ข้อตกลงคุณธรรม : การป้องกันคอร์รัปชันในโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ

ข่าวทั่วไป Wednesday January 28, 2015 16:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--นิโอ ทาร์เก็ต ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact : IP) คือ การตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐและผู้ต้องการเข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการลงทุนต่างๆ ของรัฐ ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีการเรียกรับสินบนหรือประโยชน์อื่นใด รวมทั้งจะต้องเปิดเผยข้อมูลโครงการที่สำคัญในทุกกระบวนการให้โปร่งใสโดยยอมรับให้มีบุคคลที่สามที่มาจากภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้นๆ ตั้งแต่เริ่มเขียนทีโออาร์ (TOR) จนสิ้นสุดโครงการ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เป็นผู้เสนอแนวคิดข้อตกลงฯ นี้และได้ถูกนำไปใช้แล้วกว่า 300 โครงการ ใน 15 ประเทศทั่วโลก เช่น เยอรมันนี เม็กซิโก และปากีสถาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา จนเกิดคุณูปการช่วยให้มีการประหยัดงบประมาณของรัฐและทำให้สังคมได้รับประโยชน์อย่างคุ้มค่าจากเงินภาษีที่เสียไป ที่สำคัญยังช่วยสร้างความมั่นใจในระบบการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนในการลงทุนของรัฐ ข้อตกลงคุณธรรมที่ใช้ในแต่ละประเทศนั้น มีการกำหนดรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้าง แต่ในกรณีประเทศไทย เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้น เราจึงต้องสร้างความเข้าใจ สร้างการเรียนรู้ร่วมกันและให้เวลาเพื่อปรับตัวของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังขาดความแน่ชัดว่ายังมีข้อขัดข้องทางกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพียงใด ดังนั้นจึงมีการลดความเข้มข้นของข้อตกลงฯ ลงบ้าง เช่น ไม่มีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนข้อตกลงนอกจากขอความร่วมมือและใช้กลไกอื่นๆ มาสนับสนุน และแทนที่จะเรียกบุคคลที่สามนี้ว่า “ผู้ตรวจสอบอิสระจากภายนอก” (Independent External Monitor) เหมือนในต่างประเทศซึ่งมีอำนาจในลงมติในที่ประชุม ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไปจนถึงสั่งให้หยุดหรือยกเลิกสัญญาได้ ก็มาใช้คำว่า“ผู้สังเกตการณ์” (Observer) ที่มีอำนาจในการตรวจสอบ ให้ความเห็น ให้การสนับสนุนข้อมูลที่เป็นประโยชน์และให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลสำคัญสู่สาธารณะตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้ กลไกสำคัญของข้อตกลงคุณธรรม ประกอบด้วย 1. สร้างความโปร่งใส ในการดำเนินโครงการด้วยการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเพียงพอในรูปแบบที่เหมาะสม 2. การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ของหน่วยงานราชการต่อเอกชนผู้สนใจเข้ามีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างฯ ขณะที่เอกชนผู้ร่วมประมูลงานก็ต้องมีความตั้งใจที่จะทำให้การจัดซื้อจัดจ้างนั้นๆ ดำเนิน ไปด้วยความโปร่งใส ตรงไปตรงมา 3. สร้างการมีส่วนร่วมคิดร่วมตรวจสอบของประชาชน ผ่านคณะผู้สังเกตการณ์ (Observer) ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างมีแบบแผน เป็นอิสระและซื่อสัตย์สุจริต 4. การมีเจตนารมย์ร่วมกัน ของทุกฝ่ายที่จะปฏิบัติหน้าที่โดยซื่อสัตย์สุจริตและโปร่งใส ผู้สังเกตการณ์ มีสิทธิเรียกดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการอย่างเต็มที่และแม้ว่าผู้สังเกตุการณ์จะไม่มีอำนาจในการให้คุณให้โทษ แต่ต้องสามารถตั้งข้อสังเกตต่อสิ่งที่คลุมเครือหรือพฤติกรรมที่สงสัยหรือเห็นว่าอาจนำไปสู่การทุจริตได้ เพื่อให้มีการชี้แจงหรือปรับปรุงแก้ไขตามกรณี รวมถึงทำรายงานและส่งเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงานของรัฐ เช่น ป.ป.ช. , ป.ป.ง. , ป.ป.ท. , สตง. เป็นต้น ที่มาของผู้สังเกตการณ์ ผู้สังเกตการณ์จะคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการยอมรับในเรื่องความสามารถ ความรับผิดชอบและความซื่อสัตย์ โดยสรรหามาจาก 1. สถาบัน หรือ องค์กรวิชาชีพ ในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เช่น สภาหอการค้าไทยสภาอุตสาหกรรม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างฯ สมาคมสถาปนิกสยามฯ สภาวิชาชีพนักบัญชี สมาคมธนาคารไทย เป็นต้น 2. สถาบันวิชาการและองค์กรต่างประเทศที่มีพันธกิจในการต่อต้านคอร์รัปชัน 3. ภาคประชาสังคม องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ และองค์กรสมาชิก ผลประโยชน์ในระยะยาว บทเรียนความสำเร็จจากการใช้ข้อตกลงคุณธรรมในหลายๆ ประเทศพบว่า การติดตามตรวจสอบของภาคประชาชนจะช่วยกดดันและสร้างวิธีการทำงานอย่างมีเหตุผลของผู้เกี่ยวข้องว่า อะไรคุ้ม อะไรไม่คุ้ม อะไรถูกต้อง อะไรทุจริต ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ ข้อตกลงคุณธรรมและผู้สังเกตการณ์มิได้แทรกแซงให้เกิดความล่าช้าหรือเพิ่มต้นทุนในการดำเนินโครงการและไม่ใช่ยาวิเศษที่จะช่วยป้องกันหรือรับประกันว่าการดำเนินโครงการนั้นๆ ปลอดจากคอร์รัปชันโดยสิ้นเชิง แต่เป็นการเริ่มต้นวัฒนธรรมการดำเนินโครงการของรัฐอย่างโปร่งใสและเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมคิดร่วมตรวจสอบ เป็นการสร้างความชอบธรรมและความเชื่อมั่นในการดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาประเทศของรัฐบาล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ