CSS ส่ง บ.ย่อย “ซี.เอส.เอส.เอนเนอร์ยี่”ลุยโรงไฟฟ้าขยะเมืองพะเยา

ข่าวทั่วไป Monday February 2, 2015 15:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--IR network บมจ.คอมมิวนิเคชั่น แอนด์ ซิสเต็มส์ โซลูชั่น (CSS) แจ้งเกิดบริษัทย่อย ส่ง “ซี.เอส.เอส.เอนเนอร์ยี่ ” เซ็นสัญญากับเทศบาลเมืองพะเยา ศึกษาความเป็นไปได้โครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน เพื่อแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าให้กับเทศบาลเมืองพะเยาและพื้นที่องค์กรปกครองท้องถิ่นที่ร่วมโครงการ นายวังสันต์ ภาณุดุลกิตติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.เอส.เอส.เอนเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท คอมมิวนิเคชั่น แอนด์ ซิสเต็มส์ โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) (CSS) เปิดเผยว่า “ซี.เอส.เอส.เอนเนอร์ยี่” ได้เซ็นสัญญาบันทึกข้อตกลง (MOU) กับเทศบาลเมืองพะเยา เพื่อดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน โดยแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าของเทศบาลเมืองพะเยาและพื้นที่ขององค์กรปกครองท้องถิ่นที่ร่วมโครงการ เพื่อใช้เป็นพลังงานทางเลือกและทดแทนให้สอดคล้องนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นอกจากนี้ ยังให้ดำเนินการศึกษาเทคโนโลยี ความเป็นไปได้ของการลงทุนและผลตอบแทนที่จะใช้สำหรับการนำขยะมูลฝอยที่มีอยู่ในเทศบาลและเขตใกล้เคียงไปใช้ในการสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะมูลฝอยชุมชน และพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ รวมถึงการศึกษาข้อมูลและนำเสนอแนวทางจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่บริเวณสถานที่กำจัดมูลฝอยเทศบาลเมืองพะเยา และพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ร่วมโครงการให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด ทั้งนี้ จากข้อมูลในเบื้องต้นที่ได้รับจากเทศบาลเมืองพะเยา ซึ่งใช้ที่ดินใน ตำบลจำป่าหวาย ไว้รองรับสำหรับจัดการขยะมูลฝอยโดยวิธีฝังกลบจำนวน 82 ไร่ สามารถรองรับขยะได้มากกว่า 300 ตันต่อวัน ซึ่งการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี หลังจากนั้นจะนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาส่งให้กับเทศบาลเมืองพะเยาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ร่วมโครงการ เพื่อออกข้อกำหนดโครงการ (TOR) ในการกำหนดวิธีการกำจัดขยะและเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะและจากแสงอาทิตย์ “การเซ็น MOU ร่วมกันในครั้งนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของการนำเอาขยะมาทำเป็นพลังงานไฟฟ้า รวมถึงการดำเนินการศึกษาด้านเทคโนโลยี ความเป็นไปได้ของการลงทุนและผลตอบแทน ที่สำคัญคือการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การออกข้อกำหนด TOR โดยเบื้องต้นปริมาณขยะควรจะอยู่ที่ประมาณ 300 ตันต่อวัน ซึ่งจะส่งผลให้มีขนาดกำลังการผลิตเฉลี่ย 8-10 เมกกะวัตต์ โดยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้นสามารถจัดจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)” นายวังสันต์กล่าวในที่สุด ด้าน ร.อ. ดร. ธรรมนัส พรหมเผ่า นายกสมาคมชาวจังหวัดพะเยา กล่าวว่า เทศบาลเมืองพะเยาได้ลงนามเซ็นสัญญาแต่งตั้งให้บริษัท ซี.เอส.เอส.เอนเนอร์ยี่ จำกัด ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของชุมชนในพื้นที่ของเทศบาลเมืองพะเยาและพื้นที่ใกล้เคียง และนำมาแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยเทศบาลเมืองพะเยาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตปัญหาขยะในเขตพื้นที่เมืองพะเยาและพื้นที่ใกล้เคียงจะหมดไป “สาเหตุที่เลือกให้ “ซี.เอส.เอส.เอนเนอร์ยี่ ” เข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าวนั้นเนื่องจากเห็นว่ามีบริษัทแม่เป็นมหาชนก็คือ บมจ.คอมมิวนิเคชั่น แอนด์ ซิสเต็มส์ โซลูชั่น (CSS) อีกทั้งบริษัทมีความตั้งใจจริงที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาเรื่องของขยะ จึงทำให้ตัดสินใจเลือกเพื่อเข้ามาบริหารโครงการดังกล่าว และประเด็นสำคัญคือ เชื่อว่าเมื่อมีโรงไฟฟ้าในเขตเทศบาลเมืองพะเยาและพื้นที่ใกล้เคียงจะทำให้มีการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนตามมาในอนาคต” ร.อ. ดร. ธรรมนัสกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ