SIPA แถลงผลการสำรวจข้อมูลการใช้ซอฟต์แวร์ในภาคอุตสาหกรรมการศึกษา ประจำปี 2557

ข่าวเทคโนโลยี Thursday March 12, 2015 17:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--SIPA สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แถลงข่าวผลการสำรวจข้อมูลการใช้ซอฟต์แวร์ในภาคอุตสาหกรรมการศึกษา ประจำปี 2557 ณ ห้อง Executive 1 โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ด้วยภารกิจ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในการจะส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย และการสนับสนุนให้เกิดการใช้ ICT ได้ริเริ่มดำเนินการสำรวจข้อมูลการใช้ซอฟต์แวร์ในภาคการศึกษาอันประกอบด้วย ข้อมูลสภาพความเป็นจริงในการใช้ซอฟต์แวร์ของสถานศึกษา ความต้องการใช้งานซอฟต์แวร์ สำรวจสภาพปัญหาและข้อจำกัดของการนำซอฟแวร์ไปประยุกต์ใช้เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้ตอบสนองความต้องการการใช้ของสถานศึกษาต่างๆ โดยมอบหมายให้ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นผู้ดำเนินการสำรวจโครงการดังกล่าว คณะสำรวจฯ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ในการสำรวจครั้งนี้ ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลการใช้ซอฟต์แวร์ของสถานศึกษาในระบบ ทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ สังกัดกระทรวงมหาดไทย และสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยเริ่มจากการสำรวจจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวนแท็ปเล็ต และระบบปฏิบัติการที่ใช้ สำรวจการใช้งบประมาณและค่าใช้จ่ายด้านคอมพิวเตอร์ สำรวจสถานภาพการใช้ซอฟต์แวร์ของสถานศึกษาและความต้องการใช้งานซอฟต์แวร์ โดยแบ่งประเภทซอฟต์แวร์ที่ทำการสำรวจเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ซอฟต์แวร์ด้านการบริหารจัดการ ซอฟต์แวร์ด้านบริการ และซอฟต์แวร์ด้านการเรียนการสอน และสุดท้ายเป็นการสำรวจสภาพปัญหาและข้อจำกัดของการนำซอฟแวร์ไปประยุกต์ใช้ ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดทำกรอบนโยบายและแนวทางในการส่งเสริมการใช้และพัฒนาซอฟต์แวร์ต่อไป ในขณะที่ซอฟต์แวร์ด้านการบริหารจัดการที่มีการใช้งานน้อยแต่มีความต้องการสูงสำหรับสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ระบบบัญชีและการเงิน ระบบวิชาการและหลักสูตร ระบบจัดซื้อจัดจ้าง ระบบจัดการเอกสาร ระบบบริหารงานบุคคล ระบบเงินเดือน ระบบตารางสอน และระบบงานปกครอง ระบบบริหารจัดการและบริการเซิร์ฟเวอร์ ระบบบริหารจัดการ e-learning โปรแกรมพัฒนาคอมพิวเตอร์ช่วยสอน และโปรแกรมสื่อการสอน ส่วนในระดับอาชีวะศึกษาซอฟต์แวร์ที่มีการใช้งานน้อยแต่มีความต้องการสูง ได้แก่ ระบบจัดซื้อจัดจ้าง และโปรแกรมการพัฒนาคอมพิวเตอร์ช่วยสอน สำหรับสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาไม่มีซอฟต์แวร์ที่มีการใช้งานน้อยแต่มีความต้องการสูงปรากฏ ดังนั้นซอฟต์แวร์กลุ่มนี้ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ไม่มีการใช้งานว่าเกิดจากสาเหตุใดในการสำรวจครั้งต่อไป สำหรับสภาพปัญหาและข้อจำกัดของการนำซอฟแวร์ไปประยุกต์ใช้ ได้ดำเนินการสำรวจปัญหา 5 ด้าน คือ ปัญหาด้านงบประมาณ ปัญหาด้านการพัฒนาเนื้อหาและเพิ่มข้อมูล ปัญหาด้านบุคลากร ปัญหาด้านการใช้งานซอฟต์แวร์ และปัญหาด้านสภาพแวดล้อม อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่อการใช้งาน ซึ่งผลจากการสำรวจพบว่าทุกระดับการศึกษามีปัญหา 3 อันดับแรกเหมือนกัน คือ ปัญหาด้านงบประมาณหรือไม่มีงบประมาณที่เพียงพอในการจัดซื้อซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อการนำซอฟแวร์ไปประยุกต์ใช้มากที่สุด รองลงมาคือ ปัญหาด้านการพัฒนาเนื้อหาและเพิ่มข้อมูล และปัญหาด้านบุคลากรเป็นปัญหาสำคัญ ตามลำดับ สุดท้าย คณะสำรวจฯ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายว่า เพื่อให้บรรลุภารกิจการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยใช้เทคโนโลยี (Digital Economy) ของภาคอุตสาหกรรมการศึกษา ด้านรัฐบาลและสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ควรเพิ่มงบประมาณที่เหมาะสมในการขับเคลื่อน โดยมีกลยุทธ์ที่ยึดทรัพยากรในประเทศ เพื่อลดภาระงบประมาณจากการซื้อซอฟต์แวร์ต่างประเทศ และอาจสร้างแพลตฟอร์ม (Platform) ข้อมูล และการประยุกต์ (Application) ต่างๆ ทั้งกลุ่มซอฟต์แวร์ด้านการบริหารจัดการ ซอฟต์แวร์ด้านการบริการ และซอฟต์แวร์ด้านการเรียนการสอน ในรูปแบบการประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Based Computing) โดยใช้โอเพนซอร์ส (Open source) เพื่อการขยายและเข้าถึงผู้ใช้งานได้มากภายในงบประมาณต่อผู้ใช้งานที่ต่ำ ทั้งนี้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั้ง 3G/4G, ADSL และ Wifi มีความจำเป็น เพื่อให้บุคลากรภายในสถาบันการศึกษาต่างๆ ทุกระดับ เข้าถึงแหล่งความรู้ได้รวดเร็ว สามารถพัฒนาศักยภาพของตนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศได้ง่าย และประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย ซึ่งอาจผลักดันการเรียนรู้แบบ E-Learning ให้มากยิ่งขึ้น โดยเปิดโอกาสให้แต่ละสถาบันการศึกษาเผยแพร่เนื้อหา (Content) โดยใช้ตามแพลตฟอร์มต่างๆ และแบ่งปันเนื้อหากันและกัน สร้างสังคมแห่งการแบ่งปันและการเรียนรู้ สนใจรายละเอียดผลการสำรวจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ