สคร.7 เตือนเฝ้าระวังการระบาดอีสุกอีใสช่วงหน้าหนาว

ข่าวทั่วไป Wednesday January 7, 2015 14:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ม.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี สคร.7 เตือนประชาชนเฝ้าระวังการระบาดของโรคอีสุกอีใสช่วงหน้าหนาว แนะกลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำ นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.7) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ข้อมูลจากกลุ่มระบาดวิทยา สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 พบผู้ป่วยโรคอีสุกอีใสในพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 6087ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดคือกลุ่มอายุ 5 - 9 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2556 พบมีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น จึงต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในหน้าหนาว เนื่องจากโรคสุกใสเกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อโดยการหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำมูก และน้ำลายของผู้ป่วยเข้าไปเช่นเดียวกับไข้หวัด การใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย หรือการสัมผัสน้ำเหลืองจากตุ่มพองใสที่ผิวหนังของผู้ป่วย ประชาชนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคทุกวัย มีโอกาสป่วยได้ กลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี มะเร็ง เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำ หากติดเชื้อแล้ว อาจมีความเสี่ยงอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น โรคอีสุกอีใส มักเกิดในเด็กโดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำ อาการจะเริ่มด้วยไข้ต่ำๆ ต่อมามีผื่นขึ้นที่หนังศีรษะ หน้า ตามตัว โดยเริ่มเป็นผื่นแดง ตุ่มนูน แล้วเปลี่ยนเป็นตุ่มพองใสในวันที่ 2-3 นับตั้งแต่เริ่มมีไข้ เริ่มแห้งตกสะเก็ดและร่วงในเวลา 5-20 วัน ผื่นอาจขึ้นในคอ ตา และในปากด้วย ผู้ป่วยควรพักผ่อนให้เพียงพอและให้ร่างกายได้รับความอบอุ่นอยู่เสมอ หากมีไข้ควรรับประทานยาลดไข้ ประเภทพาราเซตามอล หากมีอาการเจ็บคอหรือไอควรปรึกษาแพทย์ เด็กนักเรียนที่ป่วย ควรให้หยุดเรียนประมารณ 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่มีอาการคันมากอาจใช้ยาทา โดยปรึกษาแพทย์ก่อน ดูแลรักษาผิวหนังให้สะอาด ไม่ควรแกะตุ่มหนอง จะทำให้อักเสบ และควรตัดเล็บให้สั้น สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อต้องปฏิบัติงาน และคลุกคลีกับผู้อื่น หากเป็นไปได้ผู้ป่วยต้องหยุดอยู่บ้านเป็นเวลา 3-7 วัน หรือจนกว่าจะหาย นพ.ศรายุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันโรคอีสุกอีใสโดยทั่วไปเหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัด และโรคหัด โดยการหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดมือ ของเล่น ร่วมกับผู้ป่วย ใช้กระดาษทิชชูหรือผ้าเช็ดหน้า ปิดปาก ปิดจมูกทุกครั้ง เวลาไอ จาม ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือใช้แอลกอฮอล์เจล ทำความสะอาดมือ เช็ดทำความสะอาดพื้นผิวและสิ่งของที่มีคนสัมผัสบ่อยๆ เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ หลักเลี่ยงสถานที่มีคนพลุกพล่าน อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น ห้างสรรพสินค้า สวนสนุก เป็นต้น และหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการป้องกันโรคอีสุกอีใสสามารถโทรศัพท์สอบถามได้ ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ