บูรณาการ “ใบชา” พัฒนาการเรียนรู้ที่ “รร.บ้านห้วยชมภู” เพิ่มมูลค่า “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ต่อยอดสู่อาชีพที่ยั่งยืนในชุมชน

ข่าวทั่วไป Sunday February 22, 2015 16:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--ไอแอมพีอาร์ แม้ว่า “ชา” จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงและสามารถสร้างรายได้ให้กับจังหวัดเชียงราย แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า “ชนเผ่าอิ้วเมี้ยน” หรือ “ชาวไทยภูเขาเผ่าเย้า” บ้านห้วยชมภู จังหวัดเชียงราย ที่มีบรรพบุรุษสืบสายมาจากราชสำนักจีนนั้น จะมีองค์ความรู้ในการจัดการ “ชาป่า” หรือ “ชาอัสสัม” ซึ่งขึ้นอยู่ปะปนกับพืชชนิดอื่นๆ บนเทือกดอยแห่งนี้ในระดับ “เทพ” เพราะ “ภูมิปัญญา” ขาดการพัฒนาต่อยอด “องค์ความรู้” จึงอยู่แค่ในครัวเรือน ทั้งๆ ที่ยอดของใบชาอัสสัมที่ผ่านกรรมวิธีคัดเลือกและแปรรูปพิถีพิถัน สามารถเพิ่มมูลค่าจาก กก.ละ 10-15 บาท พุ่งทะยานไปที่ กก.ละ 800 บาท แซงหน้า “อู่หลง” เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เนื่องเพราะเป็นชาออร์แกนิกไม่ใช้ปุ๋ยไม่ใช้ยาสารเคมี มีคุณค่าของสารอาหารสูง มีรสชาติและกลิ่นที่หอมชื่นใจ คณะครูบนดอยของ โรงเรียนบ้านห้วยชมพู อำเภอเมือง จังหวัดเชียราย ได้เล็งเห็นศักยภาพที่มีอยู่ จึงร่วมกับชุมชนจัดเวทีสาธารณะจนเกิดเป็น “โครงการพัฒนาการจัดการใบชาแบบบูรณาการสู่อาชีพที่ยั่งยืนในชุมชน” ภายใต้โครงการ “ส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เพื่อต่อยอดพัฒนากระบวนการเรียนรู้ไปสู่ทักษะวิชาชีพ ที่ก่อให้เกิดความรักชาติพันธุ์ และรักในถิ่นฐานบ้านเกิด น.ส.ณัฏฐนิชา ขันใจ ครูผู้รับผิดชอบโครงการเล่าว่า ทุกครั้งที่ออกไปเยี่ยมบ้านของเด็กๆ ผู้เฒ่าผู้แก่ในบ้านก็จะชงชามาให้ดื่ม สอบถามก็พบว่านำมาจากต้นชาป่าที่ขึ้นตามหัวไร่ปลายนา ที่ทำตามกรรมวิธีที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ยาตายาย โดยจะคัดเลือกเฉพาะยอดใบชาคุณภาพดี 1 ยอด 2 ใบ มาผ่านกระบวนการอีกหลายขั้นตอนทีละเอียดอ่อนเพื่อให้ได้ใบชาคุณภาพสูงไว้ชงดื่มในงานสำคัญหรือต้อนรับแขก “แต่การขายใบชาให้โรงงานชาวบ้านจะตัดทั้งกิ่งก้านและใบทั้งหมด ไม่ได้เน้นคุณภาพทำให้มีราคาถูก แต่เมื่อได้จัดเวทีสาธารณะร่วมกับชุมชน ทุกคนจึงเห็นตรงกันว่าในเมื่อเรามีทั้งต้นทุนวัตถุดิบและผู้รู้หรือวิทยากรท้องถิ่น ก็น่าที่จะนำเรื่องของใบชามาจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ร่วมกับชุมชน เพื่อให้เขาได้เรียนรู้จากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว หันกลับมารักและหวงแหนในวิถีและวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเอง และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน ที่สามารถต่อยอดไปสู่อาชีพได้ในอนาคต” ครูณัฏฐนิชากล่าว โดยเด็กนักเรียนทุกระดับชั้นจะได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับใบชาอย่างอย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูก ผลิต และจำหน่าย โดยคณะครูผู้สอนจะบูรณาเรื่องราวต่างๆ ให้สอดคล้องไปกับการเรียนการสอนในทุกๆ กลุ่มสาระวิชา อาทิ วิชาการงานพื้นฐานอาชีพเทคโนโลยี นักเรียนชั้น ป.1-ป.3 จะเรียนรู้เรื่องของการเพาะเมล็ด การปลูกต้นชา วิชาสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม นักเรียนชั้น ป.1-ม.3 เรียนรู้เรื่องแหล่งกำเนิด ประวัติการปลูกชา วิชาคณิตศาสตร์ นักเรียนชั้น ป.1-ม.3 เรียนรู้เรื่องประวัติของใบชา ประเภทของใบชา ซึ่งทั้งหมดนี้ครูผู้สอนจะพัฒนากระบวนการเรียนรู้และเนื้อหาให้ลึกซึ้งเหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย รวมไปถึงยังได้จัดทำโครงงานที่เกี่ยวข้องกับใบชาเพื่อต่อยอดการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ในระดับมัธยม จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากใบชามากมาย นอกจากนี้ในทุกวันศุกร์ซึ่งจะเป็นการเรียนรู้ในภาคปฏิบัติของทุกระดับชั้น โดยมีครูภูมิปัญญาท้องถิ่นจากชุมชนเข้ามาร่วมกับคณะครูถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กๆ ได้ลองผิดลองถูกลองทำลองซ้ำจนเกิดความมั่นใจและเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่พร้อมจะถ่ายทอดให้กับรุ่นน้องหรือคนอื่นๆ ที่สนใจได้ ซึ่งจุดเด่นของ “ใบชาอัสสัม” จากภูมิปัญญาของชาว “อิ้วเมี้ยน” นั้นมีอยู่ในทุกกระบวนการผลิต ตั้งแต่การคัดเลือกยอดใบชา 1 ยอด 2 ใบ ที่ยอดจะต้องไม่คลี่ และใบไม่ยาวเกิน จากนั้นก็ต้องนำใบชามาผึ่งไว้ในร่มให้แห้งกำลังดี แล้วก็จะนำมาคั่วไฟแรงให้ใบชาสุก เมื่อสุกแล้วก็นำมานวดขยำๆ ในขณะที่กำลังร้อน นวดจนเป็นก้อนยาวๆ แล้วนำไปผึ่งแดด เสร็จแล้วมาผึ่งในร่มต่ออีก 2 อาทิตย์จึงจะได้ชาที่หอมกำลังดี หลังจากนั้นจึงจะไปสู่ขั้นตอนการคั่วอบแห้งเพื่อเก็บรักษา ซึ่งตรงนี้เด็กๆ จะได้ลงมือทำทุกขั้นตอน “น้องเชียร์” ด.ญ.ประภัสสร พาณิชย์สุขนนท์ นักเรียนชั้น ม.3 เล่าว่าตอนนี้ที่บ้านกำลังปลูกต้นชาเพิ่มจากเดิมที่มีอยู่แล้วรวมกันกว่า 200 ต้น ซึ่งเดิมจะเก็บแบบตัดสดไปส่งโรงงานทำชาในตัวเมือง “ชาที่ทำเก็บไว้ที่บ้านจะใช้สำหรับเลี้ยงแขกในงานสำคัญต่างๆ โดยใบชาที่เก็บไว้ชงดื่มกันเองที่บ้านนั้นก็จะเก็บแค่ 3 ใบยอดเท่านั้น ส่วนขั้นที่เห็นจากปู่ย่าก็เหมือนกับที่สอนในโรงเรียน คิดว่าต่อไปจะบอกให้พ่อกับแม่ปลูกชาเพิ่มขึ้นจะได้นำมาแปรรูปขายเพราะได้ราคาดีกว่า” น้องเชียร์กล่าว ด.ญ.ณาณิศา ตันเสถียน หรือ “น้องตินติน” นักเรียนชั้น ป.5 เล่าว่าทุกวันศุกร์ในช่วงบ่ายจะได้ลงมือปฏิบัติจริงในทุกกรรมวิธีผลิต ตั้งแต่การเก็บ การคั่ว การชงชา ชั่งน้ำหนัก บรรจุภัณฑ์ โดยขั้นตอนที่ยากสุดคือการคัดเลือกใบชา อ่อนเกิน แก่เกินก็จะทำให้ชามีรสชาที่ติไม่อร่อย “โครงการนี้ยังทำให้รู้ว่าใบชาที่อยู่ที่บ้านเป็นชาอัสสัมที่มีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาด ถ้านำมาแปรรูปแล้วชงเป็นชาแล้วจะมีกลิ่นหอมชุ่มคอ และสามารถจำหน่ายได้ในราคาดี” น้องตินตินกล่าว ด.ญ.อรสา ภูเชิงก่อ หรือ “น้องนิด” นักเรียนชั้น ม.3 บอกว่า การตัดใบชาสดขายนั้นจะได้ราคาเพียง กก.ละ 14-15 บาท แต่ถ้านำมาแปรรูปจะได้ราคาที่สูงกว่ามาก ซึ่งในการทำโครงงานเรื่องใบชา กลุ่มของตัวเองนั้นได้ต่อยอดวิธีการชงชาให้เป็นเรื่องง่ายขึ้นโดยนำมาบรรจุในถุงเยื่อกระดาษ “ที่คิดทำถุงชงชาเพราะว่าคนซื้อจะได้นำไปชงเองได้ง่ายๆ เอาถุงชาใส่แก้ว ใส่น้ำร้อนแล้วดื่มได้เลย และทางกลุ่มยังได้ต่อยอดด้วยการนำใบถั่วดาวอินคามาผสมกับใบชา เพื่อให้ได้เครื่องดื่มที่มีคุณค่าและสารอาหารมากขึ้น ซึ่งคิดว่าความรู้ตรงนี้สามารถนำไปทำเป็นอาชีพได้ในอนาคตได้” น้องนิดเล่า “ตอนนี้เรากำลังพยายามที่จะพัฒนาให้เกิดระบบ และทำให้เกิดเป็นหลักสูตรสถานศึกษาที่ทุกๆ ฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมทั้งชุมชน สถานศึกษา และครูภูมิปัญญา ซึ่งตรงนี้อาจจะใช้เวลาขับเคลื่อนไปได้อย่างช้าๆ แต่จะเกิดความยั่งยืน เพราะเมื่อไรที่สิ่งเหล่านี้กลายเป็นระบบ ไม่ว่าครูท่านไหนจะไปหรือจะมา โครงการนี้ก็จะสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ เพราะมันเกิดจากสิ่งที่ชาวบ้านทุกคนอยากที่จะทำไม่ได้เกิดขึ้นมาจากใครคนใดคนหนึ่งหรือโรงเรียน โดยสิ่งที่คาดหวังก็คืออยากให้เด็กๆ เรียนรู้จากสิ่งที่ใกล้ตัวเพื่อที่ในอนาคต เขาก็อาจจะต่อยอดหรือนำเอาประสบการณ์ที่ได้รับตรงนี้ขึ้นมาเป็นฐานในการพัฒนาอาชีพและธุรกิจในชุมชนของตนเอง” ครูณัฏฐนิชาสรุป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ