สพฉ.จัดโครงการอบรมการขับขี่รถพยาบาลปลอดภัย หลังปีที่ผ่านเกิดอุบัติเหตุกว่า 61 ครั้ง

ข่าวทั่วไป Wednesday January 28, 2015 17:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉินกว่า 10 ราย เตรียมติดตั้งระบบติดตามรถพยาบาลเพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้ป่วยฉุกเฉิน แนะแนวทางหลีกทางรถพยาบาลเพื่อลดอุบัติเหตุและเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉิน จากข้อมูลการเฝ้าระวังอุบัติเหตุรถปฏิบัติการฉุกเฉินของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม 2557 พบว่ามีรถพยาบาลในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินและรถพยาบาลในระบบส่งต่อประสบอุบัติเหตุทั้งสิ้น 61 ครั้ง โดยในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม พบการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ 25 ครั้ง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบผู้บาดเจ็บมากที่สุดถึง 50ราย รองลงมาคือภาคใต้ 38 ราย ภาคเหนือ 23 ราย ภาคกลาง 12 ราย ภาคตะวันออก 6 ราย และภาคตะวันตก 1 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิตจำนวน 19 ราย แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 ราย ภาคใต้ 7 ราย ภาควันตก 2 ราย ภาคตะวันออกและภาคเหนือภาคละ 1 ราย โดยในจำนวนนี้ผู้เสียชีวิตเป็นพยาบาล 2 ราย อาสาสมัครในระบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 6 ราย และที่เหลือเป็นผู้ป่วย พนักงานขับรถ ญาติผู้ป่วย และคู่กรณี นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า การเกิดอุบัติเหตุของรถปฏิบัติการฉุกเฉินเป็นสิ่งที่ สพฉ.ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จากสถิติจะเห็นอย่างชัดเจนว่าเราต้องสูญเสียบุคลากรที่ทำงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้น สพฉ. จึงได้จัดโครงการอบรมการขับขี่ปลอดภัยให้กับพนักงานขับรถ พร้อมทั้งจัดทำหลักสูตรพนักงานขับรถพยาบาลรวมถึงการตรวจสุขภาพพนักงานขับรถ และกำหนดคุณสมบัติของพนักงานขับรถพยาบาลให้ชัดเจนเพื่อกำหนดระเบียบปฏิบัติของรถพยาบาลเอง โดยพนักงานขับรถพยาบาลจะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรพนักงานขับรถพยาบาลและได้รับใบอนุญาตขับรถพยาบาล และพยาบาลที่ทำหน้าที่ส่งต่อผู้ป่วยจะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรพยาบาลส่งต่อผู้ป่วย นอกจากนี้แล้วรถพยาบาลเองก็จะต้องมีการปรับปรุงให้แข็งแรง เมื่อเกิดอุบัติเหตุก็จะสามารถลดความรุนแรงได้ อย่างไรตามเราจะมีการติดตั้งระบบติดตามรถพยาบาล (Ambulance Tracking) เพื่อควบคุมการใช้รถพยาบาลและติดตามระดับความเร็วของรถพยาบาลไม่ให้เกินที่กฎหมายกำหนด โดยเบื้องต้นมีการทดลองใช้กับรถของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติแล้ว ซึ่งหากพนักงานขับรถเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด ศูนย์สื่อสารสั่งการก็จะมีการแจ้งเตือนไปยังพนักงานขับรถให้ลดความเร็วในทันที โดยหลักในการขับรถพยาบาลที่ต้องใช้ความเร็วมากที่สุดคือผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตโดยจะขับรถได้ไม่เกิน 105 กิโลเมตรต่อชั่วโมง “ในบางครั้งการเกิดอุบัติเหตุกับรถพยาบาลฉุกเฉินก็ไม่ได้เกิดจากการที่รถพยาบาลขับรถด้วยความเร็วเอง หากแต่เกิดจากผู้ใช้รถใช้ถนนที่ไม่เข้าใจการทำงานของรถพยาบาลจนทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น ซึ่ง สพฉ.ก็ได้เร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนหลีกทางให้กับรถพยาบาลฉุกเฉิน และเข้าใจการทำงานของรถพยาบาลฉุกเฉินให้มากขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อประชาชนเห็นสัญญาณไฟและได้ยินเสียงสัญญาณไซเรนก็มักจะตกใจและทำอะไรไม่ถูก ดังนั้นก่อนอื่นผู้ขับขี่ควรตั้งสติ และพยายามมองกระจกหลังเพื่อกะระยะของรถพยาบาลที่วิ่งมา และเมื่อพิจารณาปริมาณรถทั้งซ้ายและขวาที่อยู่ใกล้แล้วพบว่าไม่มีอันตรายและเราสามารถเบี่ยงชิดซ้ายได้ ให้ผู้ขับขี่ลดความเร็วรถและเบี่ยงซ้ายเพื่อหลีกทางให้รถพยาบาลทันที แต่ทั้งนี้หากไม่สามารถหลีกทางได้ด้วยเพราะสภาพรถที่หนาแน่นและมีอันตรายก็ให้หยุดชะลอลดให้นิ่งเพื่อให้รถพยาบาลฉุกเฉินหาทางวิ่งผ่านเราไปให้ได้ และเมื่อรถพยาบาลฉุกเฉินวิ่งผ่านไปแล้วห้ามขับตามเด็ดขาด ส่วนกรณีรถติดและรถพยาบาลฉุกเฉินอยู่ด้านหลังพอดีให้พิจารณาว่าควรชิดซ้ายหรือชิดขวาดี ถ้าไม่มีใครหลีกทางให้ให้ผู้ขับขี่เลือกว่าจะหลบทางไหนและเปิดไฟเลี้ยว เพื่อให้สัญญาณให้รถพยาบาลฉุกเฉิน ได้แซงผ่านไปได้สะดวก” นพ.อนุชา กล่าว อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.thaiemsinfo.com/autopagev4/show_page.php?topic_id=527&auto_id=8&TopicPk=
แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ