การประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนเกี่ยวกับปัญหาหมอกควัน ครั้งที่ 4

ข่าวทั่วไป Wednesday July 8, 1998 14:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--2 ก.ค.--กระทรวงการต่างประเทศ
1. เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2541 ได้มีการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนเกี่ยวกับปัญหาหมอกควัน ครั้งที่ 4 ที่สิงคโปร์ เพื่อทบทวนความคืบหน้าของการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการของอาเซียนเกี่ยวกับปัญหาหมอกควัน (ASEAN Regional Haze Action Plan - RHAP) โดยมีนาย Yeo Cheow Tong ซึ่งเป็นรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมและรัฐมนตรีสาธารณสุขของสิงคโปร์เป็นประธานการประชุม สำหรับคณะผู้แทนไทยประกอบด้วยนายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ เอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ และนายพรชัย ธรณธรรม รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
2. ที่ประชุมได้หารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดการกับไฟไหม้ป่าในภูมิภาคซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ และได้รับทราบว่าแม้ฝนจะตกลงมาอย่างหนัก ซึ่งช่วยในการดับไฟที่กาลิมันตัน แต่ขณะนี้พบว่าได้เกิดไฟไหม้ป่าขึ้นใหม่ในอีกหลายส่วนของภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สุมาตรา ดังนั้น จะต้องมีการดำเนินมาตรการที่เด็ดขาดในทันที เพื่อแก้ไขปัญหาก่อนที่จะไม่สามารถควบคุมไฟป่านี้ได้ รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนได้ขอให้ชุมชนนานาชาติพิจารณาให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นเพื่อแก้ปัญหาไฟไหม้ป่า
3. ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับความคืบหน้าของการดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้สำหรับมาตรการป้องกัน กลไกควบคุมและติดตาม และความสามารถในการต่อสู้ไฟ ซึ่งอยู่ภาคใต้ RHAP ตลอดจนรับทราบผลของการประชุมเตรียมการของเอเซียนเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการแห่งชาติเกี่ยวกับปัญหาหมอกควัน (National Haze Action Plan - NHAP) ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 8 -9 มิถุนายน 2541 ณ กรุงมะนิลา และที่ประชุมเห็นชอบที่จะเร่งการดำเนินการตาม NHAP และให้รวมรายละเอียดของการดำเนินการตาม NHAP ไว้ใน RHAP
4. ที่ประชุมรับทราบว่า เนื่องจากภูมิภาคกำลังจะเข้าสู่ฤดูแล้ง ดังนั้น ภัยคุกคามจากไฟไหม้ป่าจะกลับมาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ที่ประชุมตระหนักดีว่า การดำเนินการตาม RHAP จะต้องแก้ไขทั้งปัญหาเร่งด่วนและปัญหาระยะยาว ดังนั้น RHAP จะต้องเน้นเรื่องมาตรการป้องกันไฟ การมีอุปกรณ์ต่อสู้ไฟอย่างเพียงพอเทคโนโลยีที่จะใช้ และความต้องการทรัพยากรมนุษย์
5. ที่ประชุมรับทราบว่าอินโดนีเซีย มาเลเซียและสิงคโปร์ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อจัดตั้งกลไกความร่วมมือระหว่างกันเพื่อดำเนินการตาม Sub-Regional Fire-Fighting Arrangement (RFA) ที่สุมาตราและที่ประชุมได้มีมติว่า วัตถุประสงค์หลักของ RFA สำหรับสุมาตราคือเพื่อป้องกันไฟและจะป้องกันไม่ให้สถานการณ์ไฟป่าเลวร้ายลงไปถึงระดับการเป็นภัยพิบัติ ในการนี้ บรูไน ตารุสซาลามจะเป็นประธานคณะทำงานของ RFA สำหรับกาลิมันตัน ซึ่งประกอบด้วยอินโดนีเซียและมาเลเซีย โดยจะต้องเร่งดำเนินการ RFA ของทั้งสองแห่งโดยเร็วที่สุด
6. RFA ที่กาลิมันตันจะประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลักคือการตรวจการทางอากาศโดยเร็วเพื่อช่วยให้สามารถหาจุดที่มีไฟไหม้ป่าได้แต่เนิ่น ๆ และการปรับปรุงเครือข่ายการสื่อสาร ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่าง ๆ ในระดับจังหวัดและระดับท้องที่ที่สุมาตรา เพื่อให้มีการถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับไฟไหม้ป่าไปยังหน่วยต่อสู้ไฟภายพื้นดินได้ในทันที ซึ่งมาเลเซียและสิงคโปร์จะให้ความช่วยเหลืออินโดนีเซียในแผนการตรวจการทางอากาศ
7. ที่ประชุมรับทราบว่า ได้มีการจัดตั้งกลไกเพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ RFA แล้วและ Global Environment Facility (GEF)/UNEP ได้ให้การสนับสนุนแก่กิจกรรมของ RFA แล้ว ซึ่งที่ประชุมรับทราบว่าการตรวจการทางอากาศเป็นการดำเนินการที่มีค่าใช้จ่ายสูงและต้องการความช่วยเหลือจากต่างปรเทศ
8. ที่ประชุมได้แสดงความชื่นชมที่ United Nation Environment Programme (UNEP) ได้ให้ความสนใจและความช่วยเหลือเกี่ยวกับไฟไหม้ป่าและปัญหาหมอกควันในทันที ที่ประชุมรับทราบว่า ด้วยความริเริ่มของ UNEP GEF ได้รับโครงการ Emergency Response to Combat Forest Fires in South East Asia มูลค่า 750,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนความพยายามในการจัดการกับไฟป่าและหมอกควัน
9. ที่ประชุมได้แสดงความยินดีกับบทบาทนำของ UNEP ในการประสานความช่วยเหลือในการต่อสู้และควบคุมไฟป่าและหมอกควันในภูมิภาคในฐานะตัวแทนของอาเซียน ที่ประชุมได้สนับสนุนให้ UNEP ติดตามความคืบหน้าจากประเทศผู้บริจาคสำหรับโครงการที่จะจัดตั้งกองทุนมูลค่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับต่อสู้ไฟและมาตรการที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ รวมทั้งยังได้เรียกร้องให้ UNEP ผันเงินทุนและทรัพยากรมาให้กิจกรรมที่มีความสำคัญ เช่น การจัดตั้งการตรวจการทางอากาศที่สุมาตรา
10. ที่ประชุมตอบรับการเสนอให้ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ภายใต้ Southeast Asian Environmental Initiative มูลค่า 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจัดการกับปัญหาหมอกควันในภูมิภาคด้วยความยินดี สหรัฐฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบด้วยว่าจะมีการให้เงินทุนเพิ่มเติมอีก 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้ความช่วยเหลือ แก่การต่อสู้ไฟป่าของอินโดนีเซีย
11. ที่ประชุมรับทราบว่า ได้มีการจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งแรกของโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการในภูมิภาค (Regional Technical Assistance - RETA) เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2541 ที่กรุงจาการ์ตา โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก Asian Development Bank วัตถุประสงค์หลักของโครงการ RETA คือ ส่งเสริมความสามารถของอาเซียนในการป้องกันและบรรเทามลพิษข้ามแดน
12. นอกจากนั้น ที่ประชุมยังต้อนรับการที่องค์กรที่มิใช่รัฐบาลและภาคเอกชนเพิ่มบทบาทในความพยายามระดับภูมิภาค ระดับชาติ และระดับท้องถิ่นในการต่อสู้ ป้องกันและบรรเทาไฟป่า และยินดีที่มีการเจรจาอย่างสม่ำเสมอระหว่างองค์กรที่มิใช่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับไฟป่าและปัญหาหมอกควัน
13. การประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียน ครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 31 กรกฎาคม 2541 ที่ประเทศมาเลเซีย --จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ