ทำไม ๑๔ กุมภาพันธ์ จึงเป็นวัน “วาเลนไทน์”

ข่าวทั่วไป Tuesday February 10, 2015 09:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม กุมภาพันธ์ เป็นเดือนที่ค่อนข้างอาภัพและแปลกที่สุด ในจำนวนเดือนทั้ง ๑๒ ของปี ที่อาภัพก็เพราะมีเพียง ๒๘ – ๒๙ วันเท่านั้น ในขณะที่เดือนอื่นๆ มี ๓๐ – ๓๑ วัน และแปลกตรงที่ว่าไม่ลงท้ายด้วยคำว่า “คม” หรือ “ยน” เหมือนกับเดือนทั้งหลาย ยิ่งกว่านั้น เดือนนี้ยังมีวันที่ค่อนข้างพิเศษอีกวันหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในวงการหนุ่มสาวชาวไทยมากขึ้นทุกปี แม้จะไม่เคยมีระบุไว้ในปฏิทินประจำปีเลยก็ตาม แต่ความหมายของมันก็เข้ากันได้กับจิตใจของคนหนุ่มสาวเป็นอย่างดี วันนั้นก็คือ “วันวาเลนไทน์” (Valentine Day)หรือ “วันแห่งความรัก” นั่นเอง ที่เรียกว่า “วันวาเลนไทน์” ก็เพราะว่าไปยืมชื่อนี้มาจากนักบุญองค์หนึ่งในศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิก ซึ่งมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่สอง ท่านเป็นพระสงฆ์คาทอลิกถูกฆ่าตายเป็น มรณสักขี(ตายเพื่อศาสนา) ในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๗๐ ตรงกับสมัยของจักรพรรดิโรมัน เกลาดิอุส ที่ ๒ ปกครองจักรภพโรมัน เป็นช่วงเวลาที่อาณาจักรโรมัน ยังไม่ยอมรับศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำชาติ จึงทำการเบียดเบียนผู้ที่นับถือศาสนานี้อย่างเหี้ยมโหด และนักบุญวาเลนไทน์ ก็เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่เคราะห์ร้ายที่ต้องตายเพราะการเบียดเบียนนี้ ที่จริงแล้ว นักบุญวาเลนไทน์ มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความหมายของวันวาเลนไทน์ หรือวันแห่งความรักนี้เลย เป็นแต่เพียงว่าท่านตายตรงกับวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ เท่านั้น และความตายของท่านก็เป็นการตายเพื่อศาสนามิใช่ตายเพื่อคู่รัก หรือผิดหวังในความรัก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเสาะหาสาเหตุถึงการนำชื่อของนักบุญองค์นี้มาเกี่ยวข้องกับประเพณีการเลือกคู่ การหาแฟน และเป็นวันแห่งความรัก ระหว่างหนุ่มสาว ตามธรรมเนียมที่กำลังปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน และดูเหมือนจะเป็นที่นิยมกันในระหว่างหนุ่มสาวชาวไทยมากขึ้นทุกปี คือ โดยทั่วไปแล้ว ประเพณีการเลือกคู่หาแฟน เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาในหมู่มนุษย์ ทุกชาติภาษา ทุกกาลสมัย แตกต่างกันอยู่ที่วิธีการเท่านั้น เพราะมนุษย์ในแต่ละชาติภาษาต่างก็มีวัฒนธรรมที่ต่างกัน เช่นเดียวกัน ในสมัยที่อาณาจักรโรมันแผ่อำนาจไปเกือบทั่วโลก ชาวโรมันโบราณก็นับถือเทพเจ้าประจำที่ต่างๆ และมีชื่อเรียกต่างกันมากมาย เพราะเป็นช่วงเวลาก่อนที่จักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราช จะยอมรับคริสตศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ โรมันสมัยนั้นนับถือเทพเจ้า ก็จำเป็นต้องมีการฉลองเทพเจ้าต่างๆ เป็นประจำทุกปี และหนึ่งในบรรดาเทพเจ้าทั้งหลายที่ชาวโรมันทำการฉลองกันอย่างใหญ่โตก็คือ เทพเจ้า “ลูแปร์คุส” (Lupercus) ซึ่งฉลองตรงกับวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์เพราะถือว่าเป็นการฉลองใหญ่ เขาจึงจัดให้มีส่วนหนึ่งของการฉลองนี้เป็นการหาคู่หาแฟนของหนุ่มสาวทั้งหลาย ซึ่งกำหนดให้เป็นวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ (ก่อนวันฉลองจริง ๑ วัน) ในวันนี้จึงเป็นโอกาสทองของพวกหนุ่มสาวที่จะเสนอตัวเป็นแฟน หรือคนรักกัน ภายในกำหนดเวลา ๑ ปี ช่วงเวลา ๑ ปีนี้ก็ถือว่า เป็นช่วงเวลาแห่งการทดลองมิตรภาพของกันและกันว่า มีบุคลิก ลักษณะนิสัยใจคอเข้ากันได้หรือไม่ หรือเรียกง่ายๆ ว่า เป็นช่วงเวลาสุกดิบของกันและกัน ยังไม่ถึงขั้นตกลงใจจะแต่งงานกัน ปกติ ชาวโรมันเป็นคนเคร่งครัดศรัทธาในเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เขาต่างก็มีความเชื่อว่ามีเทพเจ้าองค์หนึ่งซึ่งเขาขอให้เป็นผู้ดูแลและอุปถัมภ์ความรักของเขา ในช่วงเวลาแห่งมิตรภาพ ๑ ปีนี้เทพเจ้าองค์นี้เป็นหญิงชื่อ “จูโน เฟบรัวตา” (Juno Februata) ซึ่งเป็นมเหสีของเทพเจ้า “จูปีเตอร์” (Jupeter) แห่งผู้ปกครองของเทพเจ้าทั้งหลาย ต่อมา เมื่อชาวโรมันกลับใจมานับถือคริสตศาสนา (ราวปลายศตวรรษที่ ๔) ประเพณีของหนุ่มสาวโรมันที่เคยหาคู่เพื่อทดลองมิตรภาพ และเป็นคนรักกันก็ยังถือปฏิบัติกันอยู่ แม้จะเป็นคริสตชนแล้วก็ตาม ดังนั้นประเพณีเลือกคู่หาแฟนที่เคยทำกันในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์นั้นก็ยังอยู่ด้วย เพียงแต่ว่าหนุ่มสาวโรมันชาวคริสต์ได้หันมาเปลี่ยนตัวผู้อุปถัมภ์ความรักในช่วงเวลาแห่งการทดลองมิตรภาพองค์ใหม่ จากเทพเจ้าหญิง “จูโน เฟบรัวตา” มาเป็น นักบุญวาเลนไทน์ ซึ่งมีวันฉลองในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ เพราะคริสตชนไม่นับถือเทพเจ้าต่างๆ ตามที่ชาวโรมันเคยถือกันมาแต่กาลก่อน ชื่อ “วาเลนไทน์” จึงกลายเป็น “วันวาเลนไทน์” ที่หมายถึงวันแห่งความรักของหนุ่มสาวมาจนทุกวันนี้ ฉะนั้น ถ้านักบุญวาเลนไทน์มีชีวิตยืนยาวอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ท่านคงจะแปลกใจที่ว่า หนุ่มสาวทั้งหลายแต่งตั้งท่านให้เป็นผู้อุปถัมภ์ความรักของชีวิตแต่งงานแบบชาวโลก โดยที่ท่านไม่รู้เรื่อง และไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยแม้แต่นิดเดียว ที่จริงแล้ว เราไม่สามารถหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์มายืนยันได้ว่า นักบุญวาเลนไทน์มีคู่รักและแต่งงานอยู่กินด้วยกันหรือไม่ แต่ที่แน่นอนที่สุด คือ ท่านมีชีวิตจริงๆ ในช่วงเวลาที่คริสตศาสนาถูกเบียดเบียนแน่ๆ (๓๐๐ปีแรก ของคริสตศักราช) เพราะมีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกว่า ท่านถูกฆ่าตายเป็นมรณสักขี (Martyr) และตามคำสอนของศาสนาคริสต์ถือว่า ผู้ที่ยอมตายเพื่อปกป้องความเชื่อทางศาสนาหรือตายเพื่อศาสนา เป็นนักบุญ (Saint) ทุกคนไม่ต้องผ่านการพิสูจน์อัศจรรย์ เหมือนการแต่งตั้งนักบุญต่างๆ ในสมัยปัจจุบัน ดังนั้นในช่วงเวลา ๓๐๐ ปีแรก ของคริสตศักราชจึงมีนักบุญเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่จักรพรรดิโรมันทำการเบียดเบียนคริสตศาสนาอย่างเหี้ยมโหด และในเวลาเดียวกันก็มีคริสตชนจำนวนมากที่ยอมตายเพื่อศาสนาด้วยเช่นกัน ที่มา : สภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ