อิหร่าน ดินแดนแห่งความหวัง แรงศรัทธา และแหล่งอารยะธรรม

ข่าวทั่วไป Monday February 2, 2015 13:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม พวกเราได้มีโอกาสเดินทางไป สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน เพื่อร่วมงานครบรอบ 25 ปี ของการอสัญกรรมของท่าน อิมาม โคมัยนี อดีตผู้นำสูงสุดของประเทศในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา นอกเหนือจากการร่วมงานสำคัญดังกล่าว สิ่งสำคัญยังได้ศึกษาเรียนรู้ ในด้านวัฒนธรรม การบริหารจัดการประเทศ การศึกษา และความเป็นอยู่ของประชาชนอีกด้วย ก่อนการเดินทางในครั้งนี้ได้มีการเชิญชวนผู้บริหารหลายท่านให้ร่วมเดินทางไปด้วยกัน แต่คำถามที่มักได้รับเสมอๆ ก็คือ อันตรายไหม เขาจะต้อนรับคนต่างศาสนาอย่างพวกเราหรือ โดยมากมักจะปฏิเสธ ซึ่งก็ไม่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเพราะ ภาพข่าวจากสื่อต่างๆ ที่พวกเราได้รับเกี่ยวกับประเทศอิหร่านส่วนใหญ่มักเป็นเรื่อง ความรุนแรงภายในประเทศ การตอบโต้ประเทศอื่นๆ ของผู้นำประเทศ หรือ การสะสมและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ต้องยอมรับว่าแม้การเดินทางในครั้งนี้ของพวกเราจะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ หรือประมาณหนึ่งสัปดาห์ แต่ก็ได้เปลี่ยนทัศนคติและเปิดโลกทัศน์ให้กับพวกเราเกี่ยวกับประเทศมุสลิมเป็นอย่างมาก ภาพที่ปรากฏแตกต่างจากที่ได้รับจากสื่อต่างๆ อย่างสิ้นเชิง พวกเราได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีและเท่าเทียมแม้ว่าจะมีความเชื่อหรือศาสนาที่ต่างกัน ครั้งนี้พวกเราได้มีโอกาสเดินทางเยี่ยมชมในหลากหลายสถานที่ ไม่ว่าจะเป็น ศาสนสถาน ร้านค้าและตลาดในเมือง สถานที่ราชการที่สำคัญ สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง หรือสถานที่ท่องเทียว ซึ่งประกอบจากเรื่องราวและร่องรอยอารยะธรรมที่ยาวนานอันทรงคุณค่า แต่สิ่งพวกเราได้รับเสมอในการเดินทางครั้งนี้ก็คือการทักทายและรอยยิ้มจากผู้คนในพื้นที่อย่างเป็นมิตรและความพยายามในการสร้างมิตรภาพกับชาวต่างชาติที่มาเยือน คนอิหร่านส่วนใหญ่ใช้ชีวิตเรียบง่ายแต่จริงจังและมีความตั้งใจสูง อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมที่ถูกหล่อหลอมจากหลายคนอยู่ในยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ จึงเข้าใจเป็นอย่างดีถึงการใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ทั้งจากปัญหาจากภายในและการถูกแทรกแซงจากต่างประเทศทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ ประชาชนจึงมีความจริงจังต่อหน้าที่ และพยายามที่จะพึ่งพาตนเองในด้านต่างๆ ให้มากที่สุด ผู้ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชนชาวอิหร่าน ก็คือท่าน อิมาม โคมัยนีอดีตผู้นำสูงสุดของประเทศนั่นเองซึ่งนับว่าท่านเป็นผู้วางรากฐานในทุกด้านให้กับประเทศอิหร่านในปัจจุบัน ก่อนการเดินทาง พวกเราอาจจะมีความรู้เพียงน้อยนิดเกี่ยวกับ ท่านอิมามโคมัยนี แต่ภายหลังจากที่อยู่ในประเทศอิหร่านได้ระยะหนึ่ง ทำให้พวกเราก็ได้รับรู้รับฟังเรื่องราวต่างๆ ของท่านอิมามฯ มากมาย โดยผ่านประชาชนชาวอิหร่านเอง และที่สำคัญได้รับการถ่ายทอดจากคนไทยคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์และร่วมอยู่ในการปฏิวัติของประชาชนในครั้งนั้นด้วยโดยในขณะนั้นท่านเป็นนักศึกษาในประเทศอิหร่าน ซึ่งก็คือท่านอาจารย์อาจารย์กวี พุ่มภักดี นั่นเอง ซึ่งนับเป็นโชคดีของเราที่ได้เดินทางร่วมกับท่านในครั้งนี้ เพราะท่านเปรียบเสมือนห้องสมุดด้านวัฒนธรรมของประเทศอิหร่านหรืออานาจักรเปอร์เซียเคลื่อนที่ โดยท่านสามารถตอบคำถามและเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ทางด้านศาสนา ประวัติศาสตร์ และการเมืองการปกครอง ให้พวกเราฟังได้อย่างกระจ่างชัด โดยอาจารย์กวี ได้เล่าให้พวกเราฟังว่า ในช่วงก่อนการปฏิวัติประชาชนชาวอิหร่านมีความเป็นอยู่กันอย่างยากลำบาก ข้าวของราคาแพง ทรัพยากรต่างๆของประเทศถูกต่างชาติเข้ามาหาผลประโยชน์ ท่านอิมามฯ เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของประชาชนชาวอิหร่านทุกคน เป็นผู้ปลดพันธนาการของประเทศ จนทำให้อิหร่านพัฒนาก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าท่านอิมามฯ จะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศ แต่ท่านก็ปฏิบัติตนเช่นเดียวกับประชาชนโดยทั่วไป ใช้ชีวิตในอพาร์ทเม้นท์เล็กๆ กินอยู่แบบมัธยัสถ์ และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่มุสลิมทุกคน จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต หลังการปฏิวัติเสร็จสิ้น ท่านอาจารย์กวี ได้มีโอกาสพบท่านอิมามฯโดยได้เล่าให้พวกเราฟังว่าท่านอิมามฯ เป็นผู้มีบุคลิกเข้มขรึม เคร่งเครียด และจริงจัง กลุ่มนักศึกษามักชอบเรียกท่านอิมามฯว่า “เสือยิ้มยาก” ในครั้งนั้นอาจารย์กวี ได้ขอท่านอิมามฯ เป็นทหาร เพื่อรับใช้ประเทศ แต่ท่านอิมามฯไม่อนุญาต และพูดกับอาจารย์กวี ว่าท่านมีหน้าที่อยู่แล้วคือเผยแพร่ศาสนา ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ของตน ซึ่งต่อมาอาจารย์กวี ก็ได้ทำหน้าที่ของตนเป็นอย่างดี ได้ร่วมเผยแพร่และประสานงานในการเปิดศูนย์วัฒนธรรมอิสลามในประเทศไทยหลายแห่ง โดยสิ่งหนึ่งที่อาจารย์กวี กังวลและบอกกับพวกเราก็คือ กลัวว่าคนรุ่นหลังจะลืมท่านอิม่ามฯและคำสอนของท่าน อีกสิ่งที่สำคัญในการเดินทางของพวกเราในครั้งนี้ก็คือ การเข้าใจถึงศาสนาอิสลามมากขึ้น โดยเฉพาะคำสอนจากท่านอิม่ามฯ ซึ่งอยากจะเห็นคนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข การเปิดกว้างเป็นมิตรกับทุกศาสนา และความเชื่อ แบบไม่มีการแบ่งแยกนิกาย โดยความเห็นของพวกเราซึ่งเป็นนักการศึกษาจากประเทศไทย เห็นว่าระบบการศึกษาของประเทศอิหร่านซึ่งให้ความสำคัญของศาสนาควบคู่กับการความรู้ในเชิงวิชาการนั้น เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในโลกยุคปัจจุบัน ที่มีการแข่งขันสูง และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก จนก่อให้เกิดความขัดแย้งและปัญหาในสังคมขึ้นมากมาย พวกเราเชื่อว่าทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดี มีคุณธรรม หากเยาชนของประเทศมีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา ก็จะเป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรม ซึ่งจะเป็นที่ต้องการของทุกหน่วยงาน จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาของประเทศต่อไปในอนาคต โดยดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข และมีสันติภาพ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ