การประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๘ วันพุธที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น ๒ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล

ข่าวทั่วไป Friday February 13, 2015 12:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือคณะกรรมการ PPP ในคราวประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล) เป็นประธานการประชุม ได้มีมติดังนี้ ๑. กำหนดให้กระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงการคลังกำหนดให้โครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ ๕,๐๐๐ ล้านบาทขึ้นไป ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดใน พ.ร.บ. PPP สำหรับโครงการที่มีมูลค่าระหว่าง ๑,๐๐๐ – ๕,๐๐๐ ล้านบาท ให้มีการแยกกระบวนการในการพิจารณาเป็น ๒ กรณี คือ ๑.๑ หากเป็นโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ. PPP ๑.๒ หากเป็นโครงการที่ไม่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ เช่น การพัฒนาที่ดินของรัฐ เชิงพาณิชย์ ให้ดำเนินการตามกระบวนการแบบผ่อนปรน เช่นเดียวกับกระบวนการสำหรับโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท โดยเพิ่มให้มีขั้นตอนการกำกับดูแลและรายงานให้คณะกรรมการ PPP ทราบ และจัดทำฐานข้อมูลโครงการ PPP ต่อไป สำหรับโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท คณะกรรมการ PPP มอบหมายให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการได้ เพื่อให้โครงการขนาดเล็กที่มีจำนวนมากสามารถดำเนินการได้โดยไม่ล่าช้าและไม่เป็นภาระกับหน่วยงานเจ้าของโครงการมากเกินไป ๒. ในการดำเนินกระบวนการให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนตามกฎหมาย PPP ในขณะนี้คณะกรรมการ PPP ได้ให้ความเห็นชอบกฎหมายลำดับรองเกือบหมดแล้ว เพื่อให้โครงการ PPP สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างคล่องตัวหลังจากที่หยุดชะงักมา ๒ ปี โดยกระบวนการที่กำหนดไว้ในกฎหมายลำดับรองเริ่มจาก : ๒.๑ หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณมูลค่าโครงการ โดยจะเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดวิธีการในการคำนวณมูลค่าโครงการทั้งเงินลงทุนและทรัพย์สินทั้งภาครัฐแลภาคเอกชนตลอดอายุโครงการเฉพาะที่ใช้ดำเนินโครงการเท่านั้น และให้หน่วยงานสามารถเลือกคำนวณส่วนใดก่อนก็ได้ ๒.๒ กระบวนการประกาศเชิญชวนและการคัดเลือกเอกชน ซึ่งคงเป็นไปตามกฎระเบียบเดิมอยู่ แต่ปรับให้มีความชัดเจนและโปร่งใสมากขึ้น ๒.๓ มีการกำหนดหัวข้อสำคัญที่ต้องมีเป็นมาตรฐานในสัญญาร่วมลงทุน เช่น สิทธิและหน้าที่ของแต่ละฝ่าย การกำหนดอัตราค่าบริการและผลประโยชน์ตอบแทน และสัญญาร่วมลงทุนต้องไม่มีการต่ออายุสัญญาแบบอัตโนมัติ การไม่ให้เอกชนเปลี่ยนเงื่อนไขโครงการฝ่ายเดียวได้ โดยให้หน่วยงานเจ้าของโครงการพิจารณาถึงประเด็นสำคัญเหล่านี้ตั้งแต่วันที่จะเริ่มโครงการ ไม่เป็นปัญหาเหมือนที่ผ่านมา ๒.๔ ลักษณะการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนที่เป็นสาระสำคัญ เพื่อรักษาคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชนและผลประโยชน์ของภาครัฐเป็นสำคัญ โดยการเปลี่ยนแปลงใดที่ส่งผลกระทบกับผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ผลประโยชน์ของภาครัฐ หรือเป็นการเพิ่มประโยชน์ให้แก่คู่สัญญาฝ่ายเอกชน จะต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติ จากคณะรัฐมนตรีก่อน ทำให้ลดปัญหาในการกำกับดูแลสัญญาและเพิ่มความโปร่งใสในการแก้ไขสัญญา ดังนั้น ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ กฎหมายลำดับรองทั้งหมดจะมีความครบถ้วน โครงการร่วมลงทุนต่างๆ สามารถดำเนินการได้ ๓. เห็นชอบร่างแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุน (แผนยุทธศาสตร์ PPP) โดยแผนดังกล่าวได้แบ่งกิจการออกเป็น ๒ ประเภทคือ ๓.๑ กิจการที่ต้องมีภาคเอกชนร่วมลงทุน ๖ กิจการ ได้แก่ คมนาคมและขนส่ง (บก น้ำ อากาศ) - กิจการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมือง - กิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางในเมือง - กิจการพัฒนาท่าเรือขนส่งสินค้า - กิจการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง (ต้องได้รับการยืนยันจากกระทรวงเจ้าสังกัด) การสื่อสาร - กิจการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม - กิจการระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ๓.๒ กิจการที่รัฐส่งเสริมให้เอกชนร่วมลงทุน ๑๒ กิจการ ได้แก่ คมนาคมและขนส่ง (บก น้ำ อากาศ) - กิจการพัฒนาสถานีขนส่งบรรจุแยกและกระจายสินค้า - กิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางระหว่างเมือง - กิจการบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม - กิจการพัฒนาการดำเนินธุรกิจและการบริหารพื้นที่ท่าอากาศยาน การจัดการคุณภาพน้ำชลประทานและสิ่งแวดล้อม - กิจการพัฒนาและบริหารจัดการระบบจัดการคุณภาพน้ำ - กิจการพัฒนาและบริหารจัดการระบบชลประทาน - กิจการพัฒนาระบบกำจัดมูลฝอย การศึกษาสาธารณสุขและเศรษฐกิจ - กิจการพัฒนาสถานศึกษาของรัฐ - กิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม - กิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณสุข - กิจการบริหารจัดการยาและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ - กิจการพัฒนาศูนย์การประชุมขนาดใหญ่ (Convention Center) ที่ใช้ทรัพย์สินของรัฐ ซึ่ง สคร. จะได้นำร่างแผนดังกล่าวหารือกับกระทรวงเจ้าสังกัดเพื่อจัดทำ Project Pipeline และรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายในกลางเดือนมีนาคม และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในช่วงต้นเดือนเมษายน สุดท้ายแล้วคาดว่าจะสามารถประกาศแผนยุทธศาสตร์ PPP เพื่อให้ภาคเอกชนรับทราบ Project Pipeline กรอบระยะเวลา และรูปแบบการร่วมลงทุนของเอกชนในโครงการ PPP ต่างๆ ได้ภายในเดือนเมษายนหลังคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ