ไมโครซอฟท์เผยวิสัยทัศน์ไอที 2000 ย้ำพัฒนาภาครัฐและการศึกษา

ข่าวทั่วไป Tuesday July 7, 1998 14:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--7 ก.ค.--ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย)
นายพีระพงษ์ เอื้อสุนทรวัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยหลังจากเดินทางไปเข้าร่วมงาน "Microsoft Empowerment 2001: Technology in Government and Education" ที่ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จัดขึ้นที่เมืองซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาและใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศยุค 2000 อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดว่า
"เป้าหมายสำคัญในการจัดงานในครั้งนี้ก็เพื่อนำเสนอวิสัยทัศน์และแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพื่อปรับปรุงโครงสร้างและระบบการทำงานของภาครัฐในการให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีบิลล์ เกตส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น และผู้บริหารระดับสูงซึ่งมีความเชี่ยวชาญพิเศษในด้านต่าง ๆ มาร่วม ชี้แจงและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์มาประยุกต์ใช้อย่างคุ้มค่าให้แก่ ผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานด้านการพัฒนาและปรับปรุงเทคโนโลยีสารสนเทศของภาครัฐกว่า 300 คน จาก 56 ประเทศทั่วโลก"
เนื้อหาสาระสำคัญในการประชุม "Microsoft Empowerment 2001: Technology in Government and Education" มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างและสร้างสรรค์โซลูชั่นใหม่ ๆ ในการบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศของภาครัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการทำงานและการให้บริการสังคม โดยเฉพาะทางด้านการสื่อสารและการศึกษาบนพื้นฐานระบบเศรษฐกิจและสังคมโลกาภิวัฒน์ เช่น การใช้ระบบ Digital Nervous System ออกแบบและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดหาและฝืกอบรมการใช้เทคโนโลยี และการสร้างสรรค์บริการรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระดับโลก
นายพีระพงษ์ กล่าวเสริมต่อไปว่า เพื่อให้ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมและได้ประโยชน์สูงสุดจากงานประชุม Microsoft Empowerment 2001 ครั้งนี้ ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้เชิญตัวแทนผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐของไทย และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไอทีของประเทศไปร่วมประชุมด้วย ได้แก่ ดร.ไพรัช ธัชยพงศ์ ผู้อำนวยการ ดร. ครรชิต มาลัยวงศ์ รองผู้อำนวยการ และดร. ทวีศักดิ์ ก่อนันทกูล รองผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)และ ดร. รอม หิรัญพฤกษ์ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และในโอกาสนี้ทางไมโครซอฟท์ก็ได้จัดให้มีการประชุมกลุ่มย่อยระหว่างตัวแทนจากประเทศไทยกับ มร. บลาส การ์เซีย โมรอส ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหารือเกี่ยวกับโอกาสและความเป็นไปได้ ที่ไมโครซอฟท์จะเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศรูปแบบใหม่ ๆ ให้แก่ประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น ซึ่งผลการเจรจาในครั้งนี้เป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง"
สำหรับนโยบายของไมโครซอฟท์เรื่องการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศไทยนั้น พีระพงษ์กล่าวเสริมว่า จะไม่จำกัดอยู่กับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งโดยเฉพาะ แต่จะเปิดกว้างให้โอกาสองค์กรและหน่วยงานทุกแห่ง ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมและได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์จะนำรูปแบบการให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ในประเทศไทย และให้ประโยชน์ในระยะยาวมาใช้อย่างเต็มที่ เช่น การให้ความสนับสนุนเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ผ่านทางตัวแทนจำหน่าย และการเปิดสาขา "ไมโครซอฟท์ รีเทล เซ็นเตอร์" ตามศูนย์กลางธุรกิจการค้า เพื่อสนับสนุนให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทุกกลุ่มได้มีโอกาสซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และถือเป็นการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมาย รวมทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ต่างชาติหันมาลงทุนในโครงการซอฟต์แวร์ พาร์คของไทยมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
"ไมโครซอฟท์ เชื่อมั่นว่าการประชุมในครั้งนี้จะเป็นการเตรียมตัวองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนให้สามารถรับมือกับเทคโนโลยีและการแข่งขันระดับโลกที่จะมาพร้อมกับศตวรรษที่ 21 และเป็นแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารที่สามารถปรับปรุงรูปแบบการดำเนินชีวิตของประชาชนทั้งทางด้านการศึกษา การเรียนรู้ และการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป" นายพีระพงษ์กล่าวในที่สุด
ไมโครซอฟท์ก่อตั้งเมื่อพ.ศ. 2518 และเป็นผู้นำการพัฒนาและการตลาดของซอฟต์แวร์สำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal Computer - PC) ทางบริษัทฯ มีซอฟต์แวร์หลายประเภทให้เลือกใช้ทั้งสำหรับที่ทำงานและที่บ้าน ทั้งนี้ ซอฟต์แวร์ทุกตัวพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้ได้รับความสะดวกในการใช้งานและประโยชน์สูงสุดจากเครื่องพีซี ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) เป็นผู้พัฒนาและขายสินค้าไมโครซอฟท์ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในประเทศไทย และมีบริการหลังการขายให้แก่ผู้ซื้อลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้อง ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์ได้ที่ โทร.632-0860-3 และ 632-0255-7--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ