ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กร &หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. ช. การช่าง” เป็น “A-” จาก “BBB+” และปรับแนวโน้ม เป็น “Stable” จาก “Positive”

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 2, 2015 14:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “A-/Stable” จากเดิมที่ระดับ “BBB+/Positive” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A-” โดยบริษัทวางแผนจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดและใช้ในการขยายกิจการ การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสะท้อนถึงโครงสร้างทางธุรกิจของบริษัทที่แข็งแกร่งขึ้นและความยืดหยุ่นทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้นหลังการปรับโครงสร้างทางธุรกิจซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่หุ้นที่บริษัทถืออยู่และลดความกดดันในเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บริษัทในกลุ่ม อันดับเครดิตของบริษัทยังคงสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในประเทศไทย ตลอดจนผลงานที่เป็นที่ยอมรับในโครงการก่อสร้างพื้นฐานและโครงการที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมทั้งความยืดหยุ่นทางการเงินจากมูลค่าเงินลงทุนเชิงกลยุทธ์ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวลดทอนลงบางส่วนจากความผันผวนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ตลอดจนความเสี่ยงของสัญญาที่มีลักษณะต่อหน่วยแบบคงที่ (Fixed-price Contract) และภาระหนี้ที่สูงของบริษัท ปัจจัยบวกด้านเครดิตคือกรณีที่บริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดและโครงการในมือได้สูงกว่าประมาณการในขณะที่บริษัทยังสามารถรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนในระดับต่ำกว่า 50% เป็นระยะเวลาต่อเนื่องได้ ปัจจัยลบด้านเครดิตคือการมีต้นทุนก่อสร้างในโครงการหลัก ๆ ที่สูงกว่าประมาณการอย่างมีนัยสำคัญ หรือการให้การสนับสนุนทางการเงินหรือการลงทุนในบริษัทในเครือที่มีมูลค่าสูงนอกเหนือจากประมาณการซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อกระแสเงินสดของบริษัท แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันและสามารถรักษาอัตราส่วนกำไรให้อยู่ในระดับสูงกว่า 7% โดยเฉลี่ย รวมทั้งเงินทุนหมุนเวียนในโครงการไซยะบุรีจะปรับตัวดีขึ้น บริษัท ช. การช่างก่อตั้งในปี 2515 โดยตระกูลตรีวิศวเวทย์ บริษัทเป็นหนึ่งในผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ 3 รายที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยและมีประสบการณ์ด้านการก่อสร้างตั้งแต่งานโยธาโครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงโครงการที่มีความซับซ้อนสูง บริษัทมีเงินลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 4 ราย ได้แก่ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BECL) บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BMCL) บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) (TTW) และ บริษัท ซีเคพาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (CKP) นอกจากนี้ บริษัทยังลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีก 1 ราย คือ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL) ด้วย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 บริษัทมีงานรับเหมาก่อสร้างที่ยังไม่ส่งมอบมูลค่า 9.6 หมื่นล้านบาท โดยมีโครงการหลักได้แก่ โครงการเขื่อนไซยะบุรีซึ่งมีมูลค่า 4.2 หมื่นล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญาที่ 4 มูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท โครงการทางพิเศษศรีรัช วงแหวนรอบนอก มูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวสัญญาที่ 1 มูลค่า 6,000 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงการเขื่อนไซยะบุรีมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วน 43% ของมูลค่าโครงการที่ยังไม่ส่งมอบทั้งหมด ในเดือนมกราคม 2558 คณะกรรมการของบริษัทได้อนุมัติให้บริษัทเข้าร่วมในการปรับโครงสร้าง 2 ธุรกิจหลัก โดยการปรับโครงสร้างธุรกิจแรกคือให้บริษัทให้การสนับสนุนการควบรวมกิจการของ BECL และ BMCL โดยบริษัทจะซื้อหุ้นของ BMCL จาก BECL ในสัดส่วน 10% ของหุ้น BMCL ทั้งหมดที่มูลค่า 3,670 ล้านบาท หลังจากการควบรวมดังกล่าว บริษัทคาดว่าจะมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทใหม่อยู่ที่ประมาณ 30% ส่วนการปรับโครงสร้างธุรกิจที่ 2 คือให้บริษัทขายหุ้นของ XPCL ในสัดส่วน 30% ของหุ้น XPCL ทั้งหมดให้แก่ CKP ที่มูลค่า 4,300 ล้านบาท และ CKP จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นที่ต้องเพิ่มทุนให้แก่ XPCL จนกว่าการก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรีจะแล้วเสร็จ ทริสเรทติ้งมองว่าในระยะสั้น การปรับโครงสร้างดังกล่าวจะมีผลกระทบไม่มากนักต่อกระแสเงินสดของบริษัทเนื่องจากเงินสดที่ได้รับจะใกล้เคียงกับเงินสดที่ต้องชำระ ในขณะเดียวกัน โครงสร้างเงินทุนของบริษัทก็คาดว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีสาระสำคัญเนื่องจากกำไรจากการขายหุ้นของ XPCL น่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับการตัดรายการกำไรที่ยังไม่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าเงินลงทุนใน BECL ในระยะกลางและระยะยาว การควบรวมกิจการของ BECL และ BMCL รวมทั้งการขายหุ้น XPCL ให้แก่ CKP น่าจะช่วยปรับให้โอกาสการเติบโตและการเลือกในการระดมทุนของบริษัทและบริษัทในกลุ่มสอดคล้องกันมากขึ้น ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งของ BECL น่าจะช่วยเสริม BMCL ในด้านความต้องการแหล่งทุนในระดับสูงเพื่อลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าที่มีโอกาสเติบโตได้มาก นอกจากนี้ โครงสร้างธุรกิจใหม่ยังน่าจะช่วยลดความกังวลจากแรงกดดันด้านภาระหนี้ของบริษัทลงได้ ผลประกอบการเต็มปี 2557 ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในระดับตามประมาณการของทริสเรทติ้ง ยกเว้นในเรื่องของภาระหนี้ที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าประมาณการจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนสำหรับโครงการไซยะบุรี ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 3.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2558-2560 โดยจะเป็นรายได้จากโครงการเขื่อนไซยะบุรีประมาณ 8,000 ล้านถึง 1 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 25%-30% ของประมาณการรายได้ ทั้งนี้ งานรับเหมาก่อสร้างในมือจำนวนมากที่บริษัทมีอยู่ในปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 85% 66% และ40% ของประมาณการรายได้ในปี 2558 2559 และ 2560 ตามลำดับ อัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ในปี 2558-2560 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 7% โดยเฉลี่ย เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 2,500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี และเงินปันผลประมาณ 300-500 ล้านบาท ทริสเรทติ้งมองว่าภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันแม้ว่าบริษัทจะมีภาระหนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของผู้รับเหมาที่ได้รับอันดับเครดิตเท่ากัน ทั้งนี้ เนื่องจากโครงสร้างทางธุรกิจของบริษัทเป็นทั้งผู้รับเหมาและประกอบธุรกิจลงทุน โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ 68.1% ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องในปี 2558-2559 และปรับดีขึ้นมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 67% ในปี 2560 หลังจากที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญาที่ 4 แล้วเสร็จ บริษัทมีสภาพคล่องที่เหมาะสมและมีปัจจัยสนับสนุนด้านความยืดหยุ่นทางการเงินจากมูลค่าเงินลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียน ณ เดือนกันยายน 2557 เงินลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนของบริษัทมีมูลค่ายุติธรรมที่ 3 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 74% ของภาระหนี้รวมของบริษัท ในปี 2558-2560 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าจะอยู่ในระดับสูงกว่า 2.5 เท่า ส่วนอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคาดว่าจะอยู่ในระดับประมาณ 5%-10% โดยเฉลี่ย บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK) อันดับเครดิตองค์กร: A- อันดับเครดิตตราสารหนี้: CK154A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A- CK167A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A- CK174A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A- CK182A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A- CK187A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A- CK193A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A- CK19NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A- CK205A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A- หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2564 A- แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ