วิศวฯ จุฬาฯ มุ่งพัฒนาธุรกิจ พัฒนาชาติ ด้วยนวัตกรรม

ข่าวทั่วไป Friday January 23, 2015 18:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--นิโอ ทาร์เก็ต คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวโครงการ Chula Engineering Innovation Hub ยกระดับคุณภาพการศึกษา มุ่งพัฒนาบุคลากรและผลงานนวัตกรรม สู่ความร่วมมือกับภาคเอกชนต่อยอดผลงานในเชิงเศรษฐกิจ พร้อมจัดงาน Chula Engineering Innovation Expo 2015 โชว์ศักยภาพ ตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมด้วยผลงานนวัตกรรมกว่า 60 ผลงาน ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า “คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวิสัยทัศน์ที่จะมุ่งสู่การเป็น “สถาบันการศึกษาที่สร้างวิศวกรและนวัตกรรมชั้นเลิศเพื่อสังคมโลก (Premier Engineering and Innovation for global society)” จึงได้ให้ความสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษา ทั้งในด้านการเรียนการสอน งานวิจัย การพัฒนานิสิต และการบริหารภายใน รวมถึงการมุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อต่อยอดจากรากฐานที่มั่นคง สู่สังคมที่เข้มแข็งและก้าวทันโลก ภายใต้โครงการ Chula Engineering Innovation Hub ซึ่งได้มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม 4 ด้าน ได้แก่ ด้านนวัตกรรมการเรียนการสอน ด้วยการส่งเสริมให้คณาจารย์และนิสิตมีโอกาสเรียนรู้ภาคปฏิบัติจริง เตรียมความพร้อมของบัณฑิตเพื่อเข้าสู่ทุกส่วนงานรวมถึงภาคอุตสาหกรรม ด้านต่อมาคือนวัตกรรมจากนิสิต เน้นส่งเสริมและพัฒนาการเสริมสร้างความคิดของนิสิตให้มีศักยภาพ ความรู้ ความสามารถ จนเกิดการขับเคลื่อนคณะสู่สังคมภายนอกในฐานะวิศวกรยุคใหม่ เพื่อให้พร้อมต่อการก้าวสู่สังคมและการพัฒนาประเทศ” “นอกจากนี้ ยังได้มุ่งพัฒนาด้านนวัตกรรมกระบวนงานและบริการในองค์กร ด้วยการส่งเสริมและพัฒนากระบวนการสนับสนุนการดำเนินงานภายในองค์กร ให้บุคลากรมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเอง และต่อยอดการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนากระบวนงานและการบริการต่างๆของคณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสุดท้ายมุ่งพัฒนานวัตกรรมและสังคมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ให้เกิดการร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ชุมชน สังคมไทยและศิษย์เก่าวิศวฯจุฬาฯ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม” ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวเพิ่มเติม โครงการ Chula Engineering Innovation Hub ได้จัดตั้งขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและเพิ่มขีดความสามารถให้กับคณาจารย์ นิสิต บุคลากรและสังคมไทยในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความร่วมมือในการให้บริการอย่างครบวงจรในหน่วยงานในระบบการวิจัยและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง สู่การพัฒนาจนสามารถสร้างประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและสังคม นายสิทธิศักดิ์ เตยะราชกุล อุปนายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า “จากการที่คณะมีผลงานนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นจำนวนมาก ทำให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ และสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการต่อยอดผลงานนวัตกรรมในการสร้างประโยชน์สู่สังคม จึงทำให้เกิดความร่วมมือในการจัดงาน Chula Engineering Innovation Expo 2015 ขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้แนวคิด “รากฐานสู่สังคมนวัตกรรม” เพื่อแสดงศักยภาพของคณะในการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม ผ่านผลงานนวัตกรรม 8 กลุ่มหลักที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ อาทิ นวัตกรรมโลหะไทเทเนียมแบบซับซ้อน, กลไกข้อเข่าของขาเทียมสำหรับผู้พิการขาขาดเหนือเข่า, ฟิล์มบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ, การสร้างหลอดเลือดหัวใจจากไหมไทย, ระบบการจัดการมลพิษ, การจัดการพลังงานในอาคาร, รถสำรวจต้นแบบ, 3D Scanner, โปรแกรมการเรียนการสอน Coursevile, เครื่องมือตรวจวัดรังสี และผลงานอื่นๆอีกมากมายกว่า 60 ผลงาน โดยมุ่งหวังให้เกิดแรงกระตุ้นต่อสังคมไทย ตลอดจนก่อให้เกิดการต่อยอดผลงานนวัตกรรม จากความร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาผลงานและนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป” “การจัดงานในครั้งนี้ ยังมุ่งหวังให้กลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีความคิดสร้างสรรค์และสนใจในเรื่องของนวัตกรรมร่วมเข้าชมงานในครั้งนี้ เพื่อหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนกลุ่มนี้ เกิดการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ และต่อยอดโดยนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคมในอนาคต” นายนำชัยกล่าวเสริม งาน Chula Engineering Innovation Expo 2015 จะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 30 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2558 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 17.00 น. ณ โถงชั้น 1 อาคารวิศวฯ 100 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สนใจเข้าชมงานสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0 2218 6354 หรือ www.eng.chula.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ