สพฉ ส่งทีมช่วยเหลือทางการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติ เข้าร่วมแข่งขันกับประเทศญี่ปุ่น หวังนำประสบการณ์การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินมาปรับใช้กับประเทศไทย พร้อมเล็งส่งต่อความรู้สู่ 10 ประเทศอาเซียน

ข่าวทั่วไป Wednesday March 11, 2015 15:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เปิดเผยว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้ส่งทีมช่วยเหลือทางการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติ (Disaster Medical Assistant Team หรือDMAT) ไปร่วมในการแข่งขันการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน โดยกิจกรรมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในงานประชุมวิชาการ 20th Annual Meeting of Japanese Association of Disaster Medicine ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทีมที่เข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้ที่เป็นตัวแทนจากประเทศไทย คือ นายแพทย์ประสิทธิ์ วุฒิสุทธิเมธาวี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายแพทย์คณินทร์ กีรติพงค์ไพบูลย์ โรงพยาบาลป่าตอง จังหวัดภูเก็ต นางสาวเสาวนีย์ จิตเกื้อ โรงพยาบาลป่าตอง จังหวัดภูเก็ต นางสาวหทัยรัตน์ รังสรรค์สฤษดิ์ โรงพยาบาลป่าตอง จังหวัดภูเก็ต และ นางสาววิมลรัตน์ ขอเจริญ โรงพยาบาลป่าตอง จังหวัดภูเก็ต สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของการก่อตั้งทีมช่วยเหลือทางการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติของประเทศญี่ปุ่น โดยปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นมีทีมกระจายอยู่ทั่วประเทศเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติ ซึ่งในการแข่งขันครั้งนี้จะมีทีมตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นทีมที่มีความเชี่ยวชาญระดับประเทศ จำนวน 6 ทีมเข้าร่วมแข่งขัน และประเทศไทยก็ได้รับเกียรติเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ด้วย ซึ่งทีมจากประเทศไทยก็คือทีมที่ประเทศญี่ปุ่นมาฝึกสอนให้ และสมาชิกในทีมทุกคนล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์ในเหตุการณ์การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติจริงๆ มาแล้ว อาทิ เหตุการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคใต้ปี2553 เหตุการณ์ดินโคลนถล่มที่จังหวัดกระบี่ และเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 โดยเชื่อว่าทีมจากประเทศไทยเป็นทีมที่มีศักยภาพอย่างมากและน่าจะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศได้ด้วย นพ.ภูมินทร์ กล่าวต่อถึงรายละเอียดในการแข่งขันว่า ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้ในสถานการณ์จริง อาทิ เหตุการณ์ไฟไหม้ เหตุการณ์รถคว่ำ น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม แผ่นดินไหว สึนามิ โดยการเข้าร่วมครั้งนี้จะทำให้เราได้ประสบการณ์เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยด้วยเนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยประสบภาวะภัยพิบัติที่หลากหลายเช่นนี้ ดังนั้นการเข้าแข่งขันจึงเหมือนการเตรียมความพร้อม และที่สำคัญคือทีมที่เข้าร่วมแข่งขันจะต้องเก็บประสบการณ์เพื่อนำมาถ่ายทอดให้กับอีก 10 ประเทศอาเซียน ที่เราได้ทำความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน AJDMN (ASEAN-Japan Disaster Management) ซึ่งถือเป็นการสร้างความร่วมมือทางการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติกับ 10 ประเทศอาเซียนและประเทศญี่ปุ่นด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ