เป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2558

ข่าวทั่วไป Thursday January 8, 2015 14:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ม.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีในการประชุมคราววันที่ 6มกราคม 2558 มีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2558 ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงินและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อให้เป็นตามบทบัญญัติในมาตรา 28/8 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2551 สรุปได้ ดังนี้ 1. กำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2558 ไว้ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2558 ที่ร้อยละ 2.5 ± 1.5 ต่อปี 2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2558 โดยข้อตกลงดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้ (1) เป้าหมายของนโยบายการเงิน เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพด้านราคา ประจำปี 2558 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2558 ที่ร้อยละ 2.5 ± 1.5 ต่อปี (2) การติดตามความเคลื่อนไหวของเป้าหมายของนโยบายการเงิน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะจัดให้มีการหารือร่วมกันเป็นประจำทุกไตรมาสและเมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นใดตามที่ ทั้งสองหน่วยงานจะเห็นสมควร (3) การเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานออกนอกเป้าหมาย กรณีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวออกนอกช่วงเป้าหมายตามที่ได้ตกลงร่วมกันไว้ให้คณะกรรมการนโยบายการเงินชี้แจงสาเหตุ แนวทางแก้ไข และระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับ เข้าสู่ช่วงที่กำหนดไว้โดยเร็ว รวมทั้งให้รายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาเป็นระยะตามสมควร (4) การแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงิน ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและคณะกรรมการนโยบายการเงิน อาจตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ การกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2558 เป็นการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายนโยบายการเงินจากเดิมที่กำหนดไว้ที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาสที่ร้อยละ 0.5 – 3.0 ต่อปี เป็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีที่ร้อยละ 2.5 ± 1.5 ต่อปี ซึ่งจะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินสะท้อนถึงระดับค่าครองชีพที่แท้จริงในชีวิตประจำวันมากขึ้น รวมทั้งเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงิน ช่วยให้สื่อสารกับสาธารณะถึงอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายได้ชัดเจนมากขึ้น และช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในการดำเนินนโยบายการเงินได้มากขึ้นด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ