สคร.12 สงขลา เตือนไปอุมเราะห์ ระวัง ไวรัสเมอร์ส หลังซาอุฯ พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม

ข่าวทั่วไป Monday March 9, 2015 14:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากการรายงานสถานการณ์โรคทางเดินหายใจประจำภูมิภาคตะวันออกกลางหรือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2012 (เมอร์ส-โควี) ของกระทรวงสาธารณสุขประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งพบว่าระหว่างวันที่ 11-20 กุมภาพันธ์ 2558 มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2012 แล้วจำนวน 16 ราย และเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขของประเทศซาอุดิอาระเบียได้เคยออมาเตือนแล้วว่าในช่วงนี้มีแนวโน้มจะพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวนี้เพิ่มขึ้น จึงขอให้ประชาชนที่จะเดินทางไปยังประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยเฉพาะชาวมุสลิมที่จะเดินทางไปประกอบพิธีอุมเราะห์ ได้เตรียมความพร้อมเพื่อเป็นการเฝ้าระวังป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2012 โดยการรับประทานอาการที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และเตรียมหน้ากากอนามัยติดตัวไปด้วยระหว่างอยู่ต่างประเทศ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไอหรือจาม หากจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่แออัด ให้ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือดื่มนมจากสัตว์ที่อาจเป็นแหล่งโรค เช่น อูฐ หากมีอาการไข้ ไอ หอบเหนื่อย หายใจลำบากควรไปพบแพทย์ทันที และหลังเดินทางกลับประเทศไทยในระยะเวลา 2 สัปดาห์ หากมีอาการไข้ ไอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการน่าสงสัยให้ไปพบแพทย์โดยด่วน พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล กล่าวเพิ่มเติมว่า เชื้อไวรัสโคโรน่า 2012 เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน มีอาการรุนแรงคล้ายโรคซาร์ ติดต่อโดยการไอ จาม การสัมผัสน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และการสัมผัสหรือดื่มนมจากสัตว์ที่อาจเป็นแหล่งโรค เช่น อูฐ ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวมีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 30-40 ซึ่งเชื้อจะลุกลามเข้าปอดอย่างรวดเร็ว อาการจะมีไข้สูง ไอ หายใจหอบ ถ่ายเหลว อาเจียน ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดร้อยละ 96 มีโรคประจำตัว 1 โรค หรือพบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่มักจะมีอาการรุนแรงถึงเสียชีวิตในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและกลุ่มผู้สูงอายุ รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ