ฟอร์ดเผยแผนการสัญจรอัจฉริยะพร้อม 25 โครงการทดลอง มุ่งเปลี่ยนวิธีการเดินทางของผู้คนทั่วโลก ณ งาน CES 2015

ข่าวยานยนต์ Thursday January 8, 2015 16:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ม.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์ - ฟอร์ดเผยแผนการสัญจรอัจฉริยะที่จะใช้นวัตกรรมล้ำสมัยช่วยยกระดับให้บริษัทก้าวนำไปอีกขั้น ทั้งด้านการเชื่อมต่อการสื่อสาร การสัญจร นวัตกรรมยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ การสร้างประสบการณ์ความพึงพอใจของลูกค้า และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ภายในงานมหกรรมแสดงสินค้าอิเล็คทรอนิคส์สำหรับผู้บริโภค (CES) ประจำปี 2015 - ฟอร์ดเผยโครงการทดลองด้านการสัญจร 25 โครงการพร้อมเปิดตัวในปีนี้ เพื่อทดสอบแนวคิดใหม่ๆ รวมถึงเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการคมนาคมที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยบริษัทจะนำผลลัพธ์ที่ได้มาใช้ประกอบการตัดสินในด้านการลงทุนในอนาคต - ฟอร์ดจัดแสดงระบบเชื่อมต่อการสื่อสาร ‘ซิงค์ 3’ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเชื่อมต่อการสื่อสารภายในรถที่ทันสมัยที่สุดของบริษัท พร้อมเผยถึงนวัตกรรมยานยนต์ขับขี่กึ่งอัตโนมัติที่มีอยู่ในปัจจุบันและนวัตกรรมยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนา ฟอร์ดเข้าร่วมงานมหกรรมแสดงสินค้าอิเล็คทรอนิคส์สำหรับผู้บริโภค (Consumer Electronics Show หรือ CES) ประจำปี 2015 พร้อมเผยถึงการนำนวัตกรรมล้ำสมัยมาใช้ทั้งเพื่อการสร้างสรรค์ยานยนต์อันทันสมัย และเพื่อร่วมเปลี่ยนแปลงวิธีการเดินทางของผู้คนทั่วโลกด้วยการแก้ไขปัญหาในการคมนาคมที่ปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ภายในงาน ฟอร์ดได้ประกาศแผนการสัญจรอัจฉริยะ (Ford Smart Mobility) ด้วยการนำนวัตกรรมล้ำสมัยมาช่วยยกระดับให้บริษัทก้าวนำไปอีกขั้นทั้งด้านการเชื่อมต่อการสื่อสาร การสัญจร นวัตกรรมยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ การสร้างประสบการณ์ความพึงพอใจของลูกค้า และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ฟอร์ดยังเผยถึงโครงการทดลองด้านการสัญจร 25 โครงการทั่วโลกที่เปิดตัวในปีนี้เพื่อทดสอบแนวคิดใหม่ๆ ในการสัญจร โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับผู้บริโภค พร้อมนำเสนอแนวคิดในการพัฒนายานยนต์ที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน และการเปิดช่องทางให้ผู้คนในสังคมโดยรอบได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านการจราจรร่วมกัน “นอกจากฟอร์ดจะจัดแสดงรถที่สามารถสื่อสารระหว่างกันได้ และเปิดเผยถึงแผนการพัฒนายานยนต์อัตโนมัติของเราภายในงาน CES แล้ว ในการมาร่วมงานครั้งนี้ เรายังมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญอีกประการหนึ่ง นั่นคือ การขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ ในทุกภาคส่วนในการดำเนินธุรกิจของเรา เพื่อนำเสนอทั้งรถยนต์และแนวทางในการสัญจรในรูปแบบต่างๆ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการเปลี่ยนวิธีการเดินทางของผู้คนโลก เช่นเดียวกับที่มร. เฮนรี ฟอร์ด เคยทำเมื่อ 111 ปีที่แล้ว” มร.มาร์ค ฟิลด์ส ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฟอร์ด กล่าว นอกจากนี้ ฟอร์ดยังได้จัดแสดงระบบเชื่อมต่อการสื่อสาร ซิงค์ 3 (SYNC 3) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเชื่อมต่อการสื่อสารภายในรถที่ทันสมัยที่สุดของฟอร์ด พร้อมเผยถึงนวัตกรรมยานยนต์ขับขี่กึ่งอัตโนมัติตามท้องถนนในปัจจุบันและนวัตกรรมยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนา โครงการทดลองด้านการสัญจร 25 โครงการทั่วโลก ก้าวแรกของแผนการสัญจรอัจฉริยะของฟอร์ดในปัจจุบัน ประกอบด้วย 25 โครงการทดลองทั่วโลก แบ่งเป็น 8 โครงการในทวีปอเมริกาเหนือ 9 โครงการในทวีปยุโรปและแอฟริกา 7 โครงการในทวีปเอเชีย และ 1 โครงการในทวีปอเมริกาใต้ โดยแต่ละโครงการได้รับการออกแบบเพื่อช่วยบริษัทคาดการณ์ถึงสิ่งที่ลูกค้าต้องการและสิ่งที่จำเป็นต่อระบบการคมนาคมในอนาคต “เราเล็งเห็นถึงโลกในอนาคตที่รถมีการสื่อสารระหว่างกัน ผู้ขับขี่และรถสามารถสื่อสารกับสาธารณูปโภครอบข้างเพื่อลดปัญหาการจราจรแออัด รวมถึงการที่ผู้คนจะใช้รถร่วมกัน และใช้การเดินทางหลากหลายรูปแบบในชีวิตประจำวัน” มร. ฟิลด์ส กล่าวเสริม “โครงการทดลองที่เรากำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์การคมนาคมและการสัญจรรูปแบบใหม่ๆ ในระยะ 10 ปีข้างหน้าและต่อไปในอนาคต” โครงการทดลอง 25 โครงการ มุ่งเน้นการจัดการกับ 4 ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประกอบด้วย จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การขยายตัวของชนชั้นกลาง ปัญหาคุณภาพอากาศและสาธารณะสุข และการปรับเปลี่ยนทัศนคติและการจัดลำดับความสำคัญของผู้บริโภค ซึ่งโครงการเหล่านี้นับเป็นการท้าทายวิธีการเดินทางของผู้คนในปัจจุบัน และมุ่งจำกัดการใช้ยานยนต์ส่วนบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมือง ในจำนวนโครงการทดลอง 25 โครงการ มี 14 โครงการที่ฟอร์ดเป็นผู้ริเริ่มการวิจัย ส่วนอีก 11 โครงการเป็นแนวคิดที่ได้รับการนำเสนอเข้ามาภายใต้กิจกรรม Innovate Mobility Challenge Series ที่ฟอร์ดเป็นผู้สนับสนุน โดย 14 โครงการ ของฟอร์ด ประกอบด้วย - การขับเคลื่อนข้อมูลขนาดใหญ่: เดียร์บอร์น มิชิแกน - ข้อมูลเจาะลึกของผู้ใช้รถ: สหรัฐอเมริกา - ข้อมูลเพื่อการประกันการขับขี่: ลอนดอน - การควบคุมตำแหน่งจากทางไกล: แอตแลนตา - การขับขี่ในเมืองตามคำสั่ง: ลอนดอน - รถรับส่งสาธารณะ: นิวยอร์ค ลอนดอน - การแลกเปลี่ยนรถ: เดียร์บอร์น มิชิแกน - ร่วมใช้รถฟอร์ด:เยอรมนี - แบ่งปันการใช้รถ: บังกาลอร์ อินเดีย - การชาร์จรถอย่างรวดเร็วและการแบ่งปันรถ: เดียร์บอร์น มิชิแกน - ข้อมูลเพื่อการประกันสุขภาพ: แกมเบีย แอฟริกาตะวันตก - ระบบหาที่จอดรถ: แอตแลนตา - วงจรข้อมูล: พาโลอัตโต แคลิฟอร์เนีย - จอดรถอย่างไม่ยุ่งยาก: ลอนดอน ภายใต้กิจกรรม Innovate Mobility Challenge Series ฟอร์ดได้เชิญนักคิดและนักพัฒนาทั่วโลกมาร่วมกันสร้างสรรค์แนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อจัดการกับความท้าทายของการสัญจรในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ รวมทั้งในประเทศโปรตุเกส แอฟริกา อินเดีย จีน อังกฤษ และออสเตรเลีย กิจกรรมนี้ประกอบด้วยการคิดค้นเทคโนโลยีค้นหาพื้นที่จอดรถในเมือง วิธีที่การค้นหาเส้นทางสัญจรที่เร็วกว่าท่ามกลางการจราจรแออัด และการใช้ระบบนำทางรวมถึงเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยให้ผู้คนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ในพื้นที่ห่างไกล เทคโนโลยีเชื่อมต่อการสื่อสาร ‘ซิงค์ 3’ ภายในงาน CES ฟอร์ดยังได้เปิดตัวซิงค์ 3 ซึ่งเป็นระบบเชื่อมต่อการสื่อสารและความบันเทิงที่ทำงานได้รวดเร็วกว่าเดิม สะดวกและง่ายต่อการใช้งาน พร้อมตอบสนองต่อคำสั่งของผู้ขับขี่ได้ดีขึ้นอีกระดับ ซิงค์ 3 ใช้เทคโนโลยีในการจดจำการโต้ตอบด้วยเสียงที่ทันสมัยกว่าเดิม ด้วยหน้าจอแบบสัมผัสเช่นเดียวกับสมาร์ทโฟนพร้อมกราฟฟิคที่อ่านง่าย ทำให้ผู้ขับขี่หลายล้านคนสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น และสามารถควบคุมสมาร์ทโฟนได้ขณะอยู่บนถนน ซิงค์ 3 เป็นเทคโนโลยีล่าสุดที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีซิงค์ ซึ่งติดตั้งอยู่ในรถฟอร์ดกว่า 10 ล้านคันที่วิ่งอยู่บนท้องถนนทั่วโลกในปัจจุบัน ทั้งนี้ซิงค์ 3 จะเริ่มใช้กับรถฟอร์ดรุ่นใหม่ภายในปีนี้ “ฟอร์ดมอบวิธีที่ง่ายกว่าที่จะช่วยให้ผู้บริโภคเชื่อมต่อการสื่อสารได้ขณะที่อยู่บนท้องถนน” มร. ราช แนร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการด้านเทคนิคและรองประธานกลุ่มผู้บริหารฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ระดับโลกของฟอร์ด กล่าว “ซิงค์ 3 เป็นความก้าวหน้าอีกระดับในการมอบเทคโนโลยีเชื่อมต่อการสื่อสารที่ผู้บริโภคต้องการมากที่สุด โดยผู้บริโภคเป็นผู้บอกกับเราว่า เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจซื้อรถ” รถยนต์ขับขี่อัตโนมัติของฟอร์ด ฟอร์ดยังได้จัดแสดงรถยนต์ขับขี่กึ่งอัติโนมัติที่บริษัทนำเสนออยู่แล้วในปัจจุบัน พร้อมเผยถึงรถยนต์ขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา “เราได้ผลิตและขายรถยนต์ขับขี่กึ่งอัตโนมัติซึ่งใช้ซอฟต์แวร์และเซ็นเซอร์ในการทำงาน ทั้งการบังคับพวงมาลัยเพื่อช่วยจอดแบบขนานและการจอดเข้าซอง การปรับความเร็วแบบอัตโนมัติโดยวัดจากความคล่องตัวของสภาพการจราจร และการช่วยเบรคในสถานการณ์ฉุกเฉิน” มร.แนร์ กล่าว “ในอนาคตจะมีรถฟอร์ดที่สามารถขับเคลื่อนได้เอง เรามีความมุ่งมั่นอย่างจริงจังในการพัฒนารถยนต์ที่สามารถขับขี่ได้แบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ” ทั้งนี้ รถยนต์ขับขี่กึ่งอัติโนมัติของฟอร์ดที่วางจำหน่ายในปัจจุบันได้รับการติดตั้งเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย อาทิ ระบบรักษาช่องทางขับขี่ (lane-keeping assist) ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบรักษาระยะห่างระหว่างรถคันหน้า (adaptive cruise control) ระบบป้องกันการชนพร้อมสัญญาณตรวจจับคนเดินถนน (Pre-Collision Assist with Pedestrian Detection) ระบบช่วยจอดอัจฉริยะ (active park assist) และในเร็วๆ นี้ จะมีการติดตั้งระบบช่วยการขับขี่ในสภาพการจราจรแออัด (Traffic Jam Assist) เพิ่มเติมขึ้นอีกด้วย ปัจจุบัน รถฟอร์ด ฟิวชั่น ไฮบริด ซึ่งเป็นรถที่ขับขี่ได้เองแบบอัตโนมัติกำลังอยู่ระหว่างการทดสอบบนท้องถนน โดยรถคันนี้ใช้เทคโนโลยีการขับขี่กึ่งอัตโนมัติแบบเดียวกันกับรถฟอร์ดรุ่นที่วางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน แต่มีการติดตั้งเซ็นเซอร์ LiDAR 4 แห่ง เพื่อใช้แสดงภาพสิ่งแวดล้อมรอบข้างแบบ 3 มิติแบบเรียลไทม์ ทั้งนี้ รถสามารถตรวจจับวัตถุรอบๆ ตัวรถโดยใช้เซ็นเซอร์ LiDAR และใช้ระบบการคำนวณขั้นสูงเพื่อคาดการณ์ทิศทางการเคลื่อนไหวของรถคันอื่นๆ และคนเดินถนน “ภารภิจสำคัญที่สุดของเราไม่ใช่การประกาศว่าเราเป็นบริษัทแรกในการนำรถยนต์ขับขี่อัตโนมัติออกสู่ท้องถนน” มร.ฟิลด์ส กล่าว “แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้รถยนต์ขับขี่อัตโนมัติของฟอร์ดเป็นรถที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้และช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้บริโภคดีขึ้น” “มร. เฮนรี ฟอร์ด เป็นผู้สอนเราว่าการทำธุรกิจที่ดีคือการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เยี่ยมยอดและได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจ” มร.ฟิลด์ส กล่าว “แต่สำหรับธุรกิจที่ดีเลิศ นอกจากการทำสิ่งที่กล่าวมาแล้วยังจะต้องช่วยทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นด้วย และนี่คือแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการทำงานของเราในทุกวัน”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ