถูกพูดถึงมากผิดปกติ โดยวิเคราะห์จากความถี่ของการ Tweets ข้อความในแต่ละพื้นที่ DOM ที่พูดถึงนี้ ถูกพัฒนาขึ้นโดยฝีมือนักศึกษาระดับปริญญาตรีของไทย 4 คน คือ นารีรัตน์ แซ่เตียว หรือ “น้องหยก” พัชรพร เจนวิริยะกุล หรือ “น้องพลอย” สิรภพ ณ ระนอง หรือ “ไม้เอก” และเทพฤทธิ์ วงศ์แก้ว หรือ “บอย” ทั้งหมดปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาโทชั้นปีที่ 1 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หยก หัวหน้าโครงการ เล่าว่าพวกเขาเริ่มเขียนโปรแกรมนี้ขึ้นจากแรงบันดาลใจจากการไปฝึกงานที่ประเทศสิงคโปร์ และมีโอกาสได้ฝึกงานร่วมกับองค์กรที่มีการทำเอาข้อมูลในโชเซียลเน็ตเวิร์คมาประมวลผลเพื่อให้ได้ผลลัพธ์บางอย่าง ซึ่งจากการค้นคว้าพบว่าระบบที่ว่านี้ส่วนใหญ่จะถูกเขียนขึ้นเป็นภาษาอังกฤษและยังไม่ค่อยมีใครทำเป็นระบบภาษาไทย พอกลับมาก็อยากจะทำโปรแกรมแบบนี้เป็นภาษาไทยบ้าง โดยทำเป็นโปรเจคจบการศึกษาช่วงปริญญาตรี “เพราะในโซเชียลเขาพูดกันทุกเรื่องอยู่แล้ว แล้วเป็นการพูดที่มาจากคอมเม้นที่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวจริงๆ เวลาที่ใครอัพสถานะ ขึ้นเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ เราก็เอาข้อมูลตรงนั้นมาวิเคราะห์ว่าเขาพูดถึงอะไรแล้วที่เขาพูดเป็นในแง่บวกหรือลบ เพื่อตอบคำถามในหลายๆ เรื่อง ปัจจุบันในวงการดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งเวลาเขาทำโฆษณา เกี่ยวกับแบรนด์ของเขาที่เพิ่งออกอากาศไปเขาอยากรู้ผลตอบรับของสินค้า ระบบนี้จะช่วยได้ หรือหากเป็นด้านสังคม เช่น สามารถตรวจสอบได้ว่ามีรถติดที่ไหนเกิดขึ้นบ้างจากการวิเคราะห์ข้อความที่มีคนพูดถึงเรื่องรถติดมากที่สุดบริเวณไหน หรือพื้นที่ใดมีคนบ่นเรื่องอินเตอร์เน็ต wifi มากที่สุด เป็นต้น แต่ข้อจำกัดก็คือ ถ้าเป็นประเด็นที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้พูดถึงก็อาจจะนำมาวิเคราะห์ไม่ได้ เช่น สถานะการเงินส่วนบุคคล แต่ถ้าเป็นประเด็นทั่วไป เช่น ชีวิตประจำวัน สินค้าและบริการทั่วไป ที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ก็ทำได้” ความสามารถของ DOM จะทำหน้าที่คล้ายกับโพลเพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป แต่มีความแตกต่างอยู่ตรงที่ DOM สามารถทำงานได้เองโดยคำสั่งจากโปรแกรมเมอร์ที่ออกแบบให้มันมีความสามารถในการเข้าไปเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ ที่มีการโพสต์ ทวิตและอัพโหลดความคิดเห็นของผู้คนจากคีย์เวิร์ดที่ต้องการสำรวจ แล้วมาประมวลผลว่าคนส่วนใหญ่กำลังพูดเรื่องนั้นๆ ไปในทิศทางที่เป็นลบหรือเป็นบวก แทนที่จะมีคนถือแบบสอบถามเดินออกไปสัมภาษณ์ตัวต่อตัวซึ่งใช้เวลาในการเก็บข้อมูลและประเมินผลนานกว่าจะได้แบบสอบถาม 100-1,000 ตัวอย่าง แต่ DOM สามารถเข้าไปรวมรวมข้อมูลการพูดถึงมาไว้หลังบ้านได้เป็นแสนๆ ข้อความหรือมากเท่าที่มีคนโพสต์ข้อความบนโซเชียลเน็ตเวิร์คเลยก็ว่าได้ เรียกได้ว่าเป็นการดึงเอาความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ ที่คนเขาพูดกันอยู่แล้วบนโลกออนไลน์ ดึงเอามาวิเคราะห์โดยอัตโนมัติ ซึ่งเราจะได้ความคิดเห็นที่กว้างมากขึ้นครอบคลุมมากขึ้นและใช้เวลาสั้น ประหยัดค่าใช้จ่าย ครอบคลุมคนในปริมาณมหาศาลมากขึ้น รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล รองคณบดีฝ่ายพัฒนาการศึกษา และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ.เปิดเผยว่า DOM กวาดรางวัลต่างๆ มาแล้ว 7 รายการจากเวทีแข่งขันนวัตกรรมทั้งในและต่างประเทศ ล่าสุดคือการชนะเลิศหมวดโปรแกรมเพื่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จาก National Software Contest (NSC 2014) และอยู่ระหว่างการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเพื่อให้การใช้งานของระบบนี้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าครอบคลุมให้ได้มากที่สุด “มจธ.เราเน้นเรื่อง Commercialization ของโปรเจคนักศึกษา เรามี Entrepreneurship Program เพื่อกระตุ้นให้ผลงานนักศึกษาออกสู่ตลาดได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมามีนักศึกษาที่สามารถเปิดบริษัทได้เองแล้วหลายรุ่นและคาดว่าในปีหน้าจะมีนักศึกษาเรียนจบออกไปและสามารถมีบริษัทเป็นของตัวเองได้ไม่น้อยกว่า 3 ทีม” ดร.ธีรณี กล่าว ปัจจุบันมีการนำข้อมูลผลการวิเคราะห์จาก DOM ไปใช้ใน 2 ลักษณะคือ แอพพลิเคชั่น สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Application) ชื่อว่า “Ask DOM” และเว็บแอพพลิเคชั่น ที่เรียกว่า “DOM Dashboard” “Ask DOM เป็นระบบแนะนำและประเมินความคิดเห็นโดยการวิเคราะห์ข้อมูลเครือข่ายสังคมออนไลน์พัฒนาขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลระดับความพึงพอใจของประชาชนต่อเรื่องราวต่างๆ โดยวิเคราะห์จากความคิดเห็นของประชาชนประกอบกับข้อมูลการเดินทางและการจราจรพื้นฐาน โดยอ้างอิงจากตำแหน่งปัจจุบันของผู้ใช้งาน ซึ่งผู้ใช้งานสามารถค้นหาข้อมูลที่สนใจโดยใช้คำสำคัญ (Keywords) หรือประโยคคำถาม ในภาษาธรรมชาติที่ต้องการได้ และผู้ใช้งานยังสามารถเรียกดูข้อมูลสถานที่สำคัญ เหตุการณ์และกิจกรรมต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งข้อมูลการจราจร ในรูปแบบของแผนที่กรุงเทพมหานครได้อีกด้วย” สำหรับการเป็นเว็บแอพพลิเคชั่นนั้น DOM Dashboard ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลความคิดเห็นของประชาชนต่อแบรนด์ ธุรกิจ หรือสินค้าและบริการในมิติต่างๆ เช่น คุณภาพสินค้า การบริการ ซึ่งมีการเปรียบเทียบผลตอบรับกับแบรนด์คู่แข่งในธุรกิจประเภทเดียวกัน เพื่อให้เจ้าของธุรกิจสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรับปรุงสินค้าหรือบริการให้มีประสิทธิภาพ และตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ