เมื่อ “โรงเรียน” เปลี่ยนเป็น “โรงแรม” ที่บ้านแม่ลิดหลวง โอกาสการ “เรียนรู้” สู่การพัฒนา ‘ทักษะชีวิต’ และ ‘ทักษะอาชีพ’

ข่าวทั่วไป Monday March 9, 2015 14:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--ไอแอมพีอาร์ “บ้านแม่ลิดหลวง” เป็นชุมชนที่อยู่ลึกเข้าไปในเทือกดอยสูงกว่า 1,198 เมตรของอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน แม้การเดินทางจะยากลำบาก มีไฟฟ้าใช้แต่ก็ไร้สัญญาณโทรศัพท์จากทุกเครือข่าย แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคของนักเดินทางทั้งไทยและเทศที่ดั้นด้นเข้ามาเพื่อสัมผัสกับวิถีชีวิตที่กลมกลืนอยู่กับธรรมชาติของชาวเขาเผ่า “ปกาเกอญอ” ประกอบกับพื้นที่โดยรอบมีสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ ทำให้ “โรงเรียนบ้านแม่ลิด” กลายเป็นศูนย์กลางของชุมชนโดยมีนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติมาท่องเที่ยวและทำกิจกรรมต่างๆ กับนักเรียนเพิ่มมากขึ้นทุกปี แม้จะเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือไปจากงานสอน แต่คณะครูของโรงเรียนบ้านแม่ลิดกลับมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็น “โอกาสทอง” ของเด็กๆ ที่จะได้เรียนรู้ และเพิ่มพูนทักษะ ประสบการณ์ในด้านต่างๆ ที่จะเป็นต่อการดำรงชีวิตและศึกษาต่อไปในอนาคต “โครงการส่งเสริมทักษะอาชีพโรงแรมในโรงเรียน” ภายใต้โครงการ “ส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ” จึงเกิดขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) นายสายัญ โพธิ์สุวรรณ ผอ.โรงเรียนบ้านแม่ลิด เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีกลุ่มองค์กรต่างๆ มาทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกับโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ เพราะในชุมชนมีจุดเด่นทั้งด้านวัฒนธรรมพื้นบ้าน และทรัพยากรธรรมชาติ แต่ทางโรงเรียนยังขาดการจัดการอย่างเป็นระบบ โครงการโรงแรมในโรงเรียนจึงเกิดขึ้นเพื่อใช้โอกาสเหล่านี้ ในการฝึกทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต และฝึกทักษะการสื่อสารให้กับเด็กๆ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการที่สามารถบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอน โดยใช้โรงเรียนและกิจกรรมการท่องเที่ยวต่อยอดเป็นฐานการเรียนรู้ให้กับเด็กนักเรียน “ทักษะวิชาการ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต ต่างก็มีความสำคัญ และเป็นบันได 3 ขั้นของชีวิต ที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป และไม่สามารถแยกส่วนออกไปจากกันได้ ทุกวันนี้เราเจอคนที่จบปริญญาจำนวนมากที่ยังคิดเชิงระบบไม่ได้ ขาดทักษะในการจัดการตนเอง เพราะระบบการศึกษาที่ผ่านมาไม่ได้สร้างในสิ่งเหล่านี้ไว้ ดังนั้นการเตรียมพร้อมตั้งแต่วันนี้อย่างน้อยก็จะปูทางให้เขาสามารถเดินทางไปต่อในเส้นทางข้างหน้าได้ไม่ว่าจะทำงานหรือเรียนต่อ แต่เป้าหมายท้ายที่สุดก็คือ อยากให้เด็กคิดและตั้งคำถามว่าทำไมคนถึงเข้ามาหาเรา ซึ่งคำตอบก็คือธรรมชาติ วัฒนธรรม องค์ความรู้และภูมิปัญญาของท้องถิ่น เมื่อคิดได้แบบนี้เขาจะเกิดความตระหนักและรักท้องถิ่น เกิดการวางแผนและจัดการตนเองในเรื่องของการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืนในอนาคต” ผอ.สายัญ ระบุ นางสาวณัฏฐิตา บุญวรรณ์ ครูผู้รับผิดชอบโครงการเล่าว่า โครงการนี้เป็นการจำลองการให้บริการในโรงแรมออกมาเป็น 7 กิจกรรมหลักคือ บริกรต้อนรับ ดูแลให้บริการแขกผู้มาเยือน, นวดแผนไทย เพื่อฝึกอาชีพและเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยการนวดตัวและฝ่าเท้า, Maelid Restaurant ฝึกทักษะอาชีพการเป็นพ่อครัวแม่ครัวอาหารคาวหวาน, Malid Coffee ฝึกทักษะอาชีพการชงกาแฟและเครื่องดื่มต่างๆ, Maelid Homestay บริการจัดเตรียมที่บ้านพักและเต้นท์, ของดีแม่ลิด ฝึกทักษะอาชีพหัตถกรรม ผลิตของที่ระลึกต่างๆ และกิจกรรมสุดท้ายคือ มัคคุเทศก์น้อย เพื่อให้นักเรียนรู้จักและตระหนักในคุณค่าของท้องถิ่นและฝึกทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ “สิ่งที่เห็นได้ชัดคือเด็กจะมีความกระตือรือร้นที่จะทำสิ่งต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย แสดงให้เห็นว่าเค้าเริ่มจัดการตัวเองได้ วางแผนได้ มีความสุข และสนุกที่จะทำ ครูบอกกับเด็กๆ ว่า ตรงนี้เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน แม้ว่าจะไม่ได้เงินแต่เราก็จะได้ทักษะ ประสบการณ์ และความรู้ และความรู้ที่เรามีอยู่ก็สามารถนำไปประกอบอาชีพหารายได้ให้เราในอนาคต” ครูณัฏฐิตากล่าว ด.ญ.สุนิสา ผู้สุขฤดี หรือ “น้องพิมพ์” และ ด.ญ.วรรณพร เลิศสุนทรกิจ หรือ “น้องเนม” นักเรียนชั้น ม.2 ตัวแทนจากกลุ่มนวดแผนไทยช่วยกันเล่าถึงความน่าสนใจของอาชีพนี้ว่า “การนวดตัวและนวดฝ่าเท้าเป็นอาชีพอิสระที่มีรายได้ดี โดยใช้เวลาเรียนไม่นานประมาณ 2 สัปดาห์ ก็สามารถทำได้ โดยคิดว่าบริการนวดฝ่าเท้า 100 บาท และนวดตัว 150 บาท” น้องพิมพ์เล่า “ช่วงที่ไม่มีนักท่องเที่ยวก็เข้าไปฝึกฝีมือการนวดในชุมชน ไปให้บริการนวดคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน รู้สึกมีความสุขทุกครั้งเมื่อเห็นคนที่เรานวดให้หายปวดเมื่อยได้” น้องเนมกล่าว ด.ญ.ชฎาภรณ์ สง่าไพรหอม หรือ “น้องฝ้าย” ด.ญ.ภรทิพย์ สง่าเพียรศิริบุญ หรือ “น้องแนน” และ ด.ญ.สุนารี ใสสะอาด หรือ “น้องนา” นักเรียนชั้น ม.1 จากกลุ่มมัคคุเทศก์น้อย ช่วยกันอธิบายเรื่องราวต่างๆ ให้ฟังขณะพาเดินขึ้นเขาด้านหลังโรงเรียนเพื่อไปเที่ยวในหมู่บ้านว่า “ที่บ้านแม่ลิดหลวงมีทั้งวิถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรมของชนปกาเกอญอที่น่าสนใจมากมาย ทั้งอาหารการกิน การทอผ้า พืชผักสมุนไพรพื้นบ้าน และในหมู่บ้านยังเป็นการอยู่ร่วมกันของ 3 ศาสนา คือศาสนาพุทธ คริสต์ และนับถือผีที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข” น้องฝ้ายเล่า “ในชุมชนมีธรรมชาติที่สวยงามทั้งน้ำตกแม่สวรรค์น้อย น้ำพุร้อน และดอยสิงห์ที่สำหรับชมพระอาทิตย์ตก นักท่องเที่ยวสามารถมาพักแรมแบบโอมสเตย์ในชุมชนได้” น้องแนนเล่า “คุณครูบอกเสมอว่าต้องอย่าอาย อย่ากลัวกล้อง พูดจาต้องยิ้มแย้มแจ่มใส และชอบเป็นมัคคุเทศก์เพราะได้พบปะผู้คน ฝึกการพูดภาษาอังกฤษ และได้เดินทางไปในที่ๆ สวยงาม” น้องนาเล่า นางสาวเดือนฉาย สุริยาส่องไพร ครูผู้ดูแลกิจกรรมในส่วนของร้านกาแฟและของดีแม่ลิดเล่าว่า เป้าหมายของทุกกิจกรรมคืออยากให้เขาสามารถจัดการกับชีวิตของตัวเองได้แล้วก็ขยายผลออกไปสู่ชุมชน ให้ทุกคนรู้รักท้องถิ่น รู้จักของดีในชุมชน “เด็กๆ เหล่านี้จะเป็นคนที่ทำให้ชุมชนมีความยั่งยืนเกิดขึ้นจริง เพราะเมื่อเขารักในท้องถิ่น รักชุมชนของเขา เมื่อมีสิ่งดีๆ อะไรในชุมชนเขาจะค้นหา แล้วอาจจะนำเป็นจุดขายหรือพัฒนาเป็นอาชีพดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา และสร้างเสริมรายได้ให้กับชุมชนได้อีกด้วย” ครูเดือนฉายกล่าว “โรงแรมในโรงเรียน” จึงไม่ได้เป็นแค่การฝึกทักษะวิชาชีพในแขนงต่างๆ ให้เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นการปูพื้นฐานและทักษะกระบวนการคิดวิเคราะห์ให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตขึ้นเป็นสมาชิกรุ่นใหม่ในชุมชน ที่จะส่งให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นตามแนวทางที่สอดคล้องกับวิถีของชนเผ่าอย่างยั่งยืนในอนาคต.
แท็ก ธรรมชาติ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ